ผู้เขียน | ประชาชาติธุรกิจ |
---|---|
เผยแพร่ |
“ปลิงทะเลขาว” (holothuria scabra) เป็นสัตว์เศรษฐกิจมูลค่าสูงประเภทหนึ่ง โดยชาวจีนนิยมบริโภคเนื้อปลิงทะเลขาว ด้วยความเชื่อในสรรพคุณทางยา ที่ผ่านมาจึงมีการจับปลิงในทะเลธรรมชาติออกไปจําหน่าย โดยนําไปตากแห้ง (Beche-de-mer) ซึ่งได้ราคาสูง อีกทั้งความต้องการของตลาดผู้บริโภคมีจํานวนสูงมากอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปลิงทะเลในธรรมชาติลดลงอย่างรวดเร็ว จึงมีความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งที่มีความหวังจะเพิ่มปริมาณปลิงขาวในทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
โดยโครงการดังกล่าวได้ถูกริเริ่มมาตั้งแต่ช่วงปี 2560 ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดซื้ออุปกรณ์สำหรับการทำบ้านปลิงขาวมาให้กับชาวบ้านบริเวณบ้านเกาะมุกด์ ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง พร้อมหาอาสาสมัครที่มาเป็นจิตอาสามาช่วยดูแล เพื่อเพิ่มปริมาณปลิงขาวในทะเลให้กลับมาสู่ความอุดมสมบูรณ์ และเป็นห่วงโซ่อาหารที่ยังคงสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่
การเลี้ยงไม่ต้องให้อาหารหรือดูแลใด ๆ เนื่องจากเวลาน้ำขึ้นจะมีซากแพลงก์ตอน ซากพืช และซากสัตว์ที่จมอยู่ก้นทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติอยู่แล้ว โดยชาวบ้านสามารถเก็บไปกินหรือนำไปตากแห้งขายได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 5,000-6,000 บาท
การเลี้ยงปลิงทะเลจึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับพี่น้องชาวประมงในพื้นที่จังหวัดตรัง โดยตลาดจําหน่ายปลิงทะเลขาวมีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์
นอกจากนี้ ยังได้ปลูกจิตสำนึกให้แก่ชาวบ้านเกาะมุกด์ ไม่จับปลิงทะเลวัยอ่อนที่ยังไม่ได้ขนาดมาทำกินเป็นอาหารหรือขาย หากพบผู้ใดฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษตามกฎของหมู่บ้าน ทำให้ปัจจุบันมีปริมาณปลิงทะเลเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ชาวบ้านจับไปกินเป็นอาหารในครัวเรือนได้ทุกวัน ทั้งผัด แกง ต้ม ยำ และนำมาดองเป็นสมุนไพร
ขณะที่นายแก่นจิตอาสาที่เลี้ยงปลิงขาวไว้เพื่อขยายพันธุ์ และไม่ได้ขายเป็นเชิงพาณิชย์ ต้องการให้ภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือด้วยการจัดสรรงบประมาณลงมาเพิ่ม เพื่อจะได้ขยายคอกเลี้ยงปลิงทะเลขาวเพิ่มเติมอีก เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชาวประมงพื้นบ้านที่เดินทางมาศึกษาดูงานจากทั่วประเทศ