ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ทุเรียนหนึ่งเดียวของภาคเหนือคือ “ทุเรียนหลงลับแล” ของอุตรดิตถ์ เดือนกุมภาพันธ์ ทุเรียนหลงลับแลที่สวนกำลังติดช่อดอกตูมๆ ถึงติดดอก ก็กะเอาตามหลักวิชาการทุเรียนจะใช้เวลาตั้งแต่ดอกบานถึงผลสุกแก่ประมาณ 100-120 วัน แต่พันธุ์หมอนทองจะยาวถึง 135 วัน
คงเป็นเพราะต้องสร้างลูกสร้างผลใหญ่ พันธุ์ลูกเล็กๆ อย่างกระดุม หรือแม้แต่หลงลับแลก็จะใช้เวลาประมาณ 100 วัน ถ้าเดือนธันวาคมเริ่มแตกตาออกอีก 2 เดือน เดือนกุมภาพันธ์ดอกจะเริ่มบาน และอีก 3 เดือน ผลถึงจะแก่คือ พฤษภาคม-มิถุนายน ทีนี้ก็จะไล่เรียงกันไปแต่ละต้น ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล คือทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ได้รับการยอมรับและรับรองพันธุ์ว่าเป็นทุเรียนพื้นเมืองที่มีคุณสมบัติโดดเด่นที่สุด ก็จะออกมาให้ผู้คนลิ้มรส สมดังรอคอยมาเป็นปี
“ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล” ถูกค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2520 จากการประกวดทุเรียนที่ปลูกด้วยเมล็ด ที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และจังหวัดอุตรดิตถ์ มีชาวสวนนำทุเรียนเข้าประกวดมากมาย
ซึ่งในปีนั้น ทุเรียนหลงลับแล กำลังเป็นที่เล่าลือ กล่าวขานถึงกันมาก เป็นสินค้าเกษตรที่บอกเล่ากันมาว่า คนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้กิน คือเป็นผลผลิตเกษตรที่มีราคาดี เป็นที่ชื่นชอบ นิยมที่จะซื้อเป็นของฝาก หลายคนต่างก็มีผลทุเรียนของตนเองที่แตกต่างกัน เพราะทุเรียนที่ปลูกด้วยเมล็ดต่างก็ไม่รู้หรอกว่ามีความเด่น หรือมีจุดด้อยอย่างไร จนคณะกรรมการการประกวด ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วน มอง 360 องศา ได้ตัดสินให้ทุเรียนของ นายสม-นางหลง อุปละ ชนะเลิศได้รับรางวัลยอดเยี่ยม เมื่อมีการตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว พบว่ามีความนิ่งในคุณสมบัติต่างๆ ทั้งเนื้อ รสชาติ ขนาด ลักษณะผล ต้น ใบ และยังคงรักษาคุณภาพดีเด่นนี้ไว้ได้ จึงมีการรับรองพันธุ์ เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2521 คณะกรรมการรับรองพันธุ์ได้ตั้งชื่อพันธุ์ทุเรียนนี้ว่า “หลงลับแล”
ได้มีการสืบค้นประวัติ ต้นแม่ที่ปลูกอยู่ในสวน พบว่าคนเดิมที่ปลูกทุเรียนต้นนี้คือ “นายมี หอมตัน” ปลูกทำสวนที่ม่อนน้ำจำ บ้านผามูบ ตำบลแม่พูล เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2479 ต่อจากนั้นทุเรียนสวนนายมี หอมตัน ได้เปลี่ยนเจ้าของมาเป็น “นายสม และ นางหลง อุปละ” ซึ่งสวนนี้มีต้นไม้ต่างๆ มากมาย มีทุเรียนอยู่นับสิบต้น และมีทุเรียนต้นพิเศษอยู่ต้นหนึ่ง มีลักษณะแตกต่างไปจากต้นอื่น รสชาติดี เมล็ดลีบ ก็คือต้นที่นำผลมาประกวดจนชนะเลิศนี้
ทุเรียนที่ นายสม-นางหลง ส่งเข้ามาประกวดนั้น ดังที่บอกว่ามีความพิเศษแตกต่างจากต้นอื่น เป็นทุเรียนที่มีเมล็ดลีบ หาเมล็ดดีๆ ที่จะขยายพันธุ์ยาก แทบไม่มีเมล็ดดีเลย สมัยนั้นเรียก “ทุเรียนเมล็ดตาย” ทุเรียนต้นนั้น ปลูกขึ้นอยู่ริมห้วยบนม่อนน้ำจำ มีเนื้อในสีเหลืองค่อนข้างจัด มีเจ้าของชัดเจน สมัยนั้นมีคนเรียกชื่อว่า “ทุเรียนต้นห้วยในเหลืองสัญญา” คำว่า สัญญา คือมีคนเป็นเจ้าของรับประกันคุณภาพ ซึ่งขณะนั้น นายสม-นางหลง ขายทุเรียนจากต้นนี้ได้ในราคาที่สูงกว่าต้นอื่น และเชื่อว่าทุเรียนต้นอื่นไม่มีเหมือน แบบว่าต้นนี้เลิศที่สุดในลับแลแล้ว
“ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล” มีคุณสมบัติที่เด่น ชัดเจนแตกต่างจากทุเรียนพันธุ์อื่นๆ เป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง ลักษณะประจำพันธุ์ มีการจัดเรียงกิ่งแบบไม่เป็นระเบียบ แผ่ใบเรียบโคนใบห่อและแผ่ออกทางปลายใบ ใบรูปขอบขนาน ปลายใบฐานใบสอบแหลม ดอกตูมกลมรี ลักษณะผลจะเล็กกลมรี ปลายผลฐานผลป้าน ก้านผลมีขอบนูน หนามเว้าปลายแหลม จุดปลายผลไม่มีหนาม หนามรอบขั้วผลกับส่วนปลายโค้งงอ น้ำหนักผลเฉลี่ย 1.4 กิโลกรัม เนื้อสีเหลือง เนื้อละเอียดเหนียว มีกลิ่นอ่อน รสชาติหวานมันพอดี เนื้อละเอียดไม่มีเส้นใย เมล็ดลีบร้อยละ 97.8 ลักษณะผลกลมรี พูไม่เด่นชัด เปลือกบาง เนื้อแห้ง ลักษณะเด่นคือเนื้อมาก เมล็ดลีบเล็ก บางผลจะมีเมล็ดลีบทั้งผล อายุการเก็บเกี่ยว 100-110 วันหลังดอกบาน ต้นให้ผลอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป อายุ 15 ปี เชื่อว่าจะเป็นช่วงให้ผลดีและมากที่สุด
ดังที่เล่าความถึงทุเรียนพื้นเมืองพันธุ์หลงลับแล ทุเรียนต้นนั้นหมดอายุขัยไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 เมื่ออายุประมาณ 50 ปี แล้ว แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของนักส่งเสริมการเกษตร ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด คติการ และทีมงานนักส่งเสริมการเกษตร โดยการนำของ นายเกรียงไกร คะนองเดชาชาติ เกษตรอำเภอลับแล (ชื่อสกุล และตำแหน่งขณะนั้น) ได้แนะนำให้เกษตรกรอำเภอลับแล นำยอดพันธุ์ทุเรียนหลงลับแล จากต้นเดิมก่อนที่ต้นเดิมจะตาย มาขยายพันธุ์ โดยวิธีการเสียบยอด ได้รับความสำเร็จ ซึ่งทุเรียนต้นเดิมนั้น สูงราว 15 เมตร เส้นรอบวงต้น 1.80 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม ประมาณ 12 เมตร จนขณะนี้ ทุเรียนพันธุ์หลงลับแลได้ขยายปลูกกันแพร่หลายไปทั่วอำเภอลับแล โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลแม่พูล ตำบลฝายหลวง ตำบลนานกกก ขยายถึงอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และอำเภออื่นๆ อีกมาก
ทุเรียนเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ นุ่น-ทุเรียน Bombacaceae ชื่อสามัญ DURIAN ชื่อวิทยาศาสตร์ Durio zibethinus Murr. เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แพร่กระจายแถบเส้นศูนย์สูตร ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า อินเดีย ศรีลังกา ไทย ในไทยคาดว่าคงเข้ามาสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว ระยะแรกๆ เป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง ต้นเก่าแก่มีให้พบเห็นหลายพื้นที่ เช่น จันทบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และที่ลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ปรากฏหลักฐานล่าสุดของทุเรียนลับแล คือพระนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อครั้งเสด็จเมืองลับแล เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2444 กล่าวถึงทุเรียนเมืองลับแลว่า เป็นฤดูที่ทุเรียนสุกมีกลิ่น เห็นว่าเหม็นตลอดไปทั้งนั้น
ปีนี้การปลูกทุเรียนพันธุ์หลงลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพื้นที่ปลูกกว่า 2,300 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว กว่า 1,600 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 1,500 กิโลกรัม ต่อไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 2,500 ตัน ทุเรียนหลงลับแล ก็ยังให้ผลผลิตได้ไม่มากเพียงพอกับความต้องการที่หลายคนใฝ่หา ปีนี้ทุเรียนหลงลับแลเกิดภาวะผันผวนเล็กน้อย เนื่องจากสภาวะภูมิอากาศที่ไม่ค่อยเหมือนปกติ คงจะเริ่มออกสู่ตลาดหลังกำหนดเล็กน้อย แต่ถ้ามีทุเรียนหลงลับแลออกมาช่วงก่อนสงกรานต์นี้ ก็ต้องแนะนำกันว่า ท่านต้องดูดีๆ เกรงจะมีพันธุ์หลงย้อมแมว หลงสวน หรือหลงที่หลงทาง หลงให้เราเสียเงินซื้อ พึงระวัง
ก็ขอฝากเตือนพี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรียน และผู้ประกอบการค้าทุเรียนว่า ผลไม้ที่ชิงออกมาก่อนเขา มักจะได้ราคาดี ทำให้ได้เงินเยอะ แต่ถ้าไม่ดู ไม่คิดให้ถ้วนถี่ว่าถึงเวลาที่ทุเรียนจะให้เก็บเกี่ยวได้แล้วหรือยัง อาจจะมีทุเรียนหลงลับแลที่มีลักษณะกระทบร้อนตอนสงกรานต์เมษายน ทำให้ดูผลดูเปลือกคล้ายว่าสุกแก่กินได้แล้วก็ตัดกันออกมา ถ้าไปเจอลูกที่เนื้อยังไม่เริ่มเปลี่ยนสี เมล็ดยังโตจนโผล่เนื้อออกมาให้เห็น แม้จะผ่าเปลือกได้ง่ายแต่เนื้อยังไม่สุกก็ยังกินไม่ได้
หลายปีที่ผ่านมา ทุเรียนหลงลับแลขายกันกิโลกรัมละ 200-400 บาท ลูกหนึ่ง 300-500 บาท คนซื้อไปอยากลองลิ้มชิมรสก็รอไป จนทนไม่ไหวผ่าดูพบว่ายังไม่สุกแก่ ทิ้งไว้ก็เน่าเสียหาย ยิ่งเอาไปเป็นของฝากผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ คิดดูเถิดพี่น้อง ท่านจะมีความรู้สึกอย่างไร ก็ขอให้ช่วยกันระวังให้ดีๆ จะได้มีทุเรียนหลงลับแลที่มีชื่อเสียง ประดับเป็นเพชรเม็ดงามของอุตรดิตถ์ ประทับอยู่ในความทรงจำและในใจผู้คนตลอดไป