คนเป็นเก๊าต์เฮ! มข.พัฒนาไก่ “ยูริคต่ำ ไขมันน้อย” เลี้ยง 35 วัน ขายได้เลย 

คนเป็นเก๊าต์เฮ! มข.พัฒนาไก่ “ยูริคต่ำ ไขมันน้อย” เลี้ยง 35 วัน ขายได้เลย 

ปัจจุบันผู้บริโภคมีมุมมองใหม่เกี่ยวกับอาหารว่าไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่จำเป็นพื้นฐานของร่างกายเท่านั้น แต่เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดสุขภาพ เนื่องจากผู้บริโภคหลายประเทศกำลังประสบกับปัญหาด้านสุขภาพ อันเนื่องมาจากสาเหตุการบริโภคสารอาหารบางตัวมากเกินไป รวมถึงอาหารที่มีปริมาณพิวรีนสูงซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคเกาต์ และยังเป็นผลเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจตามมา

จากความต้องการของผู้บริโภคที่กล่าวมาข้างต้น กลายเป็นโจทย์ให้ ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา คณบดี คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และทีมวิจัย คิดค้น ‘ทางเลือก’ ของบริโภคอาหารสุขภาพและผู้ป่วยโรคเกาต์ โดยการพัฒนาสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองภายใต้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น และบริษัทตะนาวศรีไก่ไทย จำกัด

ศ.ดร.มนต์ชัยอธิบายถึงแนวคิดในการพัฒนาสายพันธุ์ไก่ให้ตอบโจทย์เรื่องสุขภาพว่า ปัจจุบันผู้บริโภค ให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานอาหารมากขึ้น เพราะการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่นเดียวกับอาหารที่มีปริมาณพิวรีนสูง อาจส่งผลต่อปริมาณยูริคในเลือดและเป็นโรคเกาท์ตามมา ความกังวลเหล่านี้ ทำให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะ ‘ไก่’ ดังนั้นงานวิจัย ‘ไก่ 3 โลว์’ (Low-Uric Low-fat Low Cholesterol) จึงถือเป็นการตอบโจทย์อาหารสุขภาพ ยกตัวอย่างอาหารประเภทไก่บนโต๊ะอาหารทั่วไป มีพิวรีนประมาณ 6 มิลลิกรัมต่อกรัม ซึ่งเมื่อรับเข้าไปแล้วจะย่อยสลายกลายเป็นกรดยูริค ทำให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย มีอาการเจ็บปวดตามข้อตามมา จนเป็นสาเหตุให้ต้องงดบริโภคไก่ในที่สุ

สำหรับกระบวนการพัฒนาคุณภาพไก่นั้น ทีมวิจัยได้นำ ‘ไก่พื้นเมืองพันธุ์ชี’ ซึ่งเป็นไก่ที่มีขนสีขาวมาผสมกับ ไก่พันธุ์ปกติที่ใช้ในทางการค้า โดยการเจาะเลือดดูพันธุกรรมของไก่ และคงระดับพันธุกรรมเดิมในเลือดที่ 25% โดยใช้ กระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพ หรือเครื่องหมายทางพันธุกรรม (Gene marker) ที่สัมพันธ์กับปริมาณกรดยูริค ไขมันในการคัดเลือกไก่มาพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ให้ได้ไก่ที่มีไขมันและยูริคต่ำ

ซึ่งนอกจากจะได้ไก่ที่ดีต่อสุขภาพ ของผู้บริโภคแล้วยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญสามารถนำไปต่อยอด และพัฒนาเชิง อุตสาหกรรมทั้งการส่งออกไก่สดและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เช่น ไก่ผงชงดื่ม ซุปไก่สกัด ผงปรุงรสซุปไก่ สารสกัดต่างๆ

ปัจจุบันศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สามารถผลิตลูกไก่จำหน่าย ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ โดยมีประชารัฐจังหวัดดำเนินการเรื่องการรับซื้อและทำตลาดให้

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายและความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น ทางศูนย์เตรียมผลิตลูกไก่เพิ่มขึ้น และหวังให้ไก่เคเคยู 1 เป็นของดี เมืองขอนแก่นเช่นเดียวกับไก่เขาสวนกวาง

 

“ขณะนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังไม่มีการขายลิขสิทธิ์ แต่สร้างความร่วมมือเชิงวิชาการกับหน่วยงาน ที่อยากให้เกิดการสร้างอาชีพในชุมชน ได้แก่ บริษัทประชารัฐสามัคคีขอนแก่น จำกัด ที่ส่งเสริมเกษตรกรในเครือข่าย โดยรับซื้อไก่ทั้งหมดและส่งต่อให้กับซัพพลายเชนเพื่อแปรรูป นอกจากนี้ยังร่วมมือกับร้านอาหารตำมั่วในเครือเซ็นทรัล เพื่อสร้างเมนูต้มไก่ริมโขง ซึ่งเป็นเมนูต้มไก่บ้านจากไก่ยูริคต่ำ โดยการแปรรูปชำแหละจะต้องทำให้ได้มาตรฐาน เพื่อส่งไปยังร้านค้าที่ต้องการทำเมนูพิเศษ เช่น โรงแรมโฆษะ กลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าจังหวัดขอนแก่น และโมเดิร์นเทรดต่างๆ เช่น ฟู้ดแลนด์ ได้มีการเจรจากับท๊อปซุปเปอร์มาร์เก็ตเพื่อนำไก่ยูริคต่ำเข้าจำหน่ายเร็วๆ นี้ ปัจจุบันมีกำลังผลิตเพียง 2,000 ตัวต่อสัปดาห์ ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของร้านอาหาร และซุปเปอร์ มาร์เก็ต ที่ต้องการซื้อเนื้อไก่ที่ 20,000 ตัวต่อสัปดาห์ ด้วยเหตุที่จำนวนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มีไม่เพียงพอ เพราะแม่ไก่สายพันธุ์นี้ สามารถฟักไข่ได้เพียงหนึ่งฟองต่อวัน”

ขณะที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังคงรักษา กำกับดูแลสายซัพพลายเชน  แบ่งเป็นตลาดในประเทศ ตลาดส่งออก ตลาดฮาลาล และตลาดเพื่อส่งเสริมให้พี่น้องในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอาชีพ โดยจำหน่ายในตลาดท้องถิ่น ให้คนท้องถิ่นได้บริโภคไก่ยูริคต่ำ ทางด้านการบริหารจัดการก็มีการจัดสรรผลประโยชน์แบ่งตามส่วน โดยบริษัทตะนาวศรีจ่ายค่าแม่พันธุ์ และนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายลูกเจี๊ยบ มาสนับสนุนกองทุนของ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อให้เกิดอาชีพ รวมถึงการแข่งขันตลาดอาหารสุขภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้ หากเกษตรกรสนใจเลี้ยงไก่ยูริคต่ำ และต้องการสร้างความเข้มแข็งในชุมชน สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ไก่ พื้นเมือง มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้มหาวิทยาลัยสร้างห่วงโซ่ คิดเมนูใหม่เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน พร้อมกับช่วยบริหาร ไม่ให้แข่งกันเองแต่ช่วยกันสร้างตลาดใหม่ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้ของบสนับสนุนจากรัฐบาลอันเป็นโครงการ spearhead พร้อมทำแพคเกจอาหารสำเร็จรูปส่งออกญี่ปุ่น คุณสมบัติของไก่ยูริคต่ำนอกเหนือจากนี้คือ มีแอนเซอรีน ซึ่งเป็นสารสำคัญช่วยสร้างสมดุลของกรดแลคติกในคนที่ออกกำลังกาย ทำให้ไม่เหนื่อยง่าย ไม่ล้า ไม่สะสมกรด ในกล้ามเนื้อมาก ต่างจากเนื้อวัวที่แทบไม่มีแอนเซอรีนเลย

ด้าน รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร สำนักงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สกสว. หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เดิม พร้อมด้วย บริษัทตะนาวศรีไก่ไทย จำกัด และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกันสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาไก่ลูกผสมระหว่าง PS Broiler กับไก่พันธุ์สังเคราะห์เป็นลูกผสมไก่เนื้อไทย (Thai Broilers) มาตั้งแต่ปี 2554 และในปี 2557 ได้ให้ทุนต่อเนื่องในโครงการ การพัฒนาสายพันธุ์ไก่สายพันธุ์สังเคราะห์ เพื่อรองรับการผลิตลูกผสมไก่บ้านไทยและ ไก่เนื้อไทย

ผลลัพธ์จากโครงการนี้สามารถผลิตไก่ลูกผสมพื้นเมืองจำนวน 4 สายพันธุ์ (ไข่มุกอีสาน สร้อยนิล สร้อยเพชร) และขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นในชื่อ “เคเคยู 50” ซึ่งเกิดจากพ่อไก่พื้นเมืองพันธุ์ชีและแม่พันธุ์ ทางการค้าของบริษัท และได้พัฒนาพันธุ์ไก่สายพันธุ์สังเคราะห์มาอย่างต่อเนื่อง โดยนำ “ไข่มุกอีสานเคเคยู 50” มาผสมกับไก่เนื้อสายพันธุ์การค้าของ บริษัทจนได้ “ไข่มุกอีสาน 2 หรือเคเคยู 1” ซึ่งจัดเป็นไก่สายพันธุ์เนื้อ ที่มีระดับเลือดพื้นเมืองอยู่ที่ 25% มีความโดดเด่นด้านการเจริญเติบโตและคุณภาพซาก ระยะเวลาเลี้ยงสั้นเพียง 35 วันก็ได้น้ำหนักตลาดที่เหมาะต่อการเป็นอาหารสุขภาพ เพราะมียูริคต่ำ ไขมันน้อย เลี้ยงง่าย เนื้อเหนียวนุ่ม สามารถนำไปส่งเสริมการเลี้ยงในระดับชุมชนและการผลิตในระดับอุตสาหกรรม

 โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นศึกษาวิจัยเชิงลึกถึงคุณภาพของเนื้อไก่ลูกผสมพื้นเมือง (ไก่เคเคยู1) กับการเป็นอาหาร สุขภาพ ด้วยเทคนิคกล้องจุลทรรศน์อินฟาเรดที่มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูง สามารถบ่งชี้ศักยภาพของ ไก่เคเคยู1 เหมาะที่จะเป็นอาหารสุขภาพได้

ผลงานวิจัยพบว่าไก่เคเคยู1 มีปริมาณกรดนิวคลีอิคต่ำกว่าไก่เนื้อทางการค้า ซึ่งเมื่อบริโภคจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกาต์น้อยกว่า เนื่องจากเป็นสารตั้งต้นที่สำคัญในการสร้างกรดยูริค

ทั้งนี้ ผลงานวิจัยดังกล่าวทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยง และตลาดต้องการให้ทางศูนย์เครือข่ายเพิ่มกำลังผลิต ให้มากขึ้น โดยตั้งเป้ายอดการผลิตจากปัจจุบัน 500 ตัว/สัปดาห์ เป็น 2,000 ตัว/สัปดาห์ ให้กับบริษัทประชารัฐ รักสามัคคีขอนแก่น (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ที่มีการสร้างเครือข่ายและกลุ่มเกษตรกร ทำให้เกษตรกรเกิดอาชีพ โดยบริษัทฯ ได้ส่งไก่ให้กับร้านอาหารดังในจังหวัดขอนแก่น รวมถึงโรงแรมโฆษะและโรงแรมบุษราคัม ตลอดจนการแปรรูปเป็นไก่ย่าง ไก่สดแช่แข็งวางขายที่อะโกร เอ้าท์เล็ท และวิลล่ามาร์เก็ต รวมยอดขายอยู่ที่ 155,842 บาท/เดือน นอกจากนี้กำลังจะทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับลูกค้ารายใหญ่ (ZEN Group) อีกหลายตันต่อเดือน