เผยแพร่ |
---|
กรมการค้าภายใน จัดทัพผู้ค้า ‘ดูแลผลไม้ใต้‘ รัวกลอง 22 มาตรการดันราคา ปูพรม‘ฟรุตเฟสติวัล‘
ปฎิทินผลไม้ไทย เข้าเดือนมิถุนายนของปี ผู้บริโภคก็จะได้ชิมผลไม้จากแหล่งปลูกในจังหวัดภาคใต้ ซึ่งตามคาดการณ์ของคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุตบอร์ด) สำหรับ 4 ผลไม้หลักของภาคใต้ ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ในปี 2566 จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก โดยคาดการณ์ผลผลิตทุเรียนใต้ ที่จะออกสู่ตลาด 716,902 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน59.77% มังคุดมีผลผลิต 127,551 ตัน เพิ่มขึ้น 356.70% เงาะมีผลผลิต 51,382 ตัน เพิ่มขึ้น 90.60% ลองกองมีผลผลิต 35,755 ตัน เพิ่มขึ้น 1,635.68% ผลผลิตรวมกันแล้วผลไม้ใต้จะมีสัดส่วนประมาณ 13% ของผลผลิตทั้งประเทศประมาณ 6.75 ล้านตัน
นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงสถานการณ์ผลไม้ภาคใต้ว่า ผลไม้จากภาคใต้เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตและทยอยออกสู่ตลาดแล้ว 20-30% ของผลผลิตที่คาดการณ์ไว้ ทั้งในพื้นที่เพาะปลูกสำคัญ อย่างชุมพร พังงา นครศรีธรรมราช ปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคมจะออกถึงกว่า 50% และออกเรื่อยไปถึงปลายฤดูเดือนสิงหาคม ด้านผลผลิต ปี 2566 แตกต่างจากปี 2565 ค่อนข้างมาก ด้วยผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็น100% ถึง 1,000 % เนื่องจากปีก่อนพื้นที่เพาะปลูกในใต้เจอฝนชุกเจอปรากฎการณ์พายุรุนแรงหลายลูก จนผลไม้ใต้ไม่ติดดอก ผลผลิตหายไปจากปีปกติ 80-90% มังคุดปีก่อนมีผลผลิตแค่ 2 หมื่นตัน เงาะปีก่อนแทบไม่มีผลผลิตเลย ขณะที่ปีนี้ฝนใต้น้อยเพิ่งเจอพายุหลังจากผลไม้ติดดอกแล้วและเข้าต้นฤดูเก็บเกี่ยวพอดี โดยกรมการค้าภายใน มองว่า ผลผลิตผลไม้ใต้ปีนี้มีปริมาณมาก จะส่งผลดีต่อเกษตรกรชาวสวนใต้ที่จะได้มีรายได้กลับมาอีกครั้ง มองเป็นโอกาสของชาวสวนใต้ หลังจากปีก่อนเจอปัญหาแม้ผลผลิตน้อย ราคาดี แต่รายได้ก็ไม่ได้มากเท่ามีผลผลิตเพียงพอ กรมการค้าภายใน มองว่าปี 2566 จะเป็นปีทองของผลไม้ใต้ หลังจากเกษตรกรเจอสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) กว่า 2 ปี และปรากฎการณ์อากาศแปรปรวนในปีที่ผ่านมา
” เมื่อกรม รับรู้ว่าปีนี้ผลไม้ใต้จะแยะ กรมได้เตรียมแผนบริหารจัดการ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาปริมาณผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ ข้อดีแม้ผลผลิตปีนี้จะมากขึ้นแต่ก็ใกล้เคียงปีปกติและผลผลิตออกแบบกระจายไม่กระจุกตัวในเวลาเดียวกัน ที่ปีปกติมักต้องเก็บเกี่ยวพร้อมกันในระยะ 10-15 วัน ปีนี้เฉลี่ย 30 วัน ทำให้มีเวลาบริหารจัดการได้ดี และกระจายผลผลิตออกนอกพื้นที่ได้ต่อเนื่อง ราคาผลไม้ต้นฤดูของใต้จึงไม่ผันผวนมาก ความท้าทายคือต้องเฝ้าระวังและมอนิเตอร์สถานการณ์ตลอดเวลา ในด้านราคาเป้าหมายนั้นกรมยึดรอยต่อสถานการณ์และราคาของผลไม้ภาคตะวันออกที่เข้าสู่ปลายฤดู ก็ยังต้องเข้าดูแล หาผู้ค้าเข้าไปรับซื้อ ในราคานำตลาด พร้อมกับเข้าไปทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับพื้นที่เพาะปลูกผลไม้ต้นฤดูภาคใต้ ทำ 2 ด้านไปพร้อมกัน พร้อมกับใช้ 22 มาตรการตามแผนบริหารจัดการของกระทรวงพาณิชย์เข้าไปบริหารจัดการเต็มที่ ก็จะเกิดรอยต่อผลไม้ตะวันออกและใต้ ให้สามารถประคองราคาไปได้โดยดี ซึ่งหากไม่ทำอะไรเลย ไม่มีการกระตุกตลาด ตลาดก็จะซึมราคาไม่พุ่ง ” รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าว
ดังนั้น ผลไม้ต้นฤดูกาลผลิตจึงยังประคองราคาขายในระดับที่สูงกว่าปีก่อนโดยทุเรียนเกรด AB ราคาในปี 2566 อยู่ที่ 120-125 บ./กก.กิโลกรัมจากปี 2565 ราคา 116 บ./กก. หรือราคาเพิ่มขึ้น 6% ทุเรียนเกรด c ปีนี้ ราคา 90-95 บ./กก.จากปีก่อนราคา 89 บ./กก.หรือราคาเพิ่มขึ้น 4% เกรดดีปีนี้ราคา 80 – 85 บาทจากปีก่อนราคา 64 บาทหรือราคาเพิ่มขึ้น 30% มังคุดเกรดมันรวมปีนี้ราคา 89-104 บาทต่อกิโลกรัมจากปีก่อน 37บ./กก.หรือเพิ่มขึ้น 161% เกรดดอก ปีนี้ราคา 39-53 บ./กก. จากปีก่อน 25 บ./กก. หรือราคาเพิ่มขึ้น 84%
การเชื่อมรอยต่อเพื่อประคองราคาผลไม้โดยภาพรวม กรมการค้าภายใน จะมีหลากหลายวิธีการ ตั้งแต่ ใช้อมก๋อยโมเดล นำผู้ประกอบการรับซื้อและคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) ทั้งไทยและจีน เข้าไปรับซื้อและทำสัญญาซื้อขายหล่วงหน้า ในราคานำตลาด นำห้างค้าส่งค้าปลีก ห้างท้องถิ่นที่มีทั่วไทย 600 สาขา นำผู้ส่งออกและโรงงานแปรรูปผลไม้ ดึงสมาคมตลาดสดตลาดนัด นิคมอุตสาหกรรม สถานีบริการน้ำมันหลายพันสาขาทั่วประเทศ รวมถึงพ่อค้าคนกลางเข้าไปรับซื้อ ในพื้นที่ที่ส่งสัญญาณว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดในเวลาเดียวกัน โดยกำหนดเป้าหมายดูดซับไม่น้อยกว่าประมาณ 10% ของผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดในช่วงนั้นๆ รวมถึงการสนับสนุนกล่องบรรจุที่ขายตรงจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์เพื่อส่งไปยังผู้บริโภคโดยตรง ที่ได้รับการสนับสนุนจากไปรษณีย์ไทยและการบินไทย เป็นต้น การจัดหาให้มีรถเร่ รถโมบาย เพื่อซื้อผลไม้จากพ่อค้าที่เข้ารับซื้อและนำออกจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยตรง ออกมาตรการสนับสนุนและผลักดันการส่งออกโดยรัฐช่วยเหลือค่าใช้จ่าย 4 บาทต่อกก. ในการรับซื้อ บรรจุ และส่งออก พร้อมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดโปรโมชั่นในการส่งเสริมการขายผลไม้ในต่างประเทศ การบริหารจัดการด้านแรงงาน กรณีที่มีล้งยังเปิดรับซื้อในภาคตะวันออกและแรงงานไม่เพียงพอกับการเปิดจุดในภาคใต้ ก็จะเร่งจัดการล้งนอกพื้นที่หรือในพื้นที่เข้าไปรับซื้อแทน
“ในเดือนกรกฎาคม ที่จะมีผลผลิตผลไม้ใต้ออกสู่ตลาดในปริมาณที่มาก วิธีการเร่งระบาย จึงเป็นจุดสำคัญ เราจะดึงทุกพันธมิตร ทุกช่องทาง เข้าไปรับซื้อ หาตลาด และกระจายผลไม้ โดยเฉพาะผลผลิตที่อาจตกเกรดบ้างหรือรูปทรงไม่สวยเมื่อเจอฝน ก็ได้นำกลุ่มแปรรูปเข้าไปรับซื้อ และ บางส่วนนำออกกระจายนอกพื้นที่ แผนดูดซับสำคัญ คือ การจัดฟรุตเฟสติวัล หรือ แหล่งรวมพ่อค้าแม่ค้าที่นำผลไม้สดหรือแปรรูปมาจำหน่ายในช่วงเวลาหนึ่ง โดยจะมีทั้งรูปแบบงานขนาดเล็กเฉพาะในพื้นที่แหล่งชุมชน ตามห้างท้องถิ่น หรือ สาขาห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในทุกภูมิภาคแล้ว ยังจะมีมหกรรมฟรุตเฟสติวัล งานใหญ่อีก 2-3 ครั้ง โดยแต่ละครั้งจะสามารถดูดซับผลผลิตได้พร้อมกัน 3-5 พันตันและกระจายตรงถึงผู้บริโภคในเวลาอันสั้น เกิดปัญหาติดขัดก็จะเข้าไปแก้ไขทันที ซึ่งมีทีมติดตามสถานการณ์ที่เป็นตัวแทนจากภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมมือกัน มีการประสานขอความร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ หากพบการกระทำที่บ่งไปทางกดราคารับซื้อ ด้วยเราติดตามและตรวจสอบราคาล้งที่เข้าไปรับซื้อทุกวัน เมื่อเห็นว่าสถานการณ์ไม่ดีก็ประสานล้งนอกพื้นที่เข้าไปรับซื้อในราคาที่เหมาะสม และดูดซับในปริมาณที่มากพอ ทำให้ต้นฤดูไม่มีผู้ประกอบการรายใดกล้ากดราคา กรมมีการเตรียมแผนรับสถานการณ์ฉุกเฉินแบบต่อเนื่อง เพื่อดูแลราคาผลไม้ใต้ให้ดีมากที่สุดและนานที่สุด ” นายกรนิจ ย้ำให้เกษตรกรได้มั่นใจ
อีกหนึ่งใน 22 มาตรการที่นำมาใช้ คือ การบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ หากมีการจำกัดการรับซื้อ หรือร่วมกันปฏิเสธการรับซื้อ ที่เป็นการผูกขาดและลดการแข่งขัน จะมีความผิดตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 มาตรา 72 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด และมีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา 29 กรณีทำให้เกิดความปั่นป่วนด้านราคา มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หลังจากมีการรายงานจากพื้นที่ ว่า เริ่มมีสัญญาณว่าผู้ประกอบการและล้งพยายามที่จะร่วมมือกันหยุดรับซื้อ และกดราคารับซื้อผลไม้จากเกษตรกร ทั้งมังคุดและทุเรียนในภาคใต้
กรมการค้าภายใน ได้ร่วมมือกับนายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ ลงพื้นที่ตรวจสอบ ติดตามการซื้อขายมังคุดและทุเรียนอย่างใกล้ชิด พร้อมตั้งชุดเฉพาะกิจเข้าไปตรวจสอบ และกำกับดูแลการรับซื้อขาย เพื่อไม่ให้มีการรับซื้อโดยเอาเปรียบเกษตรกร เพื่อดูแลชาวเกษตรกรให้ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อขายผลผลิต พร้อมกับ กรมเร่งหาตลาดรองรับผลผลิตทุเรียนที่กำลังออกสู่ตลาด โดยตลาดมรกต ซึ่งเป็นตลาดในความส่งเสริมของกรมการค้าภายในและเป็นตลาดรวบรวมทุเรียนใหญ่ที่สุดในโลก เปิดจุดรับซื้อทุเรียนให้กับพี่น้องชาวสวน ณ ตลาดมรกตทันที โดยมีศักยภาพรับผลผลิตทุเรียนขั้นต่ำ 3,000 ตันต่อวัน รวมทั้งประสานล้งในพื้นที่ให้เข้าไปรับซื้อด้วย เพื่อความมั่นใจให้เกษตรกรว่ามีตลาดรองรับผลผลิต และสามารถขายผลผลิตได้ราคาดี และเป็นธรรม
เมื่อดูผลงานตามแผนบริหารจัดการผลไม้โดยรวมปี 2566 ที่ผ่านมา ที่เริ่มจากการเข้าไปบริการจัดการผลผลิตในภาคเหนือ และส่วนใหญ่ในภาคตะวันออก กรมการค้าภายใน เผยว่า สามารถดูดซับผลผลิตได้ครึ่งหนึ่งของเป้าหมายที่ตั้งไว้ 7 แสนตัน หรือ ดูดซับไปแล้วประมาณ 3.5 แสนตัน ในส่วนของภาคใต้ ตั้งไว้ 35% ของแผนดูดซับ หรือ ประมาณ 2.5-3.0 แสนตัน ส่วนอีกประมาณ 1 แสนตัน เป็นแผนที่จะเข้าดูดซับผลผลิตลำไย กับ ลองกอง และลิ้นจี่อีกเล็กน้อย ซึ่งผลผลิตจะออกตลาดมากในอีก 2-3 เดือนจากนี้้ ยังไม่รวมกับเป้าหมายที่ค้าปลีกรายใหญ่ 4-5 ราย เตรียมรับซื้อผลไม้ทั่วประเทศในปีนี้ 7 แสนตัน เพื่อกระจายในตามสาขาในประเทศและนอกประเทศ โดยรับซื้อไปแล้ว 5 แสนตัน เฉพาะใต้ ตั้งเป้าซื้อไว้ไม่น้อยกว่า 2 แสนตัน
ฉะนั้น ตามแผนบริหารจัดการของกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน เชื่อได้ว่า ปี 2566 จะเป็นทั้งปีทองของเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ และชาวสวนใต้ยังมีความสุขมากขึ้น