ร้านทำเล็บคอนเซ็ปต์ใหม่ ได้เล็บสวย ไม่เสี่ยงภัยจากสารเคมี

นับเป็น “มิติใหม่” ของวงการร้านทำเล็บที่น่าสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง ที่ ณ วันนี้มีกลุ่มร้านทำเล็บในเบิร์กลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่หันมาให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัยของพนักงานและลูกค้า ควบคู่ไปกับการให้บริการด้านความสวยงาม ด้วยการหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อสุขภาพ หลังจากที่ผ่านมามีพนักงานในร้านทำเล็บ มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ จากการสูดดมสารเคมี ซึ่งเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการทำเล็บทั้งหลายแหล่

“เมื่อคุณนั่งทำเล็บให้ลูกค้า พนักงานมักจะมีอาการคันที่ผิวหนัง และแสบตาบ่อยๆ ฉันเองก็นั่งทำเล็บให้ลูกค้าทุกวัน ฉันก็อยากสูดดมอากาศที่บริสุทธิ์ และดีต่อสุขภาพของฉัน ฉันจึงจำเป็นต้องดูแลสุขภาพตัวเองด้วยวิธีนี้” ไม ดัง หญิงเวียดนามวัย 40 ปี เจ้าของร้านทำเล็บแฟชั่นเนลส์ (Fashion Nails) ในย่านธุรกิจของเบิร์กลีย์ เล่าถึงเหตุผลที่เธอตกลงใจเซ็นชื่อเข้าร่วมในโครงการความร่วมมือเพื่อสุขภาพของร้านทำเล็บแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย (The California Healthy Nail Salon Collaborative) ทันทีโดยไม่ลังเล หลังจากได้เห็นข้อมูลความเจ็บป่วยของพนักงานในร้านทำเล็บซึ่ง จูเลีย เลียว ผู้อำนวยการฝ่ายวางนโยบายและพัฒนาของโครงการความร่วมมือเพื่อสุขภาพของร้านทำเล็บแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย เปิดเผยว่า “จริงๆ พนักงานทุกคนล้วนเคยมีประสบการณ์ ต้องมีอาการอะไรสักอย่างเกี่ยวกับสุขภาพ และเราก็ตระหนักว่า มันเหมือนโรคระบาดอย่างหนึ่ง ที่เราต้องจัดการ”

ทั้งนี้ ธุรกิจร้านทำเล็บ เป็นธุรกิจที่แพร่หลายในสหรัฐอเมริกา โดยเมื่อปี 2558 มีตัวเลขรายได้ถึง 8.5 พันล้านดอลลาร์ (ราว 301.75 พันล้านบาท) และจากข้อมูลของ องค์กรคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency) ระบุว่า มีสารเคมีอย่างน้อย 20 รายการที่เป็นอันตราย และสารเคมีบางชนิดที่พบในร้านทำเล็บก็เป็นสาเหตุของโรคผิวหนัง และก่อให้เกิดปัญหาทางระบบทางเดินหายใจ หรือแม้กระทั่งมีความเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็ง การแท้งบุตร และความพิการแต่กำเนิด อย่างเช่น สารฟอร์มาลดีไฮด์ สารโทลูอีน ก็เป็นส่วนประกอบที่เสี่ยงอันตรายที่พบอยู่ในน้ำยาทาเล็บ น้ำยาล้างเล็บ สีเคลือบเล็บ ที่ร้านทำเล็บใช้กัน

“เราไม่ต้องการสร้างความหวาดวิตก ทำให้คนรู้สึกกลัวว่า โอ้ ร้านทำเล็บน่ากลัว เราไม่ควรเข้าร้านทำเล็บกันแล้ว แต่เราต้องการสร้างพื้นที่ให้ทั้งเจ้าของร้าน และลูกค้ารู้สึกสบายใจ แต่ที่เราต้องการยิ่งกว่านั้นก็คือ สร้างรูปแบบของการลงทุน ที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีต่อสุขภาพของคนทำงาน”

ทั้งนี้ สำหรับร้านทำเล็บที่เข้าร่วมในโครงการนี้จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจให้เห็นเป็นรูปธรรม รวมทั้งต้องใช้น้ำยาทาเล็บ น้ำยาล้างเล็บ สีเคลือบเล็บ ที่มีสารเคมีที่ก่ออันตรายน้อย อีกทั้งพนักงานในร้านทุกคนจะต้องสวมถุงมือ สวมหน้ากากระหว่างใช้ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการทำเล็บ และเจ้าของร้านยังต้องซื้อเครื่องช่วยหายใจแบบเคลื่อนที่ไว้ใช้ภายในร้านด้วย

“เวลาฉันนั่งทำเล็บให้ลูกค้า ฉันก็จะกดรีโมต เปิดเครื่องช่วยหายใจ พนักงานในร้านก็ไม่ต้องสูดดมสารเคมีที่เป็นอันตรายอีกต่อไป” ไม ดัง บอก ทั้งนี้ จากข้อมูลของ The California Healthy Nail Salon Collaborative ระบุว่า มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานทำเล็บในรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นลูกครึ่งอเมริกันเวียดนาม และมากกว่าครึ่งเป็นสาววัยเจริญพันธุ์

ต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้ร้านแฟชั่นเนลส์ของไม ดัง ได้รับใบประกาศนียบัตรจากเขตอลามีดาเคาน์ตี้ เป็นร้านทำเล็บที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยเมื่อปี 2556 ซึ่งเธอแขวนไว้ที่กระจกหน้าร้าน และยังติดอันดับ ร้านทำเล็บที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยในเว็บไซต์ของเขตอลามีดาเคาน์ตี้ด้วย

ไม ดัง ใช้เงินลงทุนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทำเล็บให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ทำให้เธอมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นราว 30 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เธอต้องขอเก็บค่าบริการเพิ่มขึ้นจากเดิม 2 ดอลลาร์ (ราว 71 บาท) ซึ่ง จีเนลล์ จอห์นสัน ลูกค้าคนหนึ่งของไม ดัง บอกว่า เธอยินดีจ่ายเพิ่มสำหรับบริการที่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น

“คุณได้ในสิ่งที่คุณจ่าย นั่นคือความจริงเสมอ”

อย่างไรก็ตาม จีเนลล์ บอกว่า เธอไม่เคยรู้มาก่อนว่า ร้านแฟชั่นเนลส์ เป็นร้านที่ได้รับใบประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐานความปลอดภัย “แต่ตอนนี้ฉันรู้แล้ว และฉันก็จะบอกต่อ คนทั่วไปจะได้รู้กันว่า นี่เป็นร้านทำเล็บที่คำนึงถึงสุขภาพ ความปลอดภัย”

สำหรับไม ดัง เล่าว่า นี่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะตั้งแต่ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงมา ปรากฏว่า มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้น และเธอก็เห็นกำไรเพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม จูเลีย เลียว เล่าว่า จากร้านทำเล็บในรัฐแคลิฟอร์เนียที่มีอยู่กว่า 8,000 ร้าน ตอนนี้มีเพียง 120 ร้านที่เข้าร่วมโครงการ

“ฉันคิดว่า ปัญหาจริงๆ ที่น่าห่วงก็คือ ยังมีสารเคมีที่เป็นอันตรายอยู่ในผลิตภัณฑ์ ดังนั้น หากเราต้องการเห็นสุขภาพของพนักงานดีขึ้น เราจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากบรรดาโรงงานผู้ผลิต ให้คำนึงถึงการผลิตสินค้าที่มีความปลอดภัย ควบคู่กันไปด้วย” จูเลีย กล่าว