หน้าร้อนแล้ว! อย่าลืมพาตูบ & เหมียวไปทำวัคซีนนะ

พอใกล้ถึงช่วงหน้าร้อน เทศกาลทำวัคซีนสำหรับสุนัข แมว ก็ใกล้เข้ามา ตามความเชื่อที่เชื่อกันว่า หน้าร้อน สัตว์เลี้ยงจะเป็นพิษสุนัขบ้า…ทั้งที่จริงๆ แล้ว โรคพิษสุนัขบ้าเป็นได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิด และเป็นได้ในทุกๆ ช่วงของปี ไม่ใช่เฉพาะหน้าร้อนเท่านั้นนะคะ ปีที่แล้วมีการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย ทำให้มีการเสียชีวิตในคน และในสุนัข แมวเองก็เสียชีวิตหลายตัว พบในหลายๆ จังหวัดของบ้านเรา ทำให้เกิดการตื่นตัวในการพาสัตว์เลี้ยงมาฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้ากันเป็นจำนวนมาก แต่ในสัตว์เลี้ยงไม่ได้มีแค่วัคซีนพิษสุนัขบ้าเท่านั้นที่จำเป็นนะคะ ยังมีวัคซีนตัวอื่นๆ อีกที่หมอแนะนำให้ฉีดในสัตว์เลี้ยงเพื่อป้องกันโรคให้พวกเขา

ยังมีความเข้าใจหลายอย่างที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรต้องรู้ ทั้งก่อน และหลังการทำวัคซีน ว่าจะมีโอกาสพบเหตุการณ์อะไรได้บ้าง ลองอ่านดูนะคะ

ลูกสุนัข แมว ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรก “ก่อนกำหนด” จะทำให้เสี่ยงป่วยเป็นโรคมากยิ่งขึ้น

เป็นที่ทราบกันดีว่า ลูกสุนัข ลูกแมว ควรได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกเมื่ออายุ 6-8 สัปดาห์ขึ้นไป แต่ด้วยความหวังดีอยากให้ลูกสัตว์มีภูมิคุ้มกันโรคไวๆ จะได้ไม่ป่วย จึงรีบพาไปฉีดวัคซีนก่อนกำหนด ซึ่งการที่เราเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วเกินไปนั้น ระบบภูมิคุ้มกันของลูกสัตว์ยังทำงานไม่สมบูรณ์ การสร้างภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจึงไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในช่วงอายุดังกล่าว ยังมีภูมิคุ้มกันที่ได้รับโดยตรงจากแม่ ผ่านนมน้ำเหลืองที่ลูกสุนัข ลูกแมว กินเข้าไปเมื่อ 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอดอยู่แล้วนะคะ หากได้รับการฉีดวัคซีนก่อนกำหนด จะทำให้ภูมิคุ้มกันที่ได้จากแม่ถูกทำลายไป ในขณะที่ตัวลูก ก็ยังสร้างภูมิคุ้มกันเองไม่ได้ และถึงแม้จะเริ่มสร้างได้แล้ว ก็ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรหลังจากฉีด จนกว่าที่ร่างกายจะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาในระดับที่สามารถป้องกันได้ เท่ากับว่าการเร่งฉีดวัคซีนเร็วก่อนกำหนดนั้น ไม่ได้ก่อประโยชน์อะไรเลย เสียเงินเสียทองฟรีเสียเปล่า อีกทั้งลูกสัตว์ยังเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เพราะภูมิคุ้มกันจากแม่ถูกทำลายไป ทั้งนี้ ในการเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มแรกเมื่อใดนั้น คุณหมอจะเป็นผู้พิจารณากำหนดการฉีดวัคซีนของลูกสัตว์แต่ละตัว โดยดูจากประวัติวัคซีนของแม่ การได้รับนมน้ำเหลืองของลูก และการอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคในลูกสุนัข ลูกแมว ตัวนั้นๆ ค่ะ

สุนัข แมว ที่เพิ่งได้รับการฉีดวัคซีนไปอาจป่วยหรือแพ้วัคซีนได้

วัคซีนส่วนใหญ่ที่เราใช้กัน จะเป็นวัคซีนเชื้อเป็น (modified live vaccine) โดยนำเชื้อก่อโรคมาผ่านกระบวนการทำให้อ่อนกำลังลง การที่สุนัข แมว ได้รับวัคซีนเข้าไปก็คล้ายกับการได้รับเชื้อเข้าไป แตกต่างกันก็ตรงที่ วัคซีนที่ฉีดเข้าไปนั้นไม่สามารถทำให้เกิดโรคได้ เพราะเชื้อไม่มีกำลังมากพอที่จะก่อโรค เพียงแต่มีกำลังสำหรับเหนี่ยวนำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายตอบสนองและจดจำเชื้อเท่านั้น การป่วยหลังจากที่เพิ่งฉีดวัคซีนไปสามารถเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นผลมาจากปฏิกิริยาของร่างกาย เช่น มีไข้อ่อนๆ ซึม กินอาหารลดลง เจ็บปวดบริเวณที่ฉีด ฯลฯ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมคุณหมอจึงมักจะแนะนำ ให้เจ้าของงดอาบน้ำ 7 วันหลังจากฉีดวัคซีน ซึ่งรวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่อาจทำให้เขาป่วยก็ควรที่จะงดด้วยนะคะ หรือสัตว์บางรายก็อาจเกิดการแพ้วัคซีนได้ เพราะร่างกายเกิดการต่อต้านวัคซีน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามา

แต่ไม่ได้เกิดขึ้นกับสุนัข แมว ทุกตัว เพียงแต่เจ้าของจะต้องหมั่นสังเกตอาการหลังจากฉีดวัคซีน ถ้ามีความผิดปกติต้องแจ้งให้คุณหมอทราบทันที ปัญหาเหล่านี้สามารถจัดการแก้ไขได้ ไม่ควรวิตกกังวลมากจนเกินไป ทั้งนี้ การป่วยหลังการฉีดวัคซีนบางครั้งอาจเกิดจากเขามีเชื้อแฝงอยู่ก่อน แต่ยังไม่แสดงอาการ พอฉีดวัคซีนเข้าไปจึงทำให้เกิดการป่วยรุนแรงตามมา ดังนั้น สัตว์ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนทุกครั้ง จะต้องมีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์เต็มที่ เจ้าของจะต้องสังเกตอาการให้ดี ถ้าป่วยอยู่จะต้องทำการรักษาให้หายก่อนที่จะฉีดวัคซีนนะคะ

สุนัข แมว ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครั้งแรกเพียงครั้งเดียว ไม่เพียงพอที่จะป้องกันโรคได้

การได้รับวัคซีนครั้งแรกเพียงครั้งเดียว (single primary vaccination) นั้น ไม่เพียงพอที่ร่างกายสัตว์จะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้อยู่ในระดับที่ป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพนะคะ ถ้าเลี้ยงสุนัข แมว แบบปล่อยปละละเลย ให้ไปคลุกคลีอยู่ในแหล่งที่เสี่ยงรับโรค เช่น ปล่อยให้เล่นกับสุนัขของเพื่อน ที่ไม่ทราบประวัติและอาการป่วย พาไปเที่ยวตามแหล่งที่มีการชุมนุมของสุนัขหลายตัวรวมกัน ฯลฯ ทำให้สัตว์นั้นมีโอกาสรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ ดังนั้น ในช่วงที่ยังกระตุ้นวัคซีนไม่ครบ เจ้าของก็ไม่ควรเลี้ยงเขาแบบปล่อยอิสระ และควรพาไปกระตุ้นวัคซีนให้ครบคอร์ส ตามที่คุณหมอได้นัดหมายเอาไว้นะคะ

หากไม่พาสุนัข แมว มาฉีดกระตุ้นวัคซีนตามกำหนด โดยทิ้งระยะนานเกินไป จะต้องเริ่มต้นฉีดใหม่

สุนัข แมว ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว จะมีแอนติบอดีในร่างกายเกิดขึ้น และคงอยู่ในระดับที่คุ้มกันไม่ให้สัตว์ป่วยจากโรคได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่ระดับภูมิคุ้มกันนั้น จะค่อยๆ ลดลงไปจนไม่สามารถที่จะป้องกันโรคได้ สัตว์เลี้ยงทุกตัวจึงควรได้รับการฉีดวัคซีน หลังจากที่ทำวัคซีนครบคอร์สแรกแล้วในอีก 12 เดือนถัดมา และทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ทุกปีตลอดชีวิต เพื่อให้มั่นใจได้ว่าภูมิคุ้มกันจะคงอยู่ในระดับที่เหมาะสม ที่สามารถป้องกันการป่วยจากโรคได้อยู่ตลอดเวลา การที่เราหลงลืมไม่พาเขามาฉีดวัคซีนตามกำหนด โดยทิ้งระยะนานเกินไป สุนัข แมว ที่ขาดวัคซีนนานเกินไปนั้นจะต้องเริ่มต้นวัคซีนใหม่ เพื่อให้ร่างกายค่อยๆ กระตุ้นสร้างระดับภูมิคุ้มกันขึ้นมา จนอยู่ในระดับที่สามารถป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดิมอีกครั้ง

แม้จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันแล้ว สุนัข แมว ก็ยังสามารถป่วยได้

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า เมื่อพาสุนัข แมว ไปฉีดวัคซีนแล้ว สัตว์ตัวนั้นจะไม่ป่วยเป็นโรคนั้นอีก ความจริงแล้วไม่มีอะไรในโลกจะสามารถป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ วัคซีนมีความสามารถในการป้องกันการเกิดโรคได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถป้องกันการรับเชื้อโรคได้ หากตัวของสัตว์กำลังอยู่ในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันตก เชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ก็สามารถเข้ามาก่อโรคได้โดยง่าย ในส่วนของตัวเชื้อโรคเอง ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง สามารถพัฒนาตัวเองให้แข็งแกร่งมากขึ้นเพื่อความอยู่รอด จึงอาจยกระดับตัวเองให้เชื้อมีความรุนแรงยิ่งขึ้น และบางครั้งสุนัข แมว อาจได้รับปริมาณเชื้อโรคที่มากจนร่างกายต่อต้านไม่ไหว ก็สามารถทำให้ป่วยได้เช่นกันค่ะ บางกรณีการป่วยก็เกิดจากความล้มเหลวในการทำวัคซีน เช่น การฉีดวัคซีนก่อนกำหนดในลูกสัตว์ ขั้นตอนการผลิตวัคซีนที่ไม่สมบูรณ์ จึงได้วัคซีนไม่มีประสิทธิภาพ การจัดเก็บรักษาวัคซีนไม่ได้ตามอุณหภูมิที่เหมาะสม จึงทำให้วัคซีนเสื่อม หรือการไม่ตอบสนองต่อวัคซีนที่ฉีดให้ของตัวสุนัข แมวเอง ฯลฯ จึงทำให้การฉีดวัคซีนครั้งนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ เลยไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ตั้งแต่แรก ปัจจัยต่างๆ ทั้งหลายเหล่านี้ จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเขาจึงสามารถป่วยด้วยโรคที่ฉีดวัคซีนไปแล้วได้นั่นเอง

สุนัข แมว ที่กำลังตั้งท้องอยู่สามารถฉีดวัคซีน (เชื้อตาย) ได้

เป็นที่ทราบกันว่าสัตว์ที่กำลังตั้งท้องอยู่นั้น ไม่ควรได้รับวัคซีน เพราะอาจไปมีผลต่อลูกในท้องได้ ดังนั้น ถ้าเจ้าของคนไหน มีแผนจะให้สัตว์เลี้ยงของตัวเองมีลูก ก็จะแนะนำให้พาไปฉีดวัคซีนก่อนที่จะผสมอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ แต่มีวัคซีนบางตัวและบางยี่ห้อ ที่สามารถฉีดให้ได้ คือ วัคซีนเชื้อตาย ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งยังไม่พบอาการข้างเคียง เมื่อให้วัคซีนกับสัตว์ที่กำลังตั้งท้อง จึงสามารถฉีดให้สุนัข แมว ที่ตั้งท้องได้ แต่จะใช้ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น ส่วนวัคซีนที่ห้ามฉีดให้สัตว์ที่กำลังตั้งท้องเด็ดขาดเลย ก็คือ วัคซีนเชื้อเป็น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวัคซีนรวมโรค จึงแนะนำให้รอคลอดก่อนจึงค่อยพาไปฉีดได้ ดังนั้น สุนัข แมว ที่กำลังตั้งท้องอยู่ หรือได้รับการผสมมา เจ้าของจะต้องแจ้งประวัติกับคุณหมอด้วยนะคะ

ถ้าเราไม่พาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ถือว่าผิดกฎหมาย

โรคพิษสุนัขบ้า ถือว่าเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่อันตรายต่อชีวิตในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ซึ่งตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 มาตราที่ 5(1) ได้วางหลักไว้ว่า ให้เจ้าของจัดการให้สุนัข แมว ได้รับการฉีดวัคซีน (ซึ่งหมายความว่า วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำหรับสัตว์) ครั้งแรก เมื่อสุนัข แมว นั้นมีอายุตั้งแต่สองเดือนขึ้นไปแต่ไม่เกินสี่เดือน และได้รับการฉีดวัคซีนครั้งต่อไปตามระยะเวลาที่กำหนดในใบรับรองการฉีดวัคซีน ซึ่งหากเจ้าของสัตว์ควบคุมผู้ใด ไม่จัดการให้สัตว์ควบคุมได้รับการฉีดวัคซีน จะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ดังที่ระบุไว้ในมาตราที่ 21 ซึ่งสุนัข แมว ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว จะต้องได้รับใบรับรองการฉีด และเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน ดังนั้น เจ้าของจะต้องพาสุนัข แมว ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อความถูกต้องตามกฎหมาย และความปลอดภัยในชีวิตทั้งของคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกตัวค่ะ

การให้สัตว์เลี้ยงของเราได้รับวัคซีนครบถ้วน และสม่ำเสมอทุกๆ ปีนั้น จะช่วยให้ทั้งเจ้าของและสัตว์เลี้ยงของเราปลอดจากโรคที่อันตรายเหล่านั้นได้ ค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนนั้น ย่อมน้อยกว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาอยู่แล้ว จริงมั้ยคะท่านผู้อ่าน อีกทั้งคุณภาพชีวิตที่ดีของสัตว์เลี้ยงของเราที่ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อเหล่านั้นได้ด้วย อย่าลืมให้ความสำคัญกับการพาสัตว์เลี้ยงมาฉีดวัคซีนกันนะคะ