เผยแพร่ |
---|
เคทีซี เปิดเวทีเสวนา “ทิศทางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว พร้อมทะยานเวทีโลก” ระดมความเห็นผู้นำวงการ กำหนดอนาคตทิศทางท่องเที่ยว
นายโชติช่วง ศูรางกูร อุปนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) คาดว่า ในปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเดินทางออกต่างประเทศประมาณ 7.5 ล้านคน ขณะที่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) รายงานจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศทั่วโลก (International Flight) ปีนี้จะขยายตัว 70% เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าจะเติบโตเท่ากับก่อนช่วงโควิด-19 ในปีหน้า
พร้อมเสนอแนะเรื่องการคลายข้อจำกัดด้านการเก็บค่าเหยียบแผ่นดินที่จะเก็บจากนักท่องเที่ยวขาเข้าและการเก็บภาษีจากนักท่องเที่ยวขาออกจากประเทศ รวมถึงการจัดเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อน (VAT on Outbound)
ขณะที่นักท่องเที่ยวมีทางเลือกในการจองสถานที่ท่องเที่ยวได้ด้วยตัวเอง เพราะปัจจุบันแพลตฟอร์มสำหรับการท่องเที่ยวมีเพิ่มมากขึ้น ถ้ามองในแง่ดีจะเป็นการช่วยส่งเสริมให้ตลาดท่องเที่ยวใหญ่ขึ้น ขณะที่ผลต่อ Online Travel Agency (OTA) และบริษัททัวร์มองว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย
นายศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้และอุปนายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) มองว่า จากตัวเลขของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 – วันที่ 25 มิถุนายน 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 12,464,812 คน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 539% จากปีก่อน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศ 5 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย จีน รัสเซีย เกาหลีใต้ และอินเดีย
อย่างไรก็ตาม แม้การท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นแต่ธุรกิจโรงแรมยังอยู่ในภาวะกำลังฟื้นตัวและยังเผชิญกับความท้าทายหลายปัจจัยโดยเฉพาะเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และอาจเป็นตัวแปรในการปรับขึ้นราคาห้องพัก รวมถึงการจ้างงานที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบ เช่น การใช้วิธีเหมาจ่ายตามปริมาณงาน หรือใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานมากขึ้น
รวมทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน และสถานการณ์การเมืองในประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ โรงแรมขนาดใหญ่อาจมีการปรับราคาลงเพื่อกระตุ้นการเข้าพัก แต่โรงแรมขนาดเล็กไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ถ้าเป็นแบบนี้อาจส่งผลให้เกิดสงครามราคาที่ผู้ประกอบการแย่งลูกค้ากันเอง
นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการบินพาณิชย์ (CCO) บริษัท การบินไทยจํากัด (มหาชน) กล่าวว่า การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน ยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่เติบโตแบบชะลอตัว เศรษฐกิจไทยที่ยังมีความเสี่ยงหลายประการ ต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน การแข่งขันในอุตสาหกรรมสายการบินจากการเพิ่มเที่ยวบินและเปิดเส้นทางใหม่มีมากขึ้น และสถานะการเงินของสายการบินยังค่อนข้างเปราะบางแม้จะเริ่มปรับตัวขึ้นจากรายได้ที่ฟื้นตัว
ดังนั้น การส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมสายการบินต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐบาล สายการบิน และผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรม รัฐบาลไทยต้องวางตำแหน่งอุตสาหกรรมการบินให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีส่วนสนับสนุนการเติบโตและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศ
นางสาวเพลินพิศ โกศลยุทธสาร ผู้อำนวยการส่วนกิจกรรมการตลาดด้านการท่องเที่ยว บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มองว่า ธุรกิจท่องเที่ยวในปีนี้จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญส่งผลต่อสัญญาณการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินที่ค่อนข้างชัดเจน โดยคาดว่าการเดินทางโดยอากาศยานของภูมิภาคเอเชียจะกลับมาขยายตัวได้ 70-80% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการบินของไทยยังต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1. การส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการบินแข็งแกร่งเพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศผ่านการเดินทางและขนส่งสินค้าทางอากาศ
2. ลดผลกระทบต้นทุนโดยภาครัฐควรกำหนดอัตราที่เหมาะสมของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเพราะมีผลต่อการตั้งราคาบัตรโดยสาร รวมทั้ง ลดค่าธรรมเนียมวีซ่าเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว และ
3. แก้ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรด้านบุคลากรการบิน ที่ได้รับผลกระทบจากการลดขนาดองค์กรช่วงโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการบิน ไม่สามารถกลับมาให้บริการได้เต็มความสามารถ เมื่อเทียบกับอุปสงค์ของการท่องเที่ยว
นายนิติกร คมกฤส ผู้จัดการส่วนพัฒนาธุรกิจ สายการบินไทยเวียตเจ็ท กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบินกลับมาคึกคักและแข่งขันกันอีกครั้ง โดยการกำหนดราคาค่าโดยสารยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ สะท้อนจากการงดออกแคมเปญโปรโมชันช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว สำหรับปัญหาและอุปสรรคในอุตสาหกรรมการบินคือ เรื่องทรัพยากรบุคคลตามสนามบินต่างๆ ที่ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติการ แต่เชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศกำลังพยายามสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินให้กลับมาดำเนินการได้ ขณะที่สายการบินไทยเวียตเจ็ท มองเห็นโอกาสจากเส้นทางระหว่างประเทศรอง อาทิ ประเทศอินเดีย ซึ่งมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสูงและนักเดินทางมีศักยภาพ และกลุ่มนักเดินทางช่วงนี้จะเป็น กลุ่มนักเดินทางอายุน้อย ในขณะที่จำนวนนักเดินทางเพื่อธุรกิจปรับลดลง
นางสาวพัทธ์ธีรา อนันต์โชติพัชร ผู้บริหาร KTC World Travel Service และการตลาดท่องเที่ยวหมวดสายการบิน “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมการใช้จ่ายในหมวดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวผ่านบัตรเครดิตเคทีซีปรับตัวดีขึ้นตามการเติบโตของการท่องเที่ยวโดยครึ่งปีแรกขยายตัวเพิ่มขึ้น 90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโตขึ้น 25% จากช่วงปี 2562
โดยยอดใช้จ่ายผ่านบัตรฯ สูงสุดแยกตามหมวด ได้แก่ สายการบิน เอเยนต์ท่องเที่ยว (ทั้งออนไลน์และออฟไลน์) โรงแรม รถเช่า-รถไฟ-การเดินทางขนส่ง และแหล่งท่องเที่ยว/กิจกรรมสันทนาการ
นอกจากนี้ หลังการเปิดรับนักท่องเที่ยวในหลายประเทศ ส่งผลให้สมาชิกวางแผนท่องเที่ยวต่างประเทศมากยิ่งขึ้น โดยเรียงลำดับประเทศยอดนิยมดังนี้ ญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส ฮ่องกง และเวียดนาม โดยยอดเฉลี่ยการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซีต่อสมาชิกในหมวดท่องเที่ยวอยู่ที่ 17,000 บาท
ทั้งนี้ KTC World Travel Service ศูนย์บริการการเดินทางและท่องเที่ยวสำหรับสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีเดินหน้ากลยุทธ์การตลาดภายใต้ 3S ประกอบด้วย
1. Service : การให้บริการด้านการเดินทาง ท่องเที่ยว เน้นความสะดวกสบาย น่าเชื่อถือ โดยสร้างการรับรู้ผ่าน #บินเที่ยวครบจบที่ KTCWorldTravelService
2. Segmentation : การบริหารกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการที่แตกต่างด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวที่หลากหลาย รวมถึงการขยายช่องทางการสื่อสารในหลายรูปแบบ เพื่อให้เข้าถึงสมาชิกบัตรเครดิตและตอบโจทย์การเดินทางท่องเที่ยวได้มากที่สุด
3. Synergy : การทำงานร่วมกับพันธมิตรหลักครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตั้งแต่ต้นน้ำ ไปถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ สายการบิน เอเยนต์ทัวร์ โรงแรม รถเช่า สมาคมท่องเที่ยว และองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อสร้างความแตกต่างผ่านกิจกรรมการตลาดในหลากหลายรูปแบบ พร้อมมอบสิทธิประโยชน์ที่คุ้มค่าในการเดินทางท่องเที่ยวให้กับสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี