ค้าปลีกปี’62 ส่อซึมยาว จากกำลังซื้อผู้บริโภคกลุ่มฐานระดับกลางลงล่างซึม คาดโตต่ำกว่าจีดีพี

ค้าปลีกปี’62 ส่อซึมยาว ทั้งปีน่าจะโตแค่ 3-3.1% ต่ำกว่าจีดีพี วอนรัฐบาลหนุนจริงจัง เสนอแนะพิจารณาลดภาษีสินค้าแบรนด์หรู จัดใหญ่ ไทยแลนด์ แบรนด์ เซล ดึงกำลังซื้อนักท่องเที่ยวช่วงโลว์ซีซัน

ค้าปลีกปี’62 ส่อซึมยาว – นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยปีนี้ ยังน่าห่วง และมีแนวโน้มจะซึมยาว จากกำลังซื้อผู้บริโภคกลุ่มฐานระดับกลางลงล่างซึม กลุ่มฐานผู้บริโภคกลางขึ้นบนทรงตัว ส่งผลให้ภาคค้าปลีกยังคงต้องเสี่ยงกับความไม่ชัดเจนและความไม่แน่นอน โดยคาดการณ์สถานการณ์ค้าปลีกครึ่งปีแรก คงหวังไม่ได้กับมาตรการอั่งเปาช่วยชาติ ที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภค ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีการจับจ่ายกว่าแสนล้าน เพราะมีผู้บริโภคเข้าร่วมโครงการกว่า 6 ล้านคน แต่ข้อมูลล่าสุดมีผู้เข้าร่วมลงทะเบียนเพียงหลักหมื่นคน ทำให้การจับจ่ายเหลือเพียงประมาณ 10,000 ล้านบาท

ขณะที่การเลือกตั้งที่จะมีเงินสะพัดประมาณ 50,000 ล้านบาท ทำให้ครึ่งปีแรกจะมีเงินสะพัดเพียงประมาณ 60,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าอยู่ค่อนข้างน้อย ดังนั้นภาพรวมค้าปลีกครึ่งปีแรก คงจะไม่เห็นการเติบโตภาคค้าปลีกเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ส่วนในครึ่งปีหลัง หากภาครัฐจะเร่งให้มีการประมูลโครงสร้างพื้นฐานให้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี ผลจากการลงทุนนี้จะส่งผลต่อการเติบโตแก่ภาคค้าปลีกในปลายไตรมาสที่ 3 ต่อต้นไตรมาสที่ 4 แต่หากไม่เป็นตามระยะเวลาดังกล่าว ครึ่งปีหลังก็คงจะซึมถึงทรุด โดยเฉพาะในบางกลุ่มประเภทธุรกิจ

วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย

“โดยรวมดัชนีค้าปลีกปี 2562 นี้ อาจจะทรงตัวหรืออาจจะต่ำกว่าเดิมเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปี 2561 คาดว่า การเติบโตน่าจะอยู่ประมาณ 3.0-3.1% ซึ่งก็ยังน้อยกว่าจีดีพีทั้งประเทศ ที่คาดการณ์ว่าน่าจะเติบโตประมาณ 3.5-4.0% จากภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในปี 2561 ที่ผ่านมา มีสัญญาณการฟื้นตัวขึ้นในทุกหมวดสินค้า แต่มีการชะลอตัวเล็กน้อยในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ส่งผลให้ภาคค้าปลีกมีการเติบโตเพียง 3.1% ขณะที่จีดีพีทั้งประเทศปี 2561 เติบโต 4.0-4.2%”

ดังนั้น สมาคมจึงขอเสนอแนะรัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งอย่างจริงจัง เนื่องจากภาคค้าปลีกเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยภาคการค้าปลีก-ค้าส่ง มีสัดส่วนจีดีพี ในด้านการผลิตเป็นที่สองรองจากภาคอุตสาหกรรม ขณะที่มีการจ้างงานเป็นอันดับหนึ่งของการจ้างงานนอกภาคเกษตร ขณะเดียวกันภาคการบริโภคค้าปลีก-ค้าส่ง มีสัดส่วนกว่า 55% ของมูลค่าการบริโภคภาคเอกชน ด้วยการแก้ไขปัญหาโครงสร้างภาษีที่ถูกบิดเบือน รัฐบาลควรศึกษาและพิจารณาเรื่องการลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์หรูอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง และนาฬิกาชั้นนำ เพื่อกระตุ้นยอดจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเมืองให้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ สร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศและผู้บริโภคที่เป็นนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประกาศจัดงาน “ไทยแลนด์ แบรนด์ เซล” (Thailand Brand Sale) ระยะเวลา 3 เดือนช่วงโลว์ซีซันของการท่องเที่ยว หรือช่วงเดือนมิ.ย.-ส.ค. ลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์หรูในกลุ่มแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง และนาฬิกา ชั้นนำ เพื่อกระตุ้นยอดจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มขึ้น สร้างบรรยากาศการจับจ่าย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และกระตุ้นการจับจ่ายผู้บริโภคที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ให้กลับคืนมา และภาครัฐต้องไม่ปิดกั้นผู้ประกอบการรายอื่นๆ ให้เข้ามาดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีในสนามบิน และพื้นที่ค้าปลีกนอกสนามบิน เพื่อเปิดแข่งขันเสรีในทุกภาคส่วนในประเทศไทย เพื่อรัฐจะสามารถสร้างรายได้มากขึ้น