ตามรอยพ่อหลวง พาไปสำรวจ “เส้นทางสายมะเขือเทศดอยคำ” สู่การเป็น King of Tomato

ขณะที่ พญามังกรอย่าง จีน มีเส้นทางสายไหม (Silk Road) เป็นเส้นทางการค้าขายแต่โบราณที่ผู้คนจากใจกลางแผ่นดินจีนนำสินค้าไปค้าทางตะวันตกจนเลื่องชื่อ ประเทศไทยก็มี เส้นทางสายมะเขือเทศ(Tomato Belt) เป็นตัวแทนความมุ่งมั่นในการสานต่อแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงต้องการแก้ปัญหาความยากจนของราษฎร นำพาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกรในภาคอีสานอย่างยั่งยืน

 

จากปฐมบทกับเรื่องราวสู่การเป็น King of Tomato “ดอยคำ” ธุรกิจเพื่อสังคมที่มุ่งส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมเกษตร สืบสานความอยู่ดี กินดี และ มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนของชุมชน ได้จัดกิจกรรมตามรอยเรียนรู้ “เส้นทางสายมะเขือเทศดอยคำ” สู่การเป็น King of Tomato ที่สุดของผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปคุณภาพสูงจากมะเขือเทศดอยคำตั้งแต่ต้นน้ำจรดปลายน้ำ ผ่านกิจกรรม “อยู่ดีมีแฮงละเบ๋อ มะเขือเทศจากความฮัก จากใจดอยคำ” ลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงเพาะปลูกมะเขือเทศของเกษตรกร สัมผัสกับรากเหง้าความเป็นมาจากแนวพระราชดำริของพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ก่อเกิดเป็นการเกษตรท้องถิ่นในพื้นที่ภาคอีสาน พร้อมติดตามเส้นทางการเดินทางของมะเขือเทศดอยคำจากไร่สู่ผลิตภัณฑ์คุณภาพในมือผู้บริโภค ณ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 อ.เต่างอย จ.สกลนคร

ตามรอยพ่อ ปฐมบทแห่งเส้นทางสายมะเขือเทศ

พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา รรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหารจำกัด พาย้อนวันวานไปสู่จุดเริ่มต้นของเส้นทางสายมะเขือเทศว่า

ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ประทับอยู่ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์เมื่อปี 2523 ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรหมู่บ้านนางอย-โพนปลาโหล กิ่งอำเภอเต่างอย จ.สกลนคร และได้ทอดพระเนตรเห็นความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นของราษฎร จึงมีพระราชดำริเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนา เพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ส่งเสริมให้มีรายได้ ที่สำคัญคือ หลังจากพัฒนาแล้ว ชาวบ้านยังสามารถรักษาสภาพความเป็นอยู่และพัฒนาต่อไปได้ด้วยตนเอง

จากน้ำพระหฤทัยอันเปี่ยมล้น นำมาซึ่งการพัฒนาแหล่งน้ำ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกมะเขือเทศเป็นพืชหลังนา ตามความเหมาะสมของสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเพื่อสร้างรายได้เสริม กระทั่งในปี ๒๕๒๕ จึงได้มีการตั้งโรงงานหลวงสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) ซึ่งถือเป็นโรงงานหลวงแห่งแรกในลุ่มแม่น้ำโขง โดยเริ่มดำเนินการผลิตน้ำมะเขือเทศเข้มข้นเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดแรกของโรงงาน  และพัฒนาอาชีพ และเสริมรายได้ของราษฎรในเขตภาคอีสานตอนบนให้ยั่งยืน โดยนำเอาแนวคิดมาจากการพัฒนาในพื้นที่ภาคเหนือ คือ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) กับโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 2 (แม่จัน) มาเป็นต้นแบบ เพื่อช่วยเหลือด้านการรับซื้อผลผลิตจากพืชที่ส่งเสริมในราคาเป็นธรรม โดยนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในเครื่องหมายการค้า “ดอยคำ” เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนการจัดหาช่องทางกระจายสินค้าสู่ตลาด รวมถึงจัดให้มีการค้นคว้า วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารตามแนวพระราชดำริ “อุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการพัฒนาชนบท” กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “เส้นทางสายมะเขือเทศ”

จากยุคแรกเริ่มที่ยังไม่มี “ดอยคำ” เข้ามาให้ความรู้แนะนำส่งเสริม เกษตรกรยังใช้วิธีปลูกมะเขือเทศแบบไม่ขึ้นค้าง ทำให้ผลิตผลได้ไม่มากในการปลูกต่อไร่ และเกิดการเสียหายจากการเน่าเสีย จากธรรมชาติ เพราะผลตกกระทบสู่ดิน ทำให้ช้ำ และเสียหายได้ง่าย จนเมื่อ “ดอยคำ” ได้เข้ามาให้ความรู้และส่งเสริมเกษตรกร ให้มีการปรับการปลูก เพื่อให้ได้ผลิตผลมากขึ้น ในจำนวนพื้นที่ ไร่ เท่าเดิม “โดยการขึ้นค้าง” จากเดิมที่พื้นที่เพาะปลูก 1 ไร่ มีผลผลิต 5 ตัน พอใช้การขึ้นค้าง ทำให้ในพื้นที่เพาะปลูกที่ 1 ไร่เท่าเดิม มีผลผลิต 15 ตัน นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้มีการใช้วิธีต่อยอดมะเขือเทศ เพื่อให้ได้ต้นกล้าที่แข็งแรง ทนต่อโรค ปริมาณผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ไม่ขึ้นค้าง ต้นทุนต่อไร่อยู่ที่ 4,000- 5,000 บาท ได้ผลผลิต 4-5 ตันต่อไร่ เมื่อมาปลูกแบบขึ้นค้าง ต้นทุนต่อไร่อยู่ที่  7,500บาท แต่ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 8-20  ตันต่อไร่

ไพวัน โคตรทุม เกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศมากว่า 30 ปี  กล่าวว่า หลังเสร็จจากการทำนา จะมาปลูกมะเขือเทศปีละครั้ง โดยจะเริ่มปลูกประมาณช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค. และจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนม.ค.-มี.ค.โดยจะเลือกใช้มะเขือเทศพันธุ์เพอร์เฟคโกลด์ 111 เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตมะเขือเทศสีแดงสวย ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่สำคัญรสชาติหวานอร่อย

“ผมปลูกมะเขือเทศมาตั้งแต่วัยรุ่น จนตอนนี้จะ 50 ปีแล้ว” ไพวัน บอกเล่าอย่างเป็นกันเอง “ผมเริ่มหันมาปลูกมะเขือเทศจากการชักชวนของเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน ทุกวันนี้ผมแบ่งที่นาที่มี 16 ไร่ ออกมา 1 ไร่เพื่อปลูกมะเขือเทศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากดอยคำในการให้คำแนะนำในการเพาะปลูก และช่วยรับซื้อผลผลิต ซึ่งราคาในแต่ละปีไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด และผลผลิตที่ได้ในแต่ละปี ตั้งแต่เริ่มปลูกมามะเขือเทศก็ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ความเป็นอยู่ดีขึ้น เพราะเสร็จจากหน้านาก็ยังมีอาชีพ”

ท่องไปกับคาราวานมะเขือเทศ

หลังจากสร้างต้นน้ำที่แข็งแรง มาถึงขั้นตอนสำคัญของโรงงานหลวงฯ ที่ 3 ในการทำหน้าที่เป็นข้อต่อในส่วน “กลางน้ำ” รับซื้อผลผลิตส่วนใหญ่จากเกษตรกรในพื้นที่กิ่งอำเภอเต่างอย กิ่งอำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอกุดบาก และอำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร และได้ขยายตลาดการรับซื้อไปถึงจังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดหนองคาย นับตั้งแต่เริ่มต้น โรงงานหลวงฯ แห่งนี้ได้รับซื้อผลิตผลจากเกษตรกรทั้งหมดเฉลี่ยอยู่ที่ 10,000 ถึง 15,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าเงินคืนให้แก่เกษตรกร กว่า 100 ล้านบาทต่อปี พร้อมกับช่วยสร้างอาชีพและก่อเกิดรายได้ให้แก่เกษตรกรทั้งหมด 1,012 ครัวเรือน

ทั้งนี้ กระบวนการหลักๆในการรับซื้อผลิตผลจากเกษตรกร เริ่มตั้งแต่กระบวนการตรวจน้ำหนัก โดยเกษตรกรจะบรรทุกมะเขือเทศมาเป็นคันรถ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการชั่งน้ำหนัก พร้อมคัดเลือกเพื่อตรวจตำหนิ ตรวจสารพิษ ตรวจความหวาน และ ตรวจกายภาพ จากนั้น จะเข้าสู่กระบวนการคัด/ตกแต่ง โดยเมื่อรับซื้อผลผลิตการเกษตรจากเกษตรกรในพื้นที่ โดยก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการผลิตในขั้นต่อไป ผลผลิตของเกษตรกรเหล่านี้จะต้องผ่านการล้าง และ คัดเลือกผลที่มีตำหนิ หรือ ไม่ได้คุณภาพออก โดยการคัดทิ้งหรือตกแต่งตามสภาพของผลิตผลที่รับซื้อมา ในขั้นตอนนี้ ผู้ปฏิบัติงานจะปฏิบัติภายใต้สุขลักษณะและสุขาภิบาลที่ดีของโรงงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร เพื่อลดสิ่งแปลกปลอมที่มากับผลผลิตทางการเกษตรให้ได้มากที่สุด ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการผลิต  และการบรรจุภัณฑ์ต่อไป

จวบจนวันนี้ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย)  เป็นโรงงานหลักที่เป็นกำลังสำคัญในการผลิตผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้า “ดอยคำ” โดยมีสายการผลิตสำคัญ ได้แก่ สายการผลิตมะเขือเทศเข้มข้น ผลไม้อบแห้ง น้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง และข้าวกล้องบรรจุถุง อย่างไรก็ตาม น้ำมะเขือเทศดอยคำ ถือเป็นผลิตภัณฑ์แห่งความภาคภูมิใจ และทำให้ดอยคำเป็นอันดับ 1 ในตลาดน้ำมะเขือเทศ

ก้าวต่อไปของดอยคำในเส้นทางมะเขือเทศ

อีกหนึ่งวิสัยทัศน์สำคัญที่ดอยคำตั้งเป้าส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาว คือ ส่งเสริมให้เกษตรกรดำเนินการเพาะปลูกตามแนวทางเกษตรประณีต ซึ่งเป็นการทำเกษตรกรรมที่ก่อให้เกิดผลผลิตสูงสุดบนพื้นที่ที่น้อยสุด

“เรามุ่งหวังกระตุ้นให้เหล่าเกษตรกรคืนพื้นที่ที่เหลือจากการเพาะปลูกกลับคืนสู่ธรรมชาติ แนวทางนี้ไม่เพียงเป็นการสร้างรายได้ให้เกิดความกินดีอยู่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อเกษตรกรในระยะสั้นและยาวเท่านั้น แต่ยังเป็นการคืนพื้นป่ากลับสู่ธรรมชาติ เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำและรักษาสมดุลธรรมชาติต่อไป”

นอกจากนี้ ดอยคำยังสานต่อโครงการยุวเกษตร เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและเด็กนักเรียนโดยรอบโรงงานหลวงฯ ที่มีความสนใจด้านเกษตรกรรมได้เรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกมะเขือเทศของดอยคำไปยังคนในชุมชน นำไปสู่การเป็นต้นแบบให้กับเหล่าเยาวชนในพื้นที่บ้านเกิดต่อไปได้อย่างเป็นรูปธรรม

นายจักรพงศ์ กงแก่นทา ประธานกลุ่มยุวเกษตรกร โรงเรียนเต่างอยพัฒนศึกษา ในฐานะตัวแทนกลุ่มยุวเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศปี 2560 เผยว่า ถึงจะเป็นลูกหลานเกษตรกร แต่เขาไม่เคยมีความคิดว่าจะทำอาชีพเกษตรกรเลย เพราะเห็นพ่อกับแม่และหลายๆ คนที่ทำเกษตรมีความเป็นอยู่ที่ยากจน ลำบาก จนกระทั่งได้มาเข้าร่วมกลุ่มยุวเกษตรกรทำให้ความคิดเปลี่ยนไปและหมายมั่นว่าวันหนึ่งจะกลับมาเป็นเกษตรกร โดยนำความรู้ที่มีมาพัฒนาต่อยอดเพื่อพัฒนาชุมชน

ขณะที่นางสาวอารยา​ วิ​ดี​สา นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะ​ทรัพยากร​ธรรมชาติ​และ​อุตสาหกรรม​เกษตรมหาวิทยาลัย​เกษตร​ศาสตร์ ​วิทยาเขต​เฉลิมพระเกียรติ​ จ.สกลนคร อีกหนึ่งตัวแทนจากกลุ่มยุวเกษตร กล่าวว่า นอกจากจะภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเผยแพร่ความรู้ไปยังกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่แล้ว ด้วยความที่เติบโตมาในครอบครัวเกษตรกร ที่บ้าน หลังเสร็จหน้านาก็ปลูกมะเขือเทศ ทำให้เธอมีความมุ่งมั่นอันแรงกล้าที่จะนำความรู้ที่มีมาต่อยอดการทำเกษตร

“แม่หนูก็เคยเล่าให้ฟังว่า ถ้าไม่มีพระองค์ท่าน หมู่บ้านเราวันนี้ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ทุกวันนี้หลังเสร็จจากหน้านา ก็จะปลูกมะเขือเทศปีละครั้ง หนูรู้สึกภูมิใจทุกครั้งที่ได้ปลูก และ กินผลมะเขือเทศที่ปลูกเอง หนูตั้งใจว่า เรียนจบจะกลับมาเป็นเกษตรกร นำความรู้ที่มีมาต่อยอดเพิ่มผลผลิต”