เด็กหัวดี ใช้เทคโนโลยี อัพเกรดธุรกิจเครื่องแบบราชการฯ สร้างรายได้สุดปัง

เด็กหัวดี ใช้เทคโนโลยี อัพเกรดธุรกิจเครื่องแบบราชการฯ สร้างรายได้สุดปัง

จุดเริ่มต้นของ “ร้านช่างเสื้อโอ๋” เริ่มต้นเมื่อ 24 ปีที่ผ่านมา โดยรับตัดชุดเครื่องแบบราชการและชุดปฏิบัติการของหน่วยงานต่างๆ การรับงานในตอนแรกของร้าน คือ การเข้าไปรับงานกับสถานที่ราชการต่างๆ โดยที่ไม่ผ่านการประมูลแต่เป็นการรับเป็นรายบุคคล ซึ่งแต่ละที่ก็จะเห็นในฝีมือของครอบครัวจากการตัดเย็บซึ่งต่อมาได้งานใหญ่คือการตัดชุดยูนิฟอร์มของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  ร้านตัดเสื้อช่างโอ๋จะเด่นในรูปแบบของชุดข้าราชการ อีกทั้งยังมีชุดปฏิบัติการต่างๆที่ทางร้านเป็นผู้คิดค้นและเริ่มต้นสร้างจุดเด่นให้กับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งแต่ละร้านการตัดชุดจะมีความถนัดในเรื่องของการตัดเย็บแตกต่างกันออกไป

นางสาว กวิน ธนะศรี (น้องเฟิร์น) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เจ้าของร้านตัดเสื้อช่างโอ๋

นางสาว กวิน ธนะศรี (น้องเฟิร์น) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เจ้าของร้านตัดเสื้อช่างโอ๋ เล่าว่า “ โดยส่วนตัวเข้ามารับช่วงต่อจากครอบครัวได้ประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหน้าที่ของเราในตอนนั้นคือการที่เริ่มจากไปส่งชุดเครื่องแบบที่ตัดเสร็จเรียบร้อยแล้วให้กับลูกค้า ช่วยในการไปซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตชุดทั้งหมด โดยเราจะเป็นคนลงไปเลือกซื้อเองทั้งหมด ที่สำคัญยังเข้ามาช่วยออกแบบทำโลโก้ขึ้นมาใหม่ให้กับทางร้าน มีการทำเพจเฟซบุ๊กขึ้นมาใหม่ ซึ่งแฟนเพจในเฟซบุ๊กตอนนี้ก็มีพอสมควร อีกทั้งสิ่งที่ช่วยทำให้เราได้ลูกค้ามากขึ้นมาจากช่องทางไลน์และเบอร์โทรศัพท์เพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งงานกับทางเราได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้เรามีหน้าร้านตั้งอยู่ที่สะพานใหม่เป็นสาขาแรก และสาขาที่ 2 จะตั้งอยู่ที่จังหวัดสกลนคร ซึ่งสาขาที่ 2 ที่เปิดในต่างจังหวัดเราจะเน้นการเปิดเป็นโรงงานช่วยให้คนในพื้นฐานมีอาชีพ มีรายได้ สามารถเข้ามาทำงานในโรงงาน รวมไปถึงญาติพี่น้องของเราที่อยู่ในละแวกนั้นก็สามารถเข้ามาช่วยงานในโรงงานนี้ได้เหมือนกัน เป็นการเพิ่มโอกาสและการกระจายรายได้ให้คนในพื้นที่”

 

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คณะบริหารธุรกิจ ช่วยถ่ายทอดความรู้การดูสถานการณ์ วิเคราะห์ตลาดจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค ตลอดจนคู่แข่งว่าเป็นอย่างไรบ้าง อะไรที่เป็นที่นิยมอยู่ตอนนี้  ส่วนของเรื่องทฤษฎีที่นำมาใช้หลักๆ จะเป็นทฤษฎีองค์กร คือการให้สวัสดิการพนักงานภายในร้านให้มากขึ้นเพื่อทำให้พนักงานรักในองค์กร ความรู้ในส่วนนี้สามารถนำมาปรับใช้ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการเบี้ยขยัน ลาคลอด ค่าเดินทาง ค่าอาหาร วันลากิจ ลาป่วย ลาคลอด ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ

“นอกจากนี้ยังมีการให้คำแนะนำกับคุณพ่อคุณแม่ให้พวกท่านศึกษาเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น การใช้ไลน์ เฟซบุ๊ก ถ่ายรูปโปรโมตชุดที่เราทำเสร็จแล้วลงในไลน์ เฟซบุ๊ก ซึ่งลูกค้าก็จะเห็นต่อเมื่อเดินทางมาหน้าร้านเท่านั้น แต่ตอนนี้เราก็แนะนำพวกให้ถ่ายรูปอย่างไร ถ่ายตรงไหนบ้าง อีกทั้งเวลาไปส่งงานก็จะมีการแนะนำให้ถ่ายรูปตอนส่งชิ้นงานให้กับลูกค้าเพื่อนำไปใช้โปรโมตในเฟซของพวกเขาเอง รวมถึงเพจของทางร้าน เพื่อให้คนรู้จักร้านเรามากขึ้น คอยอัพเดตตลอดว่าร้านเราทำอะไร หรือออกแบบตัดชุดอะไรบ้างตอนนี้  ที่สำคัญทางร้านมองว่าต่อไปเราอาจจะผลิตเป็นงานขายโดยวัดไซซ์จากตัวคนมาเลย แล้วผลิตออกมาจำนวนเยอะๆ หลายๆ แบบ และจะเน้นในการรับออร์เดอร์ให้น้อยลง การที่เราเลือกทำชุดสำเร็จรูปออกมาไว้เป็นสต๊อกเพื่อที่จะทำให้ลูกค้ามีสิทธิเลือกมากขึ้น ได้ช่วยประหยัดระยะเวลาในการผลิตให้รวดเร็วขึ้น อีกทั้งยังลดปัญหาบุคลากรลงไปด้วยเพราะก่อนหน้านี้เรามีปัญหาเรื่องบุคลากร เพราะบางคนอยากลาออกไปแต่งงาน กลับภูมิลำเนา บางคนอยากจะออกไปเปิดร้านของตนเองก็ออกไปเปิดเลยไม่บอกเราล่วงหน้า เราจึงไม่สามารถควบคุมในส่วนนี้ได้ ซึ่งเวลาที่เราจะผลิตบุคลากรขึ้นมาใหม่ 1 คนมันใช้เวลานานมากกว่าเขาจะเรียนรู้และทำงานออกมาให้ตรงตามแบบที่เราต้องการ นอกเหนือจากชุดสำเร็จรูปแล้วเราก็อยากที่จะทำกางเกงสแล็กที่เป็นสไตล์ของวัยรุ่นออกมาขายเพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายให้เพิ่มมากขึ้นโดยปรับให้ตามยุคสมัย” น้องเฟิร์น กล่าวทิ้งท้าย