ปวดข้อ

แทบจะไม่มีใครเลยในชีวิตที่ไม่เคยมีอาการปวดข้อ ไม่ว่าจะปวดข้อจากการทำงาน การเล่นกีฬา การเป็นโรคข้ออักเสบชนิดต่างๆ เช่น โรคเกาต์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตนเอง หรือปวดข้อจากการเป็น ส.ว. (ผู้สูงวัย) แล้วมีภาวะข้อเสื่อม หรือกระดูกสันหลังเสื่อม จากการสำรวจในสหรัฐอเมริกา พบความชุกของอาการปวดข้ออยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 ของประชากร อาการปวดข้อเป็นอาการสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว ประกอบกิจวัตรประจำวันได้ไม่เต็มที่ ทำงานได้ไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง

อาการปวดข้อ อาจเป็นเพียงอาการที่ไม่รุนแรง เช่น ปวดข้อเล็กๆ น้อยๆ จากการทำงาน หรือการที่ข้ออยู่ในลักษณะท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน หรืออาจเป็นอาการนำของโรคที่มีความรุนแรง หรือเรื้อรัง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ไปจนกระทั่งเป็นอาการนำของโรคที่มีอาการของอวัยวะหลายระบบ เช่น โรคเอสแอลอี เป็นต้น ดังนั้น อาการปวดข้อจึงเป็นอาการที่สำคัญที่เราควรให้ความสนใจ

มีอาการปวดข้อที่ไม่ได้เกิดจากในข้อ แต่ทำให้เกิดการปวดที่ข้อ ได้แก่ อาการปวดข้อที่เกิดจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อบริเวณข้างเคียงของข้อ เช่น อาการจากเส้นเอ็นที่พาดผ่านข้อ มีการอักเสบ (tendinitis) ปลอกหุ้มเส้นเอ็นอักเสบ  (tenosynovitis) ตำแหน่งที่เส้นเอ็นเกาะยึดกระดูกมีการอักเสบ (enthesitis) พังผืดอักเสบ (fasciitis) หรือถุงน้ำที่อยู่ข้างข้ออักเสบ (bursitis) ซึ่งความผิดปกติเหล่านี้มักทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดว่าเป็นอาการปวดจากข้อ และตัวเองเป็นโรคข้อ กลุ่มที่มีอาการปวดข้อจากความผิดปกติในข้อ เช่น เยื่อบุข้อ น้ำไขข้อ กระดูกอ่อนผิวข้อ อาการปวดนั้นๆ เป็นอาการปวดจากข้อจริง ถ้ามีข้อบวม ร้อน สีเปลี่ยนเป็นสีแดงด้วย ก็เรียกว่ามีอาการข้ออักเสบ (arthritis) ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติที่มีการอักเสบในข้อ พบในโรคข้ออักเสบต่างๆ เช่น โรคเกาต์ โรคข้ออักเสบจากการติดเชื้อ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น ถ้ามีแต่อาการปวดข้อ โดยข้อไม่บวม พบได้เช่น ปวดข้อจากโรคข้อเสื่อม ปวดข้อจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก เป็นต้น

เมื่อคุณมีอาการปวดข้อควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อสืบหาสาเหตุของอาการปวดข้อว่าเกิดจากโรคอะไร หรือภาวะอะไร เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง จะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ในการไปพบแพทย์เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการปรึกษาแพทย์ คุณควร

  1. ซื่อตรง : ควรเล่ารายละเอียดของการเจ็บป่วย อาการปวดข้อให้แพทย์ผู้รักษาฟังอย่างละเอียด ว่าปวดข้อไหน เริ่มตั้งแต่เมื่อไร เริ่มอย่างไร ปวดอย่างไร มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เป็นมากเวลาไหน บรรเทาลงอย่างไร รักษาหรือทานยาอะไรมาแล้ว ผลเป็นอย่างไร เมื่อแพทย์ถามข้อมูลเพิ่มเติมอย่างไร ก็เล่าไปตามจริง เท่าที่จะนึกได้ จำได้ มีอาการอื่นอะไรร่วมด้วย เช่น มีผื่นขึ้น มีไข้ มีตาแดง มีอ่อนเพลีย มีแผลในปาก หรือไม่มีอาการร่วม มีทานยาอะไรอยู่ หยุดยาเมื่อไร
  2. สอบถาม อย่ากลัวที่จะสอบถามเวลาที่แพทย์ให้ถามในระหว่างปรึกษาแพทย์ แม้คุณอาจคิดว่ามันเป็นคำถามโง่ๆ แต่แพทย์จะยินดีที่คุณถาม คุณอาจเขียนคำถามเอาไว้ล่วงหน้าเพื่อจะได้ไม่ลืมที่จะถามแพทย์ นี่เป็นตัวอย่างคำถามที่ผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อ มักถามแพทย์

อาการปวดข้อเกิดจากสาเหตุใด

ควรปฏิบัติตัวอย่างไรให้โรคดีขึ้น

การรับประทานยา หรือรับการรักษาจะใช้เวลานานแค่ไหน

จะมีอาการข้างเคียงจากการรักษาอะไรบ้าง จะติดตามสังเกตอาการข้างเคียงได้อย่างไร

ควรทำอย่างไร หากมีอาการปวดข้อมากขึ้น

การออกกำลังกาย แบบใดจะเป็นประโยชน์สำหรับโรคของฉัน

การทำกายภาพบำบัดเหมาะกับฉันไหม ถ้าต้องทำควรจะเริ่มทำเมื่อใด

  1. พูด หากคุณมีข้อกังวลใจใดๆ เกี่ยวกับภาวะ โรคและการรักษา ควรพูดออกมา เพื่อผู้รักษาจะสามารถให้ความมั่นใจกับคุณและ/หรือ หารือเกี่ยวกับทางเลือกในการรักษา
  2. ฟัง พยายามจดจำคำแนะนำที่ได้รับจากแพทย์ผู้รักษา หรือบอกญาติที่ไปด้วยให้ช่วยกันจำ
  3. อ่าน พยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่คุณเป็น การรักษา ยา และขั้นตอนของการรักษาเพิ่มเติมให้มากที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการปวดข้อจากโรคเรื้อรัง จะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคอย่างมาก

 

เรื่องปวดข้อ     เป็นเรื่องใหญ่   ให้ตระหนัก

อย่ามัวรัก                     ษาตัวเอง          เกรงใจหมอ

อย่าอดทน                    จนข้อติด          เริ่มบิดงอ

อย่ารีรอ                        หมอช่วยได้      ให้รีบเอย