ส่องคู่มือ การใช้ยาสมุนไพร ดูแลตัวเองเบื้องต้น เมื่อทราบผลว่าเป็นโควิด

ส่องคู่มือ การใช้ยาสมุนไพร ดูแลตัวเองเบื้องต้น เมื่อทราบผลว่าเป็นโควิด
ส่องคู่มือ การใช้ยาสมุนไพร ดูแลตัวเองเบื้องต้น เมื่อทราบผลว่าเป็นโควิด

ส่องคู่มือ การใช้ยาสมุนไพร ดูแลตัวเองเบื้องต้น เมื่อทราบผลว่าเป็นโควิด

จากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิดระลอกสามที่กำลังเกิดขึ้น ณ ขณะนี้ ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้เผยแพร่ คู่มือการดูแลสุขภาพสำหรับประชาชน ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม 

ซึ่งในคู่มือนี้ ได้แนะนำ วิธีการดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อทราบผลว่าเป็นโควิด-19 ดังนี้ 

1. เตรียมที่พักและอุปกรณ์ให้พร้อม ได้แก่ แยกห้องนอนและห้องน้ำออกจากผู้อื่น (เลือกห้องพักที่โปร่งอากาศถ่ายเท แสงแดดเข้าถึง), แยกของใช้ส่วนตัว จัดหาอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ (ปรอทวัดไข้ แอลกอฮอล์เจล หน้ากากอนามัย สบู่) และอุปกรณ์ทำความสะอาดส่วนตัว (ถุงขยะ ถังขยะ สารฟอกขาว น้ำยาทำความสะอาด)

2. มีการวัดไข้ และสังเกตอาการสม่ำเสมอ หากมีอาการไข้สูง หรือมีอาการหายใจลำบาก ให้แจ้งสถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือ อสม.

3. การใช้ยาสมุนไพร 

3.1 ยาฟ้าทะลายโจรแคปซูล ครั้งละ 2-4 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน ทันทีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโควิด-19 ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และผู้ที่มีประวัติแพ้ฟ้าทะลายโจร ไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี

หมายเหตุ : ขนาดในการแนะนำนี้คำนวณจากผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรอภัยภูเบศร ใน 1 แคปซูลมีสารแอนโดรกราโฟไลด์ 12 มิลลิกรัมต่อแคปซูล 

3.2 ดื่มนำขิงแก่อุ่นๆ ในช่วงเช้า ครั้งละ 1 แก้ว เพื่อช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน 

3.3 ยาอมหรือยาแก้ไอมะขามป้อมเมื่อมีอาการไอ หากมีอาการเสมหะข้นให้จิบชาชงมะขามป้อมตลอดทั้งวัน หรือจิบน้ำมะนาวแทรกเกลือ (หลีกเลี่ยงการใช้เกลือในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง) เมื่อไม่มีอาการแล้วหยุดได้

3.4 ยาขิงแคปซูล รับประทานครั้งละ 2-3 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง เมื่อมีน้ำมูก ไม่มีอาการแล้วให้หยุดได้ (ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดีและเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี)

3.5 การสูดดมยาต้มที่ประกอบด้วยเครื่องเทศ ไม่ว่าจะเป็น ขิง หอมแดง ตะไคร้ โหระพา กะเพรา กระเทียม โดยอาจผสมเครื่องเทศทุกชนิด หรือเลือกเฉพาะชนิดใดชนิดหนึ่งที่หาได้ง่ายเพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก 

3.6 การล้างจมูกด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ เมื่อมีน้ำมูกหรือคัดจมูก 

4. การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม 

นอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง, ดื่มน้ำให้พอเพียงตลอดทั้งวัน 1.5-2 ลิตร โดยหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็น, ออกกำลังกายในช่วงแสงแดดอ่อนๆ และพยายามขยับเขยื้อนร่างกายให้มากเพื่อให้เลือดลมไหลเวียนดี และรับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย เน้นการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของผัก ผลไม้ และเครื่องเทศ 

เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ.2564