ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ในเมื่อเงินลงทุนมีไม่มาก อีกทั้งจำต้องใช้สอยอย่างประหยัด เป็นเหตุให้เกษตรกรผุดไอเดียเลี้ยงปลาสลิดในบ่อปูนซีเมนต์ ลงทุนต่ำ สามารถควบคุมได้ทุกอย่าง ปลาสลิดมีอัตราการรอดมากถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีศัตรูธรรมชาติเข้ามาทำร้ายปลา สร้างรายได้ตลอดปี
ปลาสลิดเป็นปลาน้ำจืดพื้นบ้านของประเทศไทย ซึ่งมีแหล่งกำเนิดอยู่ในลุ่มภาคกลาง มีรูปร่างลักษณะคล้ายปลากระดี่หม้อแต่ขนาดโตกว่า ปัจจุบันปลาชนิดนี้เป็นที่นิยมรับประทาน ในรูปของปลาสลิดแดดเดียว ซึ่งแหล่งผลิตและแปรรูปที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก คือ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
คุณประวิง แดงโชติ เป็นคนที่รักในอาชีพเกษตรกรรม พยายามพัฒนารูปแบบการทำการเกษตรต่างๆ โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงปลา ซึ่งหลังจากออกมาสร้างครอบครัว คุณประวิงได้มายึดอาชีพ และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
คุณประวิง เล่าให้ฟังว่า ตัวเองเป็นคนที่ชอบจับสัตว์น้ำ แต่ละวันจะออกไปจับสัตว์น้ำตามแม่น้ำและคลองต่างๆ ขึ้นมาจำหน่ายและนำมาปรุงเป็นอาหาร ซึ่งแต่ละครั้งการออกไปจับสัตว์น้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ค่อนข้างที่จะเหนื่อยและลำบาก ตนจึงมีแนวความคิดที่จะเลี้ยงเองโดยที่ไม่ต้องไปรบกวนสัตว์น้ำธรรมชาติที่นับวันจะยิ่งลดน้อยลงไป
“ด้วยสภาพแวดล้อมและพื้นที่ที่ผมมีอยู่เพียง 2 ไร่ จะเลี้ยงใหญ่ๆ แบบคนอื่นเขาก็ยาก อีกอย่างเงินลงทุนก็มีไม่มากพอ แรกๆ ผมเลยเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก แต่ก็เลี้ยงมาได้ระยะหนึ่ง บ่อเกิดชำรุด ใช้งานได้เพียง 1 ปี การจับแต่ละครั้งก็ค่อนข้างจะลำบาก อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในเรื่องของอาหารที่ให้ในแต่ละวัน หากให้น้อยเกินไปปลาก็จะไม่เจริญเติบโตได้ขนาด ให้มากไปต้นทุนด้านอาหารก็จะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เราไม่สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ จากนั้นก็เปลี่ยนมาเพาะเลี้ยงกบในบ่อปูนซีเมนต์แทน ซึ่งแต่ละวันสามารถจับกบขายได้วันละ 10 กก. แต่ก็ทำมาได้ระยะสั้นๆ ต้องมีปัญหาเรื่องราคาขาย ต้องกลับมาเพาะเลี้ยงปลาอีกครั้งหนึ่ง แต่การกลับมาเลี้ยงปลาครั้งนี้ ผมได้เลือกชนิดปลาที่ใช้เงินลงทุนน้อย มีการดูแลที่ไม่ยาก ได้กำไรคุ้มค่าและสามารถเลี้ยงในบ่อปูนซีเมนต์ที่เป็นบ่อเพาะเลี้ยงกบเดิมได้”
คุณประวิง ใช้เวลาศึกษาและคัดเลือกปลาชนิดใหม่ พร้อมกับปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงให้เข้ากับพื้นที่และสภาพแวดล้อมอยู่ 3 ปี จนกระทั่งได้ปลาที่ตรงกับความต้องการและเหมาะสมกับสภาพบ่อเพาะเลี้ยงเดิมที่เตรียมไว้ อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้เข้ามาใช้จ่ายในครอบครัวได้ตลอดทั้งปี ซึ่งปลาที่ว่า คือ ปลาสลิด
เหตุผลที่คุณประวิงเลือกปลาสลิด ก็เพราะว่าเป็นปลาที่ เลี้ยงง่าย กินน้อย ลงทุนครั้งเดียวสามารถต่อยอดได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งพื้นที่เพาะเลี้ยงไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำธรรมชาติเหมือนกับการเลี้ยงในบ่อดินขนาดใหญ่ พื้นที่เล็ก หรือในบ่อปูนซีเมนต์ก็ทำได้ ช่วยลดพลังงานในการที่จะนำมาใช้ได้มาก
“ผมปรับบ่อเพาะเลี้ยงกบซึ่งเป็นบ่อปูนซีเมนต์ที่สร้างอยู่ติดกับตัวบ้าน ใช้ทำบ่อเพาะเลี้ยง เนื่องจาก พื้นที่เพาะเลี้ยงเราอยู่ห่างจากแหล่งน้ำมาก การหาน้ำมาใช้เพาะเลี้ยงจึงค่อนข้างยาก การประยุกต์ใช้บ่อปูนซีเมนต์ที่สร้างอยู่ติดกับตัวบ้านทำเป็นบ่อเลี้ยง โดยอาศัยหลังคาบ้านเป็นตัวรวบรวมน้ำฝนที่ตกลงมาในช่วงหน้าฤดูฝนลงมายังบ่อเพาะเลี้ยงทำให้ผมไม่เดือดร้อนเรื่องน้ำ เพราะ 1 ปี ถ่ายน้ำเพียง 1 ครั้งเท่านั้นสำหรับการเลี้ยงปลาสลิด
บ่อเพาะเลี้ยง จะใช้บ่อที่มีความสูงประมาณ 60 เซนติเมตร ความกว้างขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ ก้นบ่อเลี้ยงจะรองด้วยดินและมูลควาย หมักทิ้งไว้ประมาณ 10 วัน จากนั้นปล่อยน้ำเข้าประมาณ 40-50 เซนติเมตร (ครั้งแรกที่เริ่มเลี้ยง) พอบ่อเพาะเลี้ยงพร้อม ก็นำพ่อแม่พันธุ์จำนวน 1 กิโลกรัม มาปล่อยในบ่อ
แต่ละวันจะให้อาหารเม็ด วันละ 1 มื้อ (08.00-09.00 น.)เนื่องจากภายในบ่อเราสร้างระบบธรรมชาติโดยการทำปุ๋ยหมักให้เกิดไรแดง พร้อมกับปลูกพรรณไม้น้ำเพื่อช่วยบำบัดน้ำและเป็นอาหารของปลาอีกทางหนึ่งเพื่อช่วยลดต้นทุนด้านอาหาร
การเลี้ยงปลาสลิดในบ่อปูนซีเมนต์ คุณประวิง บอกว่า เป็นการเลี้ยงที่ไม่มีความเสี่ยงอะไร สามารถควบคุมได้ ทั้งอาหาร อัตราการรอดที่มีมากถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญศัตรูธรรมชาติก็ไม่สามารถเข้ามาทำลายได้ การจับจำหน่ายก็ทำได้ง่าย แต่เมื่อเลี้ยงไประยะหนึ่ง ปลาที่ปล่อยจะขยายพันธุ์ ทำให้ประชากรในน้ำมีเพิ่มมากขึ้น หากปล่อยไว้ก็จะทำให้น้ำเสีย ต้องควบคุมจำนวนประชากรให้เหมาะสมกับขนาดบ่อเลี้ยง
“การเลี้ยงปลาสลิด ต้องใช้ระยะเวลาเลี้ยงนานพอสมควรกว่าจะจับขายได้ ซึ่งโดยทั่วไปจะอยู่ประมาณ 8 -10 เดือน ทำให้ในระหว่างนั้นจะมีประชากรปลาที่เกิดใหม่ขึ้น หากปล่อยเลี้ยงไว้ในบ่อก็จะทำให้น้ำเสียเร็วขึ้น ปลาใหญ่แย่งอาหารปลาเล็ก ดังนั้น พอปลาใหญ่วางไข่และให้ลูกแล้ว ผมจะเริ่มจับปลาใหญ่ขายไปและเพาะเลี้ยงปลาเล็กที่เกิดใหม่เป็นรุ่นต่อไปในบ่อเลี้ยงเดิม โดยที่ไม่ต้องล้างหรือทำความสะอาดบ่อใหม่ อาศัยการเติมน้ำในช่วงฤดูฝนครั้งละ 1 ปี เท่านั้น แต่ด้วยปริมาณลูกปลาที่เกิดมาแต่ละครั้งค่อนข้างเยอะ จะเลี้ยงในบ่อเดียวไม่ได้ จึงแยกไปเลี้ยงให้เหมาะสมกับขนาดบ่อที่เลี้ยง”