เช็ก! สัญญาณเตือนคร่าชีวิต “ฮีตสโตรก” ภัยใกล้ตัวหน้าร้อน

นายแพทย์นริศ สมิตาสิน อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี

เช็ก! สัญญาณเตือนคร่าชีวิต “ฮีตสโตรก” ภัยใกล้ตัวหน้าร้อน

สภาพอากาศในช่วงนี้ร้อนแรงจนทำให้ใครหลายคนเหงื่อตก จนไม่กล้าสู้แดดไปตามๆ กัน มีการคาดการณ์ว่าฤดูร้อนปีนี้จะพุ่งสูงไปถึง 43 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว โดยแสงแดดและอากาศที่ร้อนระอุในช่วงกลางวัน ส่งผลให้ผู้ที่อยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานๆ อาจมีความเสี่ยงอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้ จากโรคลมแดด หรือ “ฮีตสโตรก” เนื่องจากร่างกายปรับสภาพไม่ทัน

นายแพทย์นริศ สมิตาสิน อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า โรคลมแดด หรือฮีตสโตรก จะมาพร้อมกับอากาศที่ร้อนจัดจนทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน เมื่อความร้อนในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส สมองส่วนควบคุมอุณหภูมิของร่างกายจะเกิดความผิดปกติ จนส่งผลกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง สำหรับกลุ่มเสี่ยงของโรคนี้ ได้แก่

1. ผู้ที่ต้องทำงานกลางแดดหรือออกกำลังกายกลางแดดเป็นเวลานาน

2. กลุ่มคนที่เป็นโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน

3. กลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งร่างกายจะระบายความร้อนได้ไม่ดีเหมือนวัยหนุ่มสาว

4. ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน

5. ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ

6. ผู้ที่ทำงานในห้องแอร์เย็นๆ แล้วต้องออกมาเจออากาศร้อนจัด อาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน

7. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะร่างกายจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากกว่าปกติ

“สัญญาณเตือนที่สำคัญของโรคฮีตสโตรกที่สามารถสังเกตได้เริ่มจาก เมื่อมีอากาศร้อนแต่ไม่มีเหงื่อออก หน้าแดง ตัวร้อนจัด กระหายน้ำ วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็ว กล้ามเนื้อเกร็ง มึนงง มีอาการชัก รูม่านตาขยาย ความรู้สึกตัวน้อยลง จนหมดสติ หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งการช่วยเหลือเบื้องต้น ควรพาผู้ป่วยเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูง ปลดหรือคลายเสื้อผ้าที่รัดแน่นออก ใช้ผ้าชุบน้ำประคบตามตัว และใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุดและรีบนำส่งโรงพยาบาล” นายแพทย์นริศ กล่าว

สำหรับการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคลมแดด นายแพทย์นริศ กล่าวว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการต้องทำงานที่อยู่กลางแดดจัดเป็นเวลานาน ไม่ควรออกกำลังกายกลางแดดแต่เลือกออกกำลังกายในช่วงเช้าหรือเย็นแทน หลีกเลี่ยงไปอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนจัด ไม่ควรให้เด็ก ผู้สูงอายุ อยู่ในรถที่จอดรถทิ้งไว้กลางแจ้งเป็นเวลานาน ในช่วงฤดูร้อนควรมีอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น หมวกหรือร่ม เลือกเสื้อผ้าที่โปร่ง ไม่หนา มีสีอ่อน จะช่วยระบายความร้อนได้ดี ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว และดื่มน้ำระหว่างวันแม้จะไม่กระหายน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นและลดอุณหภูมิในร่างกาย และที่สำคัญ ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ หากพบว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ขอให้รีบมาพบแพทย์ทันทีเพื่อลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต

 

นายแพทย์นริศ สมิตาสิน

อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี