ปี’62 ทุเรียนไทยราคาสูง 5 เท่าของต้นทุน จีนนิยมเพราะเป็นผลไม้มงคลต้องกินทุกปี

สศก. ชี้ ปี’62 ทุเรียนไทยราคาสูง 5 เท่าของต้นทุน จีนนิยมเพราะเป็นผลไม้มงคล-แนะเจาะตลาด ญี่ปุ่น-เกาหลี-อินเดีย กระจายเสี่ยง

ปี’62 ทุเรียนไทยราคาสูง 5 เท่า – นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปี 2562 สถานการณ์การส่งออกทุเรียนไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีราคาใกล้เคียงกับที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศยังมีต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจของ 2 ประเทศผู้บริโภคหลักของทุเรียนไทย อย่าง จีน เวียดนาม ยังดีต่อเนื่อง จากปี 2561 มีการส่งออก 518,882 ตัน เพิ่มขึ้น 3.05% จากปีก่อนหน้ามีปริมาณส่งออก 503,536 ตัน มูลค่า 35,333 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.21% จากปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าส่งออก 24,846 ล้านบาท

สำหรับการส่งออกทุเรียน 518,882 ตันในปี 2561 มีการส่งออกไปยังจีนสัดส่วน 41% เวียดนาม 37% ฮ่องกงสัดส่วน 17% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด ส่วนราคาที่เกษตรกรขายได้ในปี 2562 จะใกล้เคียงปี 2561 คือราคา 78.16 บาท/กิโลกรัม (กก.) ซึ่งราคาเพิ่มขึ้นจากปี 2560 สัดส่วน 8.84% โดยราคาทุเรียนสูงกว่าต้นทุนการผลิต 5 เท่า จากต้นทุนผลิตปี 2561 ที่ 15.10 บาท/กก. ลดลงจากต้นทุนปี 2560 อัตรา 5.12% จากต้นทุนที่ 15.93 บาท/กก.

“ระยะสั้นๆ นี้ ราคาทุเรียนจะสูงกว่าต้นทุนอยู่มาก แต่เนื่องจากไทยส่งออกทุเรียนไปยังจีน ในสัดส่วนที่สูงมาก ถึง 41% ของการส่งออกทั้งหมด เพื่อกระจายความเสี่ยงจากตลาดส่งออกหลักอย่างจีน ทุเรียนไทยต้องหาตลาดใหม่ คือ เร่งขยายตลาดทุเรียนไปยัง เกาหลี ญี่ปุ่น ที่ชื่นชอบทุเรียนกรอบ ตะวันออกกลาง อินเดีย นิยมทุเรียน freeze dried และต้องเน้นส่งเสริมให้ชาวสวนทำการซื้อขายโดยตรง ผ่านตลาดออนไลน์ พัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ ให้มีความสามารถยืดหยุ่นและรักษาคุณภาพสินค้า แต่ต้องมีความสวยงามเพิ่มมูลค่าผลผลิต”

นายฉันทานนท์ กล่าวว่า ส่วนผลผลิตปี 2562 คาดมีพื้นที่เพาะปลูกรวม 683,000 ตัน เพิ่มขึ้น 4.3% จากปี 2561 ที่มีพื้นที่เพาะปลูกรวม 655,000 ตัน และเพิ่มขึ้น 5.31% จากผลผลิตปี 2560 ที่มีพื้นที่เพาะปลูกรวม 622,000 ตัน ส่วนผลผลิตปี 2562 คาดว่าจะมี 863,732 ตัน เพิ่มขึ้น 17.18% จากปีก่อนที่มีผลผลิต 737,065 ตัน เพิ่มขึ้น 13.54% จากผลผลิตปี 2560 ที่มี 649,171 ตัน

“ตั้งแต่ปี 2557 ผลผลิตและราคาทุเรียนไทยเติบโตขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากไทยมีข้อได้เปรียบคู่แข่ง อาทิ ไทยสามารถส่งทุเรียนสดเข้าจีนได้ โดยเน้นส่งเป็นทุเรียนหมอนทอง ขณะที่มาเลเซียยังส่งออกได้เฉพาะทุเรียนแช่แข็ง ส่วนทุเรียนของมาเลเซีย พันมูชาน คิง มีราคาแพงกิโลกรัมละ 300-400 บาท ส่วนสิ่งที่หลายฝ่ายกังวลในเรื่องของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา มีแนวโน้มที่หาข้อยุติได้ในอนาคต จึงคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้าหรือผู้ซื้อทุเรียนหลักอย่างจีนมากนัก ที่สำคัญคนจีนถือว่า ทุเรียนคือผลไม้มงคลต้องกินทุกปี และไทยยังมีการขายทุเรียนผ่านอาลีบาบา ซึ่งเป็นช่องทางการซื้อขายที่คนจีนเข้าถึงจำนวนมาก”

สำหรับอนาคตของทุเรียนไทย สศก. มองว่าเกษตรกรชาวสวนทุเรียน ควรเน้นผลิตทุเรียนเพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีมากกว่าการเน้นในเรื่องของปริมาณ เพื่อรองรับการแข่งขันของคู่ค้าในอนาคต จากปัจจุบันไทยเน้นส่งออก ทุเรียนหมอนทอง ควรเพิ่มสายพันธุ์ทุเรียนให้มีความหลากหลาย อาทิ ก้านยาว ชะนี พวงมณี เพื่อกระจายความเสี่ยง ยกระดับการขายเป็นขายทุเรียนพรีเมี่ยม และเพิ่มรูปแบบการแปรรูปทุเรียนเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น ทุเรียนอบกรอบ ทำทุเรียน freeze dried เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่ไม่ชอบกลิ่นทุเรียน และเน้นตลาดในประเทศมากขึ้น