ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
องุ่นพันธุ์บิวตี้ ซีดเลส (BEAUTY seedless) เป็นองุ่นไม่มีเมล็ด ทรงผลรี มีขนาดปานกลาง สีดำ ช่อใหญ่ ออกดอกติดผลง่าย รสชาติอร่อย หวานกรอบ เป็นที่นิยมของผู้บริโภคและมีราคาแพง อายุต่ำ ตัดแต่งกิ่งจึงจะเก็บผล 4 เดือนครึ่ง ขึ้นอยู่กับช่วงฤดูและสภาพพื้นที่
องุ่นพันธุ์บิวตี้ ซีดเลส มีความหวานกรอบ เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคและร้านอาหารบางแห่งนิยมนำองุ่นพันธุ์บิวตี้ ซีดเลส ไปคั้นเป็นน้ำองุ่นสด เพราะมีรสชาติอร่อย แถมมีคุณประโยชน์ดีต่อร่างกาย องุ่นพันธุ์บิวตี้ ซีดเลส มีสารอาหารจำพวกกรดอินทรีย์ น้ำตาลกลูโคส น้ำตาลซูโคส วิตามินซี เหล็ก และ แคลเซียม ช่วยบำรุงสมอง บำรุงหัวใจ แก้กระหาย ขับปัสสาวะ บำรุงกำลังอีกด้วย
บิวตี้ ซีดเลส เป็นสายพันธุ์องุ่นต่างประเทศ ที่ถูกนำเข้ามาปลูกในเมืองไทยเมื่อประมาณ 14-15 ปีก่อน โดยทั่วไป องุ่นบิวตี้ ซีดเลส เจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เมื่อปลูกในพื้นที่ที่มีภูมิอากาศหนาวเย็น ปัจจุบัน องุ่นพันธุ์บิวตี้ ซีดเลส นับเป็นพืชเศรษฐกิจทำเงินที่ สร้างรายได้อย่างดีให้แก่เกษตรกรจำนวนมาก
หากใครสนใจปลูกองุ่นพันธุ์บิวตี้ ซีดเลส ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูงปางอุ๋ง สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมการเกษตร ให้คำแนะนำว่า ควรปลูกและดูแลรักษาองุ่นบิวตี้ ซีดเลส อย่างถูกวิธีเพื่อให้มีผลผลิต ภายในเวลา 8-12 เดือน องุ่นพันธุ์นี้สามารถบังคับให้ออกผลได้ 2 ปี 5 ครั้ง ผู้ปลูกองุ่นสามารถคืนทุนได้ภายใน 1-2 ปี โดยตัดแต่งกิ่งให้มีผลผลิตออกได้ทุกเดือน แต่ที่นิยมมากคือ การตัดแต่งกิ่งให้มี ผลผลิตแก่เก็บเกี่ยวตรงกับช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ ตรุษจีน เป็นต้น
การขยายพันธุ์องุ่นและการดูแล
การขยายพันธุ์องุ่นบิวตี้ ซีดเลส สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การตัดกิ่ง ปักชำ การตอน การติดตา การเสียบยอด ทั้งนี้ เกษตรกรควรใส่ใจเรื่องการเตรียมแปลงปลูก เพราะองุ่นจะเจริญเติบโตเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับการเตรียมดินเป็นสำคัญ ควรปลูกองุ่นในระยะห่างระหว่างต้นและแถวที่ 6-8 เมตร ขนาดของหลุม 70x70x30 เซนติเมตร
เกษตรกรควรทำค้างองุ่นแบบราวตากผ้า ความสูงของค้างประมาณ 1.80 เมตร ความกว้างด้านบนของค้างสูง กว้างประมาณ 3 เมตร ใช้ลวด เบอร์ 14 ขึงให้ตึงระหว่างหัวแปลง-ท้ายแปลง ระยะระหว่างลวดประมาณ 25 เซนติเมตร จากนั้นควรจัดโครงสร้างของกิ่ง ทั้งกิ่งหลักและกิ่งสาขาเพื่อให้ผลผลิตต่อต้นจำนวนมาก และทุกกิ่งอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กิ่งหลักอย่างเป็นระเบียบ และสมบูรณ์เสมอกัน การจัดการทรงต้นที่แนะนำคือ ทรงต้นแบบตัว H และสร้างกิ่งแบบก้างปลา จากกิ่งแขนงที่เกิดขึ้นอยู่ทุกข้อของเถา ซึ่งเป็นเทคนิคช่วยเพิ่มผลผลิตอีกทางหนึ่ง
การจัดเถาและช่อองุ่น
การปลิดผล
หลังตัดแต่งกิ่งประมาณ 35 วัน ควรตัดปลายช่อองุ่น 1 ใน 4 ของความยาวช่อ หรือความยาวเท่ากับถาดโฟมที่ใส่องุ่น เพราะผลที่ปลายช่อโดยมากไม่มีคุณภาพ ควรปลิดผลไม่ให้ผลในช่อมีมากเกินไป ปลิดผลที่มีขนาดเล็ก ผลที่ไม่ได้รูปทรง ผลที่เกิดจากโรคแมลงออกไป ให้มีผลเหลือในช่อโปร่ง 1 ช่อ ประมาณ 50-80 ผล ตามความเหมาะสมของช่อ
การให้ปุ๋ยและน้ำ
เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยวิทยาศาสตร์ร่วมกัน โดยใส่ปุ๋ยคอกบนผิวดินรอบต้นองุ่นให้ทั่วแปลง อัตรา 1 กระสอบปุ๋ย ต่อต้น หลังจากเก็บผลองุ่นแล้วก่อนตัดแต่งกิ่งครั้งต่อไป ส่วนปุ๋ยวิทยาศาสตร์ โดยมากมีสูตรปุ๋ยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอายุของต้นองุ่น
ระยะที่ต้นยังเล็ก หรือยังไม่ได้ตัดแต่ง ควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-0-0 สูตร 15-15-15 สูตร 20-20-20 สูตร 12-24-12 อัตรา ต้นละ 300-500 กรัม ต่อต้น ร่วมด้วยปุ๋ยคอก 10 กิโลกรัม ต่อต้น
ระยะที่สอง ให้ใส่ปุ๋ยเกรดเดียวกันระยะแรก เมื่อดอกบานแล้ว 15 วัน หลังการตัดแต่งกิ่งได้ประมาณ 45 วัน
ระยะที่สาม เมื่อองุ่นเริ่มเข้าสี ระยะนี้ควรใส่ปุ๋ยที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น สูตร 13-13-21 สูตร 8-24-24 สูตร 0-52-34 สูตร 0-0-50 ต้นละ 300-500 กรัม หรือใส่ก่อนเก็บผลประมาณ 15-30 วัน ซึ่งจะทำให้ผลองุ่นมีคุณภาพสูง ผิวสวย หวาน กรอบ
ทั้งนี้เกษตรกรควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ระยะติดผลและผลกำลังพัฒนาไม่ควรขาดน้ำ ระยะก่อนเก็บผลผลิต 1-2 สัปดาห์ ควรงดการให้น้ำหรือรดน้ำให้น้อยที่สุด เพื่อจะทำให้ผลมีคุณภาพดี น้ำตาลในผลสูง ผลไม่นิ่ม มีผิวสวย รสชาติหวาน กรอบ อร่อย การปลูกองุ่นให้ได้คุณภาพดี จำเป็นต้องป้องกันเรื่องโรคและแมลงอย่างใส่ใจ ควรคลุมพลาสติกบนค้างองุ่น เพื่อป้องกันน้ำค้าง ซึ่งจะนำโรคเชื้อราน้ำค้างมาสู่ผลองุ่นได้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจาก ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูงปางอุ๋ง จังหวัดเชียงใหม่ได้ที่ โทร. (053) 381-326