ที่มา | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
ผู้เขียน | บุญฤทธิ์ เผือกวัฒนะ |
เผยแพร่ |
“เห็ดหอม” เป็นอาหารที่มีคุณค่าด้วยสารอาหารมากมาย อุดมไปด้วยแร่ธาตุและกรดอะมิโนจำเป็นต่อร่างกายและมีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ บริโภคได้ทั้งดอกสดและดอกแห้ง คนไทยบางคนบริโภคเห็ดหอมจากต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยก็ผลิตได้แล้ว ผู้เขียนได้ไปชมกิจการการเพาะเห็ดหอมที่จังหวัดลำปาง จึงใคร่เชิญชวนให้คนไทยสนับสนุนและบริโภคเห็ดหอมที่ผลิตโดยเกษตรกรไทยให้มากขึ้นครับ
บ้านปางมะโอ หมู่บ้านเห็ดหอม แห่งเดียวในจังหวัดลำปาง
บ้านปางมะโอ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง มีพื้นที่เพียง 21 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดลำปาง ระยะทางห่างจากตัวจังหวัดลำปาง ตามเส้นทาง สายลำปาง-เด่นชัย 39 กิโลเมตร ก่อนเข้าเขตบ้านปางมะโอ สองข้างทางจะพบเห็นเพิงร้านขายสินค้าเกษตร ทั้งของป่าจำพวก ผักหวานป่า เห็ดป่า และสินค้าเกษตรที่เกษตรกรผลิตขึ้นจากแปลงเกษตร ได้แก่ หน่อหวาย หน่อไม้ เห็ดหอม ฯลฯ
ลักษณะภูมิประเทศของบ้านปางมะโอ ตั้งอยู่บนที่สูงล้อมรอบด้วยแนวเขาทั้งสี่ด้าน ติดเขตอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย สภาพอากาศจึงเย็นสบาย อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 25-28 องศาเซลเซียส
ลักษณะภูมิสังคม เป็นชุมชนที่มีความสามัคคีร่วมมือกันในทุกกิจกรรม มีวิถีชีวิตทางสังคมใกล้ชิดกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ด้วยการลงแขก หรือคนภาคเหนือเรียกว่า “เอามื้อ” คือการช่วยทำกิจกรรมของบ้านหนึ่งก่อน เมื่อเสร็จแล้วก็จะไปช่วยอีกบ้านหนึ่ง เสมือนการตอบแทนกันโดยไม่มีค่าจ้าง ทั้งยังมีการแบ่งปันอาหารให้กัน ปัจจุบัน แม้แต่การผลิตเห็ดหอมตามหัวข้อของบทความนี้ก็ยังเอามื้อกันอยู่ในการอัดก้อนเชื้อเห็ด ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมเชิงเกษตรชุมชน ที่ไม่ค่อยพบเห็นกันมากนักในประเทศไทย
ความเป็นมาของการผลิต เห็ดหอมบ้านปางมะโอ
คุณบุญธรรม สุขพี้ เกษตรกรผู้ผลิตเห็ดหอม และเป็นผู้ประกอบกิจการด้านเห็ดหอม มีตำแหน่งทางการปกครอง เป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 8 อายุ 47 ปี บ้านเลขที่ 41 หมู่ที่ 8 บ้านปางมะโอ ตำบลวังเงิน อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง 52150 โทรศัพท์ (062) 642-3989 ได้เล่าให้ฟังว่า เกษตรกรบ้านปางมะโอเริ่มเพาะเห็ดหอมกันมาตั้งแต่ ปี 2534 ริเริ่มโดย ผู้ใหญ่บ้านประสิทธิ์ วงค์เขียว (เสียชีวิตแล้ว) กับ แม่เล็ก พิชยกุล อดีตประธานกลุ่มสตรีจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านการเพาะเห็ดหอม ได้มาทดลองเพาะเห็ดหอมในหมู่บ้านอยู่ประมาณ 2 ปี มีเกษตรกรทำตามอยู่ 4 คน เมื่อเพาะเห็ดจนผลผลิตออกดอก ก็มีปัญหาผลิตแล้วไม่มีที่ขาย นำออกไปขายก็ไม่มีใครซื้อ เพราะคนในชุมชนไม่รู้จักเห็ดหอม ราคาขายก็สูง ขณะนั้น กิโลกรัมละ 100 บาท ต่อมามี แม่บุญปั๋น วงค์แคะหล้า ประธานกลุ่มแม่บ้านสมัยนั้นได้ไปแสวงหาความรู้คิดค้นสูตรต่างๆ เกี่ยวกับการผลิตเห็ดหอม จนขายได้ กลายเป็นสินค้าใหม่ ขายได้ราคาดีเป็นแรงจูงใจ
“เกษตรกรจากเดิมที่ทำการเกษตรด้านอื่น ต่างก็หันมาเพาะเห็ดหอมกันทั้งหมู่บ้านตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงและเป็นแหล่งผลิตเห็ดหอมเพียงแห่งเดียวในจังหวัดลำปาง” ผู้ใหญ่บุญธรรม กล่าว
ปัจจัยที่เอื้อต่อการเพาะเห็ดหอม
ผู้ใหญ่บุญธรรม กล่าวว่า เห็ดหอมบ้านปางมะโอ ผลิตได้ทั้งปี เนื่องจากสภาพพื้นที่มีอากาศเย็น อุณหภูมิเฉลี่ย 25-28 องศาเซลเซียส มีความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมต่อการเติบโตของเห็ดหอม ดังที่ได้กล่าวมา ผู้ใหญ่บุญธรรมได้พาผู้เขียนไปเยี่ยมชมกิจการการเพาะเห็ดหอม และการแปรรูปเห็ดหอม ซึ่งกำลังขะมักเขม้นผลิตกันอย่างแข็งขัน เริ่มจาก…
วิธีการผลิตเห็ดหอมในอดีตและปัจจุบัน
- โรงเรือนเพาะเห็ดหอม ในอดีตเกษตรกรมักจะเพาะเห็ดหอมกันตามบ้านเรือน เรียกได้ว่าทุกบ้านจะมีพื้นที่เต็มไปด้วยเห็ดหอม จะว่างเว้นเฉพาะทางเดินและที่นอนในบ้านเท่านั้น แต่ปัจจุบันแต่ละครอบครัวได้สร้างโรงเรือน อย่างน้อยครอบครัวละ 2 โรงเรือน ลักษณะโรงเรือนตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น เป็นโรงเรือนเพาะแบบชั้นเดียวและแบบคอนโดฯ ก็มี ฝาผนัง หลังคา มุงด้วยหญ้าคา สามารถป้องกันความร้อนได้ พื้นรองมีทั้งที่เป็นพื้นปูนซีเมนต์และเป็นพื้นดิน แต่ที่สำคัญต้องมีความสะอาดปลอดเชื้อโรค จึงมีการใช้ปูนขาวโรยบริเวณพื้นและรอบๆ โรงเรือน เป็นการป้องกันแมลงและเชื้อโรค
- วัตถุดิบที่ใช้ในการเพาะเห็ดหอม
ผู้ใหญ่บุญธรรม ได้เปิดเผยข้อมูลโดยไม่ปิดบัง ทั้งตอบข้อสงสัยได้อย่างละเอียดของขั้นตอนและส่วนผสมวัตถุดิบในการเพาะเห็ดหอม ดังนี้
- เชื้อเห็ดหอม ปัจจุบันยังต้องสั่งซื้อจากในตัวเมืองลำปางบ้าง จังหวัดลำพูนบ้าง ที่เกษตรกรไม่ผลิตหัวเชื้อเองเพราะยังขาดองค์ความรู้และต้นทุนสูง (หัวเชื้อเห็ดหอม 1 ขวด ใช้เขี่ยเชื้อใส่ก้อนเห็ดได้ 20 ถุง)
- อาหารเชื้อเห็ดหอม ประกอบด้วย
– ขี้เลื่อยไม้ยางพาราแห้ง หรือจากต้นจามจุรี หรือกระถินณรงค์ จำนวน 100 กิโลกรัม
ผู้ใหญ่บุญธรรม บอกว่า ใช้ขี้เลื้อยจากไม้ยางพาราดีที่สุด แต่มีข้อจำกัดคือ ต้องสั่งซื้อมาจากจังหวัดภาคใต้ ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสูง
– รำละเอียด ใช้เป็นอาหารให้เชื้อเห็ด จำนวน 10 กิโลกรัม
– ดีเกลือ เพื่อบำรุงเส้นใย จำนวน 200 กรัม
– น้ำตาลทรายขาวหรือแดง ใช้เป็นอาหารให้เชื้อเห็ด จำนวน 1 กิโลกรัม
– ปูนขาว ใช้เพื่อปรับสมดุลของวัตถุดิบ จำนวน 1 กิโลกรัม
– ยิปซัม ใช้เป็นอาหารให้เชื้อเห็ด จำนวน 50 กรัม
- ขั้นตอนการผลิตเห็ดหอม
3.1 นำวัตถุดิบทั้งหมดมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันด้วยมือหรือเครื่องผสมก็แล้วแต่ ให้ได้ความชื้น 50-60% โดยใช้น้ำเป็นตัวประสาน
3.2 บรรจุใส่ถุงพลาสติกอัดให้แน่นด้วยมือหรือเครื่องอัด ให้ได้น้ำหนักถุงละ 1 กิโลกรัม
3.3 นำก้อนเห็ดไปนึ่ง เพื่อฆ่าเชื้อโรค ใช้ความร้อนที่อุณหภูมิ 95 องศาเซลเซียส นาน 3 วัน นำออกจากถังนึ่ง ทิ้งไว้ 1 คืน ให้ก้อนเห็ดเย็นลงเสียก่อน
ผู้ใหญ่บุญธรรม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ถ้าใช้หม้อนึ่งขนาดเล็ก จะใช้เวลาไม่ถึง 3 วัน แต่กรณีของผู้ใหญ่บุญธรรมใช้ถังปูน ขนาด กว้างxยาวxสูง (2.5x3x2 เมตร) ใช้แรงดันความร้อนด้วยหม้อน้ำ
3.4 เขี่ยเชื้อเห็ดหอมใส่ถุง นำไปบ่มในโรงเรือนเป็นเวลานาน 4 เดือนครึ่ง ถึง 5 เดือน
3.5 เมื่อก้อนเชื้อเห็ดหอมแก่ จะเปิดดอกเห็ด สังเกตว่าก้อนเห็ดหอมมีสีน้ำตาลเข้ม เปิดฝาจุกตัดปากถุง
3.6 ฉีดพ่นน้ำให้มากที่สุดจนชุ่ม เพื่อกระตุ้นเส้นใยให้ตื่นตัวทั้งช่วงเช้าและเย็น เป็นเวลา 2 วัน จากนั้นพลิกถุงอีก 2 วัน นำไปตั้งไว้เหมือนเดิม ขณะเดียวกันต้องรักษาความชื้นภายในโรงเรือนด้วย อีก 3 วัน ก็เก็บดอกเห็ดหอมได้
ผู้ใหญ่บุญธรรม กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ในกรณีที่ราคาเห็ดตก หรือราคาต่ำกว่าที่ควรจะได้ หากเก็บขายอาจไม่คุ้มค่าก็จะงดให้น้ำ เพื่อไม่ให้ก้อนเชื้อเห็ดออกดอก เมื่อไม่ให้น้ำดอกเห็ดจะไม่ออกดอก”
ปัญหาการเพาะเห็ดหอม มีทั้งโรคและแมลง ใช้การป้องกันมากกว่าการรักษา
ผู้ใหญ่บุญธรรม ปรารภให้ฟังว่า การเพาะเห็ดหอมมิได้ราบรื่นเสมอไป ปัญหาก็มีบ้างและมักพบ ได้แก่ โรคราเขียว มีให้เห็นช่วงเปลี่ยนฤดูกาล หากราเขียวลงเมื่อใด เห็ดหอมจะไม่เติบโตหรือไม่ก็เหี่ยวเฉาลง ใช้การป้องกันดีกว่าการรักษา ด้วยการโรยปูนขาวในโรงเรือนก่อนลงมือวางก้อนเห็ด แมลงก็มี โดยเฉพาะไร มองด้วยตาเปล่าไม่ค่อยเห็น ชอบกัดกินเส้นใยดอกเห็ด ป้องกันด้วยการรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย บริเวณพื้นที่ทั้งภายในและภายนอกโรงเรือน ตลอดจนต้องดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดทุกครั้งหลังจากเก็บผลผลิตหมดแล้ว
อีกปัญหาหนึ่งผู้ใหญ่บุญธรรม บอกว่า เห็ดน็อกอากาศ หรือเน่า เมื่ออากาศร้อนจัด อุณหภูมิตั้งแต่ 35 องศาเซลเซียส ขึ้นไป แต่ถ้าปีใดอากาศดี ฝนมาเร็ว ผลผลิตเห็ดหอมก็จะดี
ผลผลิตที่ได้ สรุปรายได้-ค่าใช้จ่าย พอกิน พออยู่ พอใช้
ผู้ใหญ่บุญธรรม ให้ข้อมูลว่า บ้านปางมะโอ มี 100 หลังคาเรือน ร้อยละ 80 ผลิตเห็ดหอม มีผลผลิต 3-5 กิโลกรัม/วัน/ครัวเรือน รวมผลผลิต ทั้งหมู่บ้าน 240-400 กิโลกรัม/วัน ช่วงเวลาที่เก็บผลผลิตได้มากสุดคือ ฤดูหนาวเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ ช่วงน้อยสุดเดือนเมษายนถึงมิถุนายน แต่ฤดูฝนผลผลิตปานกลาง
รายได้ต่อครอบครัวไม่มากนัก ประมาณ 6,000-10,000 บาท/เดือน เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง ถ้าไม่รวมการลงทุนโรงเรือนก็จะมีค่าใช้จ่ายซื้อวัสดุเพาะเห็ดหอม/ชุด หรือ/ครั้ง 15,000-20,000 บาท ผลิตก้อนเห็ดได้ 6,000 ก้อน “สรุปก็คือ พอกิน พออยู่ พอใช้ แต่ไม่ถึงกับร่ำรวย พวกเราทำมาหากินภายในชุมชน มีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันค่อนข้างน้อย ขอเพียงชาวบ้านไม่ต้องไปถากถางป่าหรือเบียดเบียนป่าเป็นพอ ทุกวันนี้ถือว่าการเพาะเห็ดหอมของบ้านปางมะโอ ได้พัฒนาเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนได้อย่างยั่งยืนแล้ว” ก็เพียงขอการอุดหนุนจากผู้อ่านในการสั่งซื้อผลผลิต ผลิตภัณฑ์เห็ดหอมบ้านปางมะโอ” ผู้ใหญ่บุญธรรม กล่าว
ตลาดเห็ดหอม มีทั้งในท้องถิ่น และต่างจังหวัด
เห็ดหอมบ้านปางมะโอ มีจำหน่ายหรือขายทั้งดอกสดและนำไปแปรรูปขาย การขายเห็ดหอมสด ผู้ใหญ่บุญธรรมบอกว่า แต่ละวันจะมีขายตามแผงร้านค้าริมถนน สายลำปาง-เด่นชัย ช่วงก่อนถึงหมู่บ้าน กับขายให้แก่พ่อค้าแม่ค้าในเมืองลำปาง ต่างจังหวัดก็มี เช่น ส่งไปที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน น่าน แพร่ และจังหวัดพิษณุโลก ราคาขายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 200 บาท
ส่วนการแปรรูปนั้น ดำเนินกิจการโดยกลุ่มแปรรูป มีสมาชิกหมุนเวียนกันมาปฏิบัติงาน ปัจจุบัน กลุ่มแปรรูปเห็ดหอมมีอยู่ 2 ประเภท คือ น้ำพริกเห็ดหอม บรรจุกระป๋องละ 30 กรัม ราคา 20 บาท กับแหนมเห็ดหอม น้ำหนักต่อแพ็ก 300 กรัม ราคา 50 บาท
จริงๆ แล้ว ขีดความสามารถของกลุ่มแปรรูปนอกจากน้ำพริกเห็ดหอมกับแหนมเห็ดหอมแล้ว แปรรูปอย่างอื่นได้อีก ได้แก่ ข้าวเกรียบเห็ดหอม น้ำพริกเผา (รวมเจ) เห็ดหอม เห็ดหอมดอง เห็ดหอม 3 รส เห็ดหอมสวรรค์ ไส้อั่วเห็ดหอม เห็ดหอมทอดสมุนไพร แต่รายการแปรรูปดังกล่าว หากมีคำสั่งซื้อ กลุ่มแปรรูปรับที่จะดำเนินการได้ทันที คือ น้ำพริกเห็ดหอม แหนมเห็ดหอม น้ำพริกเผาเห็ดหอม ไส้อั่วเห็ดหอม
หลายส่วนงานร่วมหนุนเสริมการผลิตเห็ดหอมบ้านปางมะโอ
ได้แก่ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแม่ทะ หนุนเสริมในเรื่องการตลาด ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ให้ความรู้ฝึกอบรมการแปรรูป องค์การบริหารส่วนตำบลวังเงิน สนับสนุนงบประมาณจัดหาอุปกรณ์การแปรรูป และ ปี 2560 ช่วงเดือนสิงหาคม มีโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน เข้ามาหนุนเสริม มีเกษตรกรเข้าร่วมกิจกรรมถึง 83 ครัวเรือน
ผู้เขียนก็คาดหวังการสนับสนุนจากท่านผู้อ่านในการอุดหนุนซื้อผลผลิต ผลิตภัณฑ์เห็ดหอมบ้านปางมะโอ เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืนให้บ้านปางมะโอ เป็นหมู่บ้านที่รักษาวิถีชีวิตเกษตรและประเพณีเอามื้อสืบต่อไปสู่รุ่นลูก หลาน เหลน โหลน โปรดติดต่อ คุณบุญธรรม สุขพี้ ตามที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ข้างต้น