“ขนมเปี๊ยะ เอเชีย เบเกอรี่ฯ” ราคาสบายกระเป๋า เข้าถึงง่าย ขวัญใจแดนอีสาน

“ขนมเปี๊ยะ เอเชีย เบเกอรี่ฯ” ราคาสบายกระเป๋า เข้าถึงง่าย ขวัญใจแดนอีสาน

ขนมเปี๊ยะเอเชีย – ท่ามกลางสินค้ากลุ่มขนมเปี๊ยะและเบเกอรี่ที่มีผู้ผลิตในตลาดจำนวนมาก เอสเอ็มอีรายเล็กๆ ใน จ.นครราชสีมา อย่าง “เอเชีย เบเกอรี่ by เลาหะ” ของ คุณสุพจน์ เลาหะภควัต สามารถสร้างตัวจนเป็นขวัญใจผู้บริโภคชาวอีสานได้อย่างดี

คุณสุพจน์ เลาหะภควัต วัย 43 ปี เจ้าของกิจการ ขนมเปี๊ยเอเชียฯ

คุณสุพจน์ เจ้าของธุรกิจ ได้เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมีกิจการในทุกวันนี้ ย้อนกลับไป 13 ปีที่แล้ว ครอบครัวของเขาโดยมีคุณพ่อและพี่ชาย ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายขนมเปี๊ยะสูตรประจำตระกูลอยู่แล้ว คุณสุพจน์ในตอนนั้น ก็มีโอกาสได้เข้าไปทำงานเป็นพนักงานในโรงงาน เรียนรู้กระบวนการผลิตทุกอย่าง ตั้งแต่การผลิต บริหารงาน ไปจนถึงวิธีการขาย

“ส่วนตัวผมฝันไว้ว่า วันหนึ่งจะต้องมีโรงงานขนมเปี๊ยะเป็นของตนเองเหมือนกัน พอได้เข้าไปทำงานในโรงงานของพี่กับพ่อ ก็อาศัยสังเกตจุดเด่นต่างๆ จากพ่อและพี่ชาย ว่าเขาทำยังไรขนมของเขาถึงประสบความสำเร็จ ก็ค่อยๆ เรียนรู้และสังเกต จนรู้และเข้าใจว่าเขาทำยังไง จนปี 60 พี่ชายให้ทุนมาก้อนหนึ่ง ให้มาซื้อที่เปิดโรงงานเองที่นครราชสีมา” คุณสุพจน์ เล่าให้ฟัง

จุดเด่นที่เถ้าแก่โรงงานขนมเปี๊ยะและเบเกอรี่น้องใหม่วางเอาไว้ คือ ต้องมีความหลากหลาย ตั้งแต่ขนมโบราณไปจนถึงขนมปังที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน อย่าง แซนด์วิช อีกทั้งต้องใช้วัตถุดิบคุณภาพดี ผลิตสะอาด ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ แต่ขายในราคาสบายกระเป๋า ก็จะช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้ง่าย และแจ้งเกิดในตลาดได้ โดยคุณสุพจน์ กล่าวว่า เขามุ่งเน้นตีตลาดขายส่งให้ผู้ค้ารายย่อย ร้านโชห่วย นำไปขายต่อให้ผู้บริโภคท้องถิ่น

ด้วยการทำตลาดแบบเข้าใจผู้บริโภค มุ่งความสำคัญด้านมาตรฐานคุณภาพ แต่ขายในราคาสบายกระเป๋า “เอเชีย เบเกอรี่ by เลาหะ” จึงได้รับเสียงตอบรับที่ดีได้อย่างรวดเร็ว จนปัจจุบัน มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนสินค้ามีความหลากหลาย มีทั้งผลิตเองและหาพันธมิตร รวมกว่า 200 ชนิด โดยราคาเริ่มต้นเพียง 5 บาทเท่านั้นเอง!

“ตอนแรกในใจก็หวั่นๆ อยู่เหมือนกันว่าจะเอาเงินจากที่ไหนมาคืนพี่ แต่ด้วยสิ่งที่คิดว่า ของดี บริการดี แต่ขายไม่แพง จะทำให้เราซื้อใจลูกค้าได้ จุดสำคัญที่ทำให้ลูกค้าขยายวงกว้าง มาจากความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ส่งของ 100 ชื้น ก็คือ 100 ชื้น ถ้าเกิดความเสียหายจากการขนส่ง ก็ซื้อคืนหมด แล้วผมก็ให้ความสำคัญกับเวลามาก ทุกอย่างต้องตรงเวลา ส่วนเครดิตก็เป็นสิ่งสำคัญ ซื้อสดขายสดไม่มีผิดชำระ แม้เราจะเป็นโรงงานขนาดเล็ก แต่ผมดีใจนะที่ธุรกิจนี้ ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน สร้างเงิน สร้างรายได้ พนักงานทุกคนคือคนในครอบครัว ผมให้เกียรติทีมงาน ให้ความไว้วางใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” เจ้าของธุรกิจ เล่ามาอย่างนั้น

นอกจากกลยุทธ์ในการบริหารโรงงานและการตีตลาดแล้ว กองหนุนที่ช่วยให้โรงงานเบเกอรี่เล็กๆ สามารถจะยกระดับการผลิตสินค้าได้คุณภาพมาตรฐาน คือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ที่มาช่วยเติมทุนเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร พร้อมแนะนำให้เข้าสู่มาตรฐานอาหารถูกสุขลักษณะ ช่วยให้ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ส่งเสริมให้ยอดขายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

“ตอนนั้น ธุรกิจผมกำลังโตอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องใช้เงินทุนขยายกิจการ มีรุ่นน้องแนะนำให้ผมรู้จัก ธพว. ว่านี่เป็นธนาคารเพื่อช่วยเอสเอ็มอี ผมก็ได้เงินทุนมาเสริมสภาพคล่องและพัฒนาระบบมาตรฐาน อย. ซึ่งตอนนั้นผมก็คิดอะไรไม่ออกว่า การจะเข้าสู่มาตรฐาน ต้องเข้าไปติดต่อหน่วยงานไหน และการไปก็ต้องใช้เวลาด้วย ซึ่งการทำธุรกิจเวลาเป็นสิ่งสำคัญ แต่ด้วยเราที่เป็นลูกค้ารายใหม่ เจ้าหน้าที่เขาก็ช่วยเป็นธุระ แจ้งนัดหมายให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดเข้ามาให้คำแนะนำถึงโรงงานเลย ผมเลยได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้องในการสร้างไลน์การผลิตตามที่กฎหมายกำหนด ตอนนี้โรงงานผมก็ได้รับมาตรฐาน อย. เป็นที่เรียบร้อย ทำให้กิจการผมมียอดขายเพิ่มขึ้น 30% เลย” คุณสุพจน์ กล่าว

แต่ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบฉันใด การทำธุรกิจก็ไม่ได้ราบรื่นฉันนั้น เพราะคุณสุพจน์เองก็ต้องเจอเข้ากับวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีถ้วนหน้าเช่นกัน

“โควิด-19 ส่งผลกระทบยอดขายหายไปประมาณ 40% ดังนั้น เราต้องมาย้อนดูธุรกิจของเรา จะรับมือกับมันอย่างไรดี ผมไม่คิดจะให้พนักงานออกเลย ทุกคนต้องอยู่ครบ ผมใช้วิธีช่วยกันลดค่าใช้จ่าย ให้ทุกคนสลับเวลาการมาทำงาน ปรับลดโอที ถึงค่าตอบแทนจะน้อยลงแต่ถ้าเศรษฐกิจกลับมาปกติ ผมก็จะให้ค่าตอบแทนพวกเขาเหมือนเดิม” คุณสุพจน์ เล่าวิธีการบริหารเพื่อผ่านวิกฤตโควิด-19

นอกจากด้านเงินทุนแล้ว ในยามประสบวิกฤตโควิด-19 ธพว. ยังคอยอยู่เคียงข้างช่วยเหลือธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ยังให้คำแนะนำการวางแผนธุรกิจ การเตรียมความพร้อมให้ธุรกิจ Scale up และส่งเสริมนำระบบ IT มาใช้ในธุรกิจ เพื่อเพิ่มความสะดวก และตอบโจทย์ตลาดในยุคใหม่ได้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ธุรกิจ “เอเชีย เบเกอรี่ by เลาหะ” สามารถจะเป็นขนมขวัญใจลูกค้าอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

 

เผยแพร่ครั้งแรก วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2563