Farmer Market ผักสดกลางทะเลทรายดูไบ

    

          เคยพาไปเที่ยวตลาดที่กาตาร์ กับดูไบมาแล้ว แต่เป็นตลาดพื้นเมืองขายผ้าผ่อนเครื่องทองเหลืองถ้วยถังกะละมังหม้อแบบพื้นบ้าน ตลาดแบบนั้นเรียกว่าซุค (Souqe) วันนี้จะพาไปดูตลาดผักผลไม้สด แบบที่เราเรียกกันว่า Farmer Market แบบที่ฉันชอบเดินหนักหนา เพราะเป็นตลาดเปิดโล่ง มีผักผลไม้จากเกษตรกรโดยตรง ไม่ผ่านมือพ่อค้าคนกลางที่ไหน บรรยากาศซื้อขายเต็มไปด้วยมิตรจิตมิตรใจ เพราะเกษตรกรที่ฉันเจอมาทั่วโลกล้วนอัธยาศัยไมตรีดี (ไม่เคยไปอิสราเอลนะ เว้นไว้ก่อน)

           ดูไบเป็นเมืองเอกของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นเมืองที่สร้างอะไรต่อมิอะไรที่คนไม่คิดว่าจะมีขึ้นในทะเลทรายได้ เช่น ลานสกีหิมะในตึก สนามกอล์ฟบนดาดฟ้า ทะเลเทียมที่มีปลาฉลามตัวเป็นๆ ว่ายยิ้มแฉ่งในปริมาณที่มากกว่าทะเลจริง หรือสวนสนุกที่มีไดโนเสาร์ตัวใหญ่เคลื่อนไหวได้เหมือนจริงกว่าในหนัง

          ก็แบบว่ามีเงินและมีวิสัยทัศน์ ทำอะไรก็ไม่น่าเกลียด อันนี้พูดจริงนะ ดูไบไม่เหมือนเมืองน้ำมันอีกหลายเมือง ที่มีเงินแต่ไม่มีวิสัยทัศน์ เวลาร่ำรวยก็ไม่ได้สร้างอะไรเป็นเนื้อเป็นหนัง ดีแต่จ่ายเงินให้ประชาชนอยู่กันอย่างสำราญ ไม่ต้องดิ้นรน รัฐไม่พยายามจะสนับสนุนให้มีการลงทุน มีการศึกษาดีๆ พอมาถึงตอนที่เขาว่าน้ำมันใกล้หมด จึงเหลือแต่ประชาชนที่เคยตัว กินดีอยู่ดีแต่ไม่มีการศึกษา ถ้าน้ำมันหมดแล้วก็ยังไม่รู้จะทำมาหากินอะไร

         ลองทายดูสิว่าประเทศอะไร บอกใบ้ว่าเคยเป็นแหล่งขุดทองของคนไทยเมื่อกว่า 20 ปีก่อนนั่นแหละ

          หลายเมืองเห็นประสบการณ์แบบนั้นก็เอามาปรับปรุง อย่างที่ฉันเห็นมาที่กาตาร์ ที่เขามีแก๊สธรรมชาติเยอะมาก (เยอะกว่าน้ำมัน ที่ก็มีมากพอตัวอยู่แล้ว) นัยว่าใช้ไปอีกราว 200 ปีจึงจะหมด เขาก็ร่ำรวยนักหนา แต่เขาใช้เงินที่มีไปลงทุนเรื่องการศึกษา การพยาบาล ที่กาตาร์มีมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกหลายแห่งไปเปิดสาขา มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ (ตอนเขาเป็นเจ้าภาพกีฬา

          เอเชียนเกมส์ เขาสร้างสนามกีฬาและหมู่บ้านนักกีฬาใหญ่โต เสร็จแล้วหมู่บ้านนักกีฬากลายเป็นโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์)

          

          และที่ดูไบนี่อีกแหละที่ฉันว่าเขาวางแผนอย่างมีวิสัยทัศน์ เขาเอาอาคารใหญ่โต สูงเทียมฟ้ามาไว้ในเมืองเดียวกัน เพื่อให้จัดการได้ง่าย จะหาสาธารณูปโภคอะไรมาป้อนก็ง่าย เรียกผังเมืองแบบนี้ว่าผังเมืองแนวดิ่ง คือให้มีตึกสูงเสียให้พอ เพราะมันจัดการสาธารณูปโภคได้ง่ายกว่าการอี๊อ๊าเกลียดตึกสูงแล้วปล่อยให้บ้านหลังเล็กหลังน้อยกระจัดกระจายไปทั่ว สาธารณูปโภคไปถึงบ้างไม่ถึงบ้างตามยถากรรม

          แต่คนเขานินทากันนะว่าดูไบน่ะ หาส้วมเลี่ยมทอง หาเฮลิคอปเตอร์หรือเรือยอชต์สักลำ ยังหาง่ายกว่าหาซื้อแคร์รอตหรือผักสดๆ สักหัว ก็แบบว่าเขาอยู่กลางทะเลทรายอ่ะ ดินเป็นทรายทั้งนั้นเลย แถมยังร้อนนรก หน้าร้อนอุณหภูมิแตะ 50 องศาเซลเซียส เชียวนะ

แต่ฝรั่งนางหนึ่งนางไม่ยอมแพ้ นางเสาะหาผักสดผลไม้สดมาเปิดขายเป็นตลาดสดใจกลางดูไบได้อ่ะ กลายเป็นตลาดสินค้าเกษตรสดๆ แห่งแรกของดูไบไปเลย

          นางชื่อ Yael Mejia นางเริ่มของนางง่ายๆ ด้วยการขอเช่าพื้นที่ใต้ตึกเบิร์จ คาลิฟา ตึกสูงที่สุดในโลก ที่เห็นในภาพ แล้วตั้งโต๊ะขายผักกับผลผลิตจากฟาร์มสดๆ มีคนขายเริ่มแรกแค่ 3 ราย คนดูไบตื่นตาตื่นใจไม่เคยเห็นใครเอาผักมากองขายสดๆ แบบนี้ ก็ฮือฮาซื้อกันเป็นว่าเล่น แล้วย่านนั้นก็ย่านคนรวยอ่ะ นางก็ขายดิบขายดี

          ที่จริงนางย้ายจากลอนดอนมาดูไบเพื่อมาเปิดร้านอาหาร แต่มีปัญหาเรื่องหาวัตถุดิบไม่ได้ เพราะดูไบไม่ใช่แหล่งปลูกผักปลูกหญ้า ทะเลทรายออกปานนั้น นางเลยออกเดินทางเสาะแสวงหาแหล่งวัตถุดิบ ทั่วตะวันออกกลาง นางไปซีเรีย เลบานอน ซาอุดีอาระเบีย แต่การหาวัตถุดิบดีๆ ก็ช่างยากเย็นเหลือกำลัง แม้จะมีฟาร์มผักออร์แกนิกชั้นดีอยู่หลายแห่งในอาบูดาบี แต่ก็เป็นของคนรวยเพื่อคนรวย ผักแต่ละต้นแพงระยับ คนปกติธรรมดาไม่สามารถซื้อกินได้ ต้องทนกล้ำกลืนผักแช่แข็งที่ส่งมาจากแดนไกล

          ตกลงคนในประเทศร่ำรวยก็ต้องกินสินค้าที่ตนเองไม่มีสิทธิเลือก นางจึงคิดว่าทำไมไม่มีใครอยากทำการเกษตรขึ้นมาแล้วขายกันเองกินกันเอง ทำไมต้องไปพึ่งพาการนำเข้าจากแดนไกล

          ว่าแล้วนางก็ดิ้นรนๆๆๆ พยายามติดต่อหาผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ในอาบูดาบี ล้มเหลวและผ่านการต่อต้านอยู่ 2 ปี จึงติดต่อผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ที่มีผลผลิตครอบคลุมกว้างขวาง ตั้งแต่มะเขือ ซุกีนี พริก ผักสลัด และสมุนไพร และอื่นๆ แล้วต่อมานางก็ติดต่อเกษตรกรในท้องถิ่นได้อีก 2 ราย พอเพียงสำหรับจะลงมือค้าขายเองแล้ว ในตลาดนอกจากขายของสดแล้วยังมีปรุงอาหารกันสดๆ ด้วย

           ผู้คนก็แห่แหนมาเกินคาดหมาย ทั้งคนดูไบและชาวต่างชาติที่อยู่ในดูไบ แต่ที่มากันมากและมาอย่างหิวกระหายคือบรรดาเชฟที่ทำงานในโรงแรมหรูทั้งหลาย เชฟปรารถนาจะได้วัตถุดิบสดๆ ดีๆ สำหรับอาหารของตัวเองแทนอาหารแช่แข็งมานานแสนนาน ตลาดสินค้าสดนี้จึงถูกใจเชฟยิ่งนัก แถมสินค้าสดยังถูกกว่าสินค้าที่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมาไกล

          ผักในดูไบปลูกได้ปีละ 7 เดือน ตอนหน้าร้อนผักไม่สามารถทนได้ หรือถึงแม้จะอยู่ในหน้าหนาว (เขาไม่มีหน้าฝน) เกษตรกรก็ต้องใช้ระบบน้ำหยดและน้ำซึมใต้ผิวดินเหมือนที่เกษตรกรของอิสราเอลทำ

          เรื่องดีๆ อาจจบแบบไม่ค่อยสนุก ตอนนี้ตลาดของนางที่มีผู้ขายเพิ่มเป็น 8 รายแล้ว จำเป็นต้องย้าย เพราะเจ้าของที่เขาจะเอาที่ดินคืน นางจะย้ายไปใต้ตึกโรงแรมแห่งหนึ่งไม่ไกลจากที่เดิม

          และจะยังขายดีเหมือนแจกฟรีอีกเช่นเดิม