“เพชรสังฆาต” สมุนไพรเพิ่มมวลกระดูกให้ชาววัยทอง

“เพชรสังฆาต” สมุนไพรเพิ่มมวลกระดูกให้ชาววัยทอง

“เพชรสังฆาต” –  สมุนไพรไทยที่เอามาเล่าสู่กันฟังเรื่อง “ชะลอวัย ไกลโรค” เพื่อต้อนรับ “สังคมผู้สูงอายุ” ของไทย ถ้าจะเรียกให้เท่ๆ ต้องบอกว่า “สังคมอายุวัฒนะ” เหมือนสังคมที่เจริญแล้วในตะวันตก ในที่นี้ขอประเดิมด้วย “เพชรสังฆาต” สมุนไพรใช้รุกฆาตโรคกระดูกเสื่อม กระดูกพรุน อันเป็นโรคประจำสังขารของคนวัยชราทั้งชายและหญิง

ในคัมภีร์แพทย์แผนไทยให้ความสำคัญกับ “อัฐิธาตุ” หรือ “ธาตุกระดูก” ในฐานะที่เป็น “ปฐวีธาตุ” หรือ “ธาตุดิน” ซึ่งเป็นธาตุโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งที่สุดที่ช่วยพยุงร่างกายให้มีรูปทรงตั้งอยู่ได้

ในทางกระดูกวิทยา (Osteology) กล่าวว่า การสะสมแคลเซียมเพื่อเสริมสร้างกระดูกสูงสุดอยู่ในช่วงวัย 14 ปี สำหรับผู้หญิง และวัย 16 ปี สำหรับผู้ชาย ซึ่งตรงกับช่วงสิ้นสุดปฐมวัยตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทย แต่กระดูกยังสามารถเสริมความหนาตัวได้อีกจนถึงอายุ 30 ปี จากนั้นจึงค่อยๆ เสื่อมลงโดยจะสูญเสียมวลกระดูกไปประมาณปีละ 0.5-1% ทั้งชายและหญิง

นี่กระมังเป็นเหตุให้คัมภีร์แพทย์แผนไทยกล่าวไว้ใน “วัยสมุฏฐาน” ว่าเมื่อคนเราอายุราว 30-32 ปีก็เข้าสู่แดนปัจฉิมวัย อันเป็นวัยที่กระดูกเริ่มเสื่อมนั่นเอง

 

“เพชรสังฆาต” เป็นสมุนไพรที่ใช้บำรุงกระดูกมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในพระคัมภีร์สรรพลักษณะ สรรพคุณแลมหาพิกัดที่มีมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยากล่าวถึงสรรพคุณของ “เพชรสังฆาต” ไว้ว่า “เพชรสังฆาต แก้จุกเสียด แก้บิด แก้ปวดในข้อในกระดูก ชอบแก้ลมทั้งปวงแล”

ในตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม ของกองประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “เพชรสังฆาต” มีสรรพคุณ แก้กระดูกแตก หัก ซ้น ขับลมในลำไส้ แก้ริดสีดวงทวารหนัก

ส่วนหมอพื้นบ้านนั้นใช้เถาตำละเอียดเป็นยาพอกบริเวณกระดูกหัก ช่วยลดอาการบวม อักเสบได้ น้ำคั้นจากเถาดื่มแก้เลือดออกตามไรฟัน แก้โลหิตระดูสตรีไม่ปกติ รักษาริดสีดวงทวารที่เริ่มเป็นระยะแรก

ด้วยสรรพคุณรักษากระดูกและข้อกระดูกนี่เอง “เพชรสังฆาต” จึงมีชื่อเรียกว่า “สามร้อยต่อ”(ประจวบคีรีขันธ์) ซึ่งบ่งถึงเอกลักษณ์ของเถาเพชรสังฆาตที่มีลักษณะเป็นข้อๆ สั้นๆ ขนาดยาวราวข้อละ 6-9 เซนติเมตรโดยเรียงต่อกันคล้ายสายโซ่ยาวสีเขียว

และยังน่าจะหมายถึงกระดูก 300 ชิ้น ตามพระคัมภีร์โรคนิทาน หรือในธรรมปฏิบัติของหลวงปู่สิม พุทธาจาโร แห่งสำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง จ.เชียงใหม่ ก็มักสอนให้พิจารณากระดูก 300 ท่อน เช่นกัน อันน่าจะเป็นที่มาของชื่อ “สามร้อยต่อ”

บางท้องถิ่นเรียกเถาสมุนไพรตัวนี้ว่า “ขันข้อ” (ราชบุรี) เพราะมีสรรพคุณช่วยขันข้อกระดูกให้แน่นนั่นเอง

ปัจจุบันได้มีงานวิจัยพบว่า “เพชรสังฆาต” (ชื่อวิทยาศาสตร์ Cissus guadrangularis L.) มีวิตามินซีสูงมาก ซึ่งยืนยันสรรพคุณรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน อุดมด้วยแคโรทีนซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

ที่สำคัญมีองค์ประกอบของแคลเซียมสูงมาก รวมทั้งสารอนาโบลิก สเตียรอยด์ (Anabolic Steroids) มีฤทธิ์เร่งปฏิกิริยาการสมานกระดูกที่แตกหักโดยกระตุ้นการสร้างเซลล์ออสเตโอบลาสต์ (Osteoblast) ซึ่งทำหน้าที่สร้างกระดูกและยังช่วยให้มีการสร้างสารมิวโคโพลีแซกคาไรด์ (Mucopolysaccharides) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการสมานกระดูก ยิ่งกว่านั้นสารคอลลาเจน (Collagen) ในเพชรสังฆาตยังเป็นสารอินทรีย์โปรตีนที่มาจับตัวกับผลึกแคลเซียมฟอสเฟตจนกลายเป็นกระดูกแข็งที่สามารถรับน้ำหนักและมีความยืดหยุ่นในตัวเอง

ผลการทดลองใช้เถาเพชรสังฆาตในสตรีวัยทองซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะกระดูกพรุน พบว่าช่วยเพิ่มมวลกระดูกและรักษากระดูกแตก กระดูกหักได้ ในขนาดรับประทาน ครั้งละ 2 แคปซูล (น้ำหนักแคปซูลละ 250 มิลลิกรัม) วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร

สำหรับการใช้แบบพื้นบ้าน ให้นำเถาเพชรสังฆาตลักษณะไม่แก่ไม่อ่อนสีเขียวเข้ม มา 1 ข้อ นำไปสอดในกล้วยน้ำว้าสุกที่เจาะรูนำร่องไว้แล้ว หั่นซอยเป็น 3 ท่อนเท่าๆ กัน (ความยาวท่อนละ 2-3 ซ.ม.) แบ่งรับประทานครั้งละ 1 ท่อน วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร คำเตือนการรับประทานให้ใช้วิธีกลืน ห้ามเคี้ยว เพราะผลึกแคลเซียมอ็อกซาเลต (Calcium Oxalate) ในเถาเพชรสังฆาตสดมีฤทธิ์คันคอและระคายเยื่อบุในปากแต่ไม่ระคายกระเพาะอาหาร

แต่ห้ามรับประทานติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์เพราะอาจก่อให้เกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยโรคไตห้ามรับประทานเช่นกัน

“เพชรสังฆาต” เป็นสมุนไพรเถาเลื้อยตระกูลเถาองุ่น มีลักษณะเป็นข้อปล้องสี่เหลี่ยม ครีบสีเขียวสดใสสวยงาม เหมาะปลูกเป็นไม้ประดับบ้าน ปลูกง่ายโตเร็ว

สามารถนำมาคั้นเอาน้ำผสมน้ำมะนาว และน้ำผึ้ง เติมเกลือเล็กน้อยตามสูตรของอภัยภูเบศร ดื่มได้รสชาติดีไม่ระคายคอ เพราะกรดมะนาวช่วยสลายผลึกแคลเซียมอ็อกซาเลต

ดื่มวันละแก้วติดต่อกันได้ทุกวันเหมือนดื่มน้ำผลไม้ทั่วไป เป็นการเสริมแคลเซียมและคอลลาเจนให้ร่างกายเพื่อเพิ่มมวลกระดูกให้แข็งแรง