ลำไยยักษ์ พันธุ์ “จัมโบ้” ผลใหญ่ เมล็ดลีบ ปลูกได้ทั่วประเทศ

เทคนิคทำให้เป็นดอกตัวเมียเยอะ

การทำลำไยนอกฤดู หัวใจที่สำคัญก็คือ การทำอย่างไร ให้ลำไยออกดอกเต็มต้น ถ้าทำได้ นั่นหมายความว่าประสบความสำเร็จไปมากกว่าครึ่ง ขั้นตอนต่อไปต้องทำให้ดอกลำไยเป็นดอกตัวเมียมาก เทคนิคที่จะให้ดอกลำไยเป็นดอกตัวเมีย อันดับแรกเราจะต้องบำรุงช่อดอกให้สมบูรณ์ มีช่อดอกอวบอ้วนช่อยาว โดยเราจะต้องเริ่มบำรุงรักษาช่อดอกตั้งแต่ลำไยแทงช่อดอกออกมาให้เราเห็น

โดยแนะนำ ฉีดพ่นด้วย ปุ๋ยเกล็ด สูตร 13-0-46 (โพแทสเซียมไนเตรต) อัตรา 500 กรัม+สาหร่ายสกัด(เช่น แอ๊คกรีน) อัตรา 200 ซีซี+แคลเซียม-โบรอน (เช่น โกลแคล, แคลเซียม-โบรอนอี, โบร่า) อัตรา 100-200 ซีซี ผสมยาป้องกันกำจัดแมลง เช่น สารคลอร์ไพริฟอส (เช่น มัคฟอส) เลือกอัตราใช้ต่ำ แค่ 100 ซีซี ก็พอ เพื่อเป็นการประหยัด พ่นเพื่อเป็นการป้องกันแมลง เพลี้ยต่างๆ รวมถึงหนอนไว้ก่อนล่วงหน้า ทั้งหมด ต่อน้ำ 200 ฉีดพ่นทุก 7 วัน พ่นก่อนที่ดอกลำไยจะบาน วิธีนี้ก็ช่วยให้ได้ดอกลำไยตัวเมียเยอะขึ้น

 

เทคนิคทำสีผิวลำไยให้ได้ราคาดี ผิวสีสวย 

เทคนิคทำสีผิวลำไยให้ได้ราคาดี พ่อค้าลำไยส่วนมากต้องการลำไยที่มีสีผิวเหลืองสวย และจะให้ราคาดีกว่า ลำไยที่มีเปลือกสีไม่สวย เช่น ออกสีเหลืองคล้ำ หรือแดง แม้จะมีขนาดลูกผลโตกว่าก็ตาม ราคาก็จะสู้ลำไยที่มีสีผิวเหลืองสวยไม่ได้ เทคนิควิธีที่เกษตรกรจะทำให้ลำไยผิวสวยก่อนที่จะเก็บเกี่ยวผลลำไย ประมาณ เดือนครึ่งเราจะต้องเร่งทำสีเปลือกลำไยให้เหลืองสวย โดยใช้ยาเชื้อรา จำนวน 50-80 ซีซี ต่อน้ำ 200 ฉีดพ่นประมาณ 2-3 ครั้ง และควรงดเว้นการฉีดพ่นสารอาหารจำพวกสาหร่าย อาหารเสริมต่างๆ หรือสารอาหารทางใบในกลุ่มน้ำตาล (เป็นอาหารอย่างดีของเชื้อรา) ก่อนการเก็บเกี่ยว เพราะจะมีคราบติดอยู่ที่ผล ทำให้ผิวไม่สวยได้

ต้นลำไยก่อนตัดแต่งกิ่ง ต้นต้องมีความสมบูรณ์เต็มที่

ก่อนเก็บเกี่ยวลำไย 1 เดือน เกษตรกรผู้ปลูกลำไยควรบำรุงด้วยสูตรเร่งหวาน-เร่งสี ทางใบฉีดพ่นด้วยปุ๋ยสูตรที่มีตัวท้ายสูง เช่น สูตร 0-0-50 พร้อมธาตุรอง ธาตุเสริม เน้นกำมะถันเพื่อให้ผิวสวย โบรอนแคลเซียม เพื่อป้องกันผลแตก ควรฉีดพ่นสารป้องกันเชื้อรา จะทำให้ลำไยมีผิวสีสวย พ่นประมาณ 2 ครั้ง ก่อนเก็บผลผลิต ส่วนทางดิน ควรใส่ปุ๋ย สูตร 8-24-24 หรือปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 1-2 กิโลกรัม ต่อต้น ทรงพุ่ม 3-5 เมตร หรือแล้วแต่ขนาดทรงพุ่ม ถ้าใส่ปุ๋ย สูตร 13-13-21 ลำไยจะแก่และสุกเร็วขึ้น ทำให้เก็บขายได้เร็วตอนราคาดี แต่อาจจะทำให้ต้นโทรมบ้าง

หลังเก็บเกี่ยวต้องเร่งบำรุงฟื้นฟูสภาพต้น เรียกความสมบูรณ์กลับมาทันที ปุ๋ยสูตร 8-24-24 เหมาะสำหรับต้นที่มีลูกผลไม่สม่ำเสมอกัน จะช่วยบำรุงผลหลายรุ่นในต้นเดียวกัน หลังจากเก็บผลผลิตแล้วต้นจะไม่ค่อยโทรม และทำให้ต้นมีความสมบูรณ์พร้อมสำหรับให้ผลผลิตรุ่นปีต่อไป

ลำไยยักษ์ พันธุ์จำโบ้ ที่ผ่าพิสูจน์ให้เห็นว่าเมล็ดลีบทั้งพวง

ในกรณีที่ต้นลำไยติดลูกผลดกมาก เปลือกผลหนาดี ไม่บางจนเกินไป ควรใส่ปุ๋ย สูตร 0-0-60 จะทำให้ลูกผลลำไยขยายขนาดใหญ่ขึ้นมากกว่าใส่ปุ๋ยสูตรอื่นๆ โดยเลือกใส่ในช่วงเข้าระยะประมาณ 180-190 วัน หลังจากราดสารจะทำให้ลูกผลโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และต้องให้น้ำตลอดอย่างสม่ำเสมอจนถึงเก็บเกี่ยวด้วย

 

วิธีการผลิตลำไยนอกฤดู

ลำไย จัดเป็นไม้ผลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย สามารถทำรายได้จากการส่งออกปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท แหล่งผลิตลำไยที่สำคัญอยู่ในภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา เป็นต้น และทางภาคตะวันออก เช่น จังหวัดจันทบุรี ระยอง เป็นต้น โดยเฉพาะที่จังหวัดจันทบุรี จะเห็นว่าในบัจจุบันพื้นที่จังหวัดจันทบุรีจะมีล้งรับซื้อลำไยเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งคนจีนที่เข้ามาลงทุนเองและล้งของคนไทยด้วย

ผลลำไยยักษ์จัมโบ้ ทำนอกฤดู ที่สวนคุณลี จังหวัดพิจิตร เทียบขนาดกับเหรียญ 10 บาท

ส่วนผลผลิตที่เกษตรกรนิยมปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตเพื่อการส่งออกนั้น จะนิยมเป็นสายพันธุ์ “อีดอ” เป็นหลักเพราะมีลักษณะเด่นเรื่องขนาดและรสชาติ เมื่อนำไปอบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์สีลำไยจะออกเป็นสีเหลืองทอง ซึ่งเป็นผลผลิตที่ตลาดจีนต้องการ (แต่ต้องระวังและควบคุมให้ดี ไม่ให้ลำไยสดจากไทยมีสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินค่ามาตรฐานที่ประเทศส่งออกกำหนด)

ลำไยจัมโบ้ วัดขนาดกับลำไยพันธุอื่น ได้ขนาด 5 A

สำหรับการผลิตลำไยในอดีต เกษตรกรต้องรับภาระความเสี่ยงเกี่ยวกับการให้ผลผลิตของลำไย เนื่องจากการออกดอกติดผลขึ้นอยู่กับความหนาวเย็น หากปีใดที่มีอุณหภูมิต่ำและหนาวเย็นยาวนาน ลำไยจะออกดอกติดผลมาก ในขณะที่บางปีอากาศไม่หนาวเย็นพอ ต้นลำไยจะออกดอกติดผลน้อย ทำให้ลำไยถูกจัดอยู่ในกลุ่มไม้ผลที่มีนิสัยการออกดอกติดผลเว้นปี

นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2541 การค้นพบสารโพแทสเซียมคลอเรต ด้วยความบังเอิญของคนทำดอกไม้ไฟ ว่ามีคุณสมบัติสามารถชักนำการออกดอกของลำไยโดยไม่ต้องพึ่งพาความหนาวเย็น ทำให้ปัญหาการออกดอกเว้นปีลดความสำคัญลง และหมดไป

วิธีการใช้ การใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตเพื่อเร่งลำไยให้ออกนอกฤดู นิยมทำก่อนหน้าฤดูลำไยจะออกดอกในทุกปี โดยนำโพแทสเซียมคลอเรตละลายน้ำรดบริเวณโคนต้นลำไย หลังจากนั้น ประมาณ 20-30 วัน ลำไยจะแทงช่อดอกออกมา

 

ทำไม ต้องผลิตลำไยนอกฤดู

มีอยู่หลายเหตุผล เช่น เหตุผลด้านราคา เกษตรกรชาวสวนลำไยทราบดีว่าเป้าหมายการผลิตลำไยนอกฤดู คือ ราคาผลผลิต ซึ่งถ้าจะเทียบไปแล้ว ช่วงเวลาจำหน่ายผลผลิตที่ราคาดีที่สุดคือ ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากตรงกับเทศกาล เช่น วันคริสต์มาส วันขึ้นปีใหม่ และวันตรุษจีน ช่วงที่ผลผลิตมีราคาถูกที่สุดคือ ลำไยในฤดูในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เนื่องจากผลผลิตลำไยในฤดูกาลมีจำนวนมากเข้าสู่ตลาดพร้อมกัน ดังนั้น เกษตรกรจึงพยายามบังคับให้ลำไยออกดอกใน 2 ช่วง คือช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม เพื่อให้เก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายนถึงต้นกุมภาพันธ์ และช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน เพื่อเก็บเกี่ยวก่อนฤดูคือ เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

การบังคับให้ออกดอกในเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม เกิดปัญหาค่อนข้างมาก เพราะตรงกับฤดูฝน ต้นลำไยจะตอบสนองต่อสารโพแทสเซียมคลอเรตไม่ดีเหมือนการให้สารนี้ในฤดูหนาว ในขณะที่ลำไยที่ออกดอกในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จะกระทบอากาศหนาวทำให้การผสมเกสรไม่สมบูรณ์ ผลอ่อนมักร่วงเสียหายได้ง่าย ดังนั้น จึงต้องมีการเตรียมต้นให้สมบูรณ์ การกำหนดอัตราสารให้เหมาะสมและศึกษาถึงเทคนิคการผลิตลำไยนอกฤดูในแต่ละขั้นตอน ตลอดจนการเลือกช่วงเวลาการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดและให้เหมาะสมกับพื้นที่จึงจะประสบผลสำเร็จ

ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยวผลผลิต ผลกระทบจากการพัฒนาประเทศไปสู่อุตสาหกรรมหนักและการพัฒนาการท่องเที่ยวทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงานจำนวนมากออกจากภาคเกษตรเข้าสู่ในเมือง ทำให้การเกษตรทั้งระบบขาดแคลนแรงงาน ส่งผลกระทบต่อการผลิตลำไย โดยเฉพาะแรงงานด้านเก็บเกี่ยว ซึ่งมีขั้นตอนตั้งแต่เก็บเกี่ยวผลผลิตจากต้น การลำเลียงผลผลิตสู่โรงเรือนหรือที่ร่ม การคัดเกรด การบรรจุตะกร้า ซึ่งแต่ละขั้นตอนต้องอาศัยแรงงานที่มีความชำนาญจำนวนมาก ปัญหาการขาดแคลนแรงงานจะรุนแรงมากในช่วงการผลิตลำไยในฤดู

แนวโน้มการแข่งขันในตลาดนานาชาติ เป็นที่ทราบกันดีว่า ลำไยจากประเทศไทยมีคู่แข่งที่สำคัญในตลาดโลก ได้แก่ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและเวียดนาม ซึ่งจีนเป็นทั้งประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ผลผลิตลำไยของจีนออกสู่ตลาดในช่วงเดียวกับของไทย คือกรกฎาคม-กันยายน ทำให้ประสบปัญหาคล้ายกับไทยคือ ผลผลิตในฤดูล้นตลาด ราคาตกต่ำ ด้วยเหตุนี้แนวทางการพัฒนาลำไยของไทยจึงควรมุ่งเน้นที่การกระจายตัวของช่วงฤดูการผลิตตลอดปี การลดต้นทุนการผลิตและปรับปรุงผลผลิตให้ได้คุณภาพ ในขณะที่การปลูกลำไยของจีนยังไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีความหนาวเย็นเกินไปในบางช่วงของปี ทำให้ไม่สามารถผลิตลำไยตลอดปีเหมือนไทยได้ นอกจากนี้ เวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญอีกประเทศหนึ่งยังขาดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี ประเทศไทยจึงควรพัฒนาลำไยนอกฤดูบนจุดอ่อนเหล่านี้ของคู่แข่ง

ลำไยอายุที่เหมาะสมที่จะบังคับราดสารให้ออกนอกฤดูคือ ต้นอายุสัก 4-5 ปีขึ้นไป กำลังเหมาะสม การคุมทรงพุ่มของต้นลำไยมีความสำคัญมาก มันจะเกี่ยวข้องตั้งแต่ผลผลิต การจัดการ การฉีดพ่นสารเคมี การเก็บเกี่ยว ฉะนั้น อย่างหลังการเก็บเกี่ยวเสร็จ ก็จะมีการตัดแต่งกิ่งในส่วนของความสูง ตัดส่วนยอดของต้นไม่ให้มีความสูงเกิน 3 เมตร ซึ่งจะเน้นให้ต้นลำไยมีทรงพุ่มที่แผ่กว้างมากกว่าที่จะปล่อยให้ทรงพุ่มสูง หลังจากตัดแต่งควบคุมทรงหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ก็จะปล่อยให้ต้นได้พักฟื้นแตกใบตามธรรมชาติ 2-3 ชุด ก่อนที่จะตัดแต่งกิ่งเพื่อเข้าสู่กระบวนการราดสารต่อไป

การผลิตลำไย จะมีอยู่ 3 ช่วงหลักๆ คือ ผลิตลำไยออกก่อนฤดู ออกสู่ตลาดก่อนลำไยในฤดูจะออกเล็กน้อย โดยผลผลิตจะออกช่วงมิถุนายน-กรกฎาคม คือตั้งแต่การตัดแต่งกิ่งช่วงเดือนกันยายน ดึงใบอ่อน สะสมอาหาร อย่างการราดสาร ผมจะเริ่มราดสารในเดือนพฤศจิกายน เก็บเกี่ยวเดือนมิถุนายน ถ้าเราไม่ชิงราดสารช่วงเดือนพฤศจิกายน พอเดือนธันวาคม-มกราคม อากาศหนาวจัด ลำไยมันจะออกดอกมาในฤดูหมด ผลผลิตก็จะไปตรงกับลำไยของทางภาคเหนืออีก ข้อจำกัดในแต่ละพื้นที่มีต่างกัน อย่างที่นี่ ถ้าทำเร็วเกินเจอแล้ง ถ้าทำช้าก็จะออกในฤดู เกษตรกรทุกคนจะรู้ดี

แต่ถ้าสวนใครโชคดี อยู่ในพื้นที่มีแหล่งน้ำดีก็จะผลิตออกสู่ตลาดเร็วกว่าสวนอื่น เพื่อให้ได้ราคาสูง เก็บขายช่วงกุมภาพันธ์-มีนาคม หรือช่วงราวๆ วันตรุษจีน ผลิตลำไยฤดูกาล ซึ่งลำไยในฤดูจะออกช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม ในแต่ละปี เช่น ทางเชียงใหม่ ลำพูน ที่จะผลิตลำไยในฤดูกาล และทางจันทบุรี ที่เน้น การผลิตลำไยนอกฤดูกาล ซึ่งการผลิตลำไยนอกฤดูกาลเรื่องน้ำสำคัญที่สุด อย่างที่นี่ก็ต้องวางแผนให้ดี

         

หลักการผลิตลำไย นอกหรือในฤดูกาลคล้ายคลึงกัน

เริ่มต้นต้อง “ตัดแต่งกิ่ง” ก่อนที่จะตัดแต่งกิ่งลำไยทุกครั้ง ก็ต้องบำรุงต้นให้ใบมีความสมบูรณ์ แนะนำให้ใส่ปุ๋ยเคมี คือ ปุ๋ยยูเรีย  46-0-0 = 1 ส่วน ผสมกับปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 = 1 ส่วน ใส่ให้ต้นละ 1 กิโลกรัม (มากหรือน้อยกว่านี้จะขึ้นอยู่กับขนาดของต้น) พร้อมใส่ปุ๋ยคอกเก่า หรือปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด หว่านให้ต้นละ 5 กิโลกรัม ปกติชาวสวนจะใส่ปุ๋ยกันล่วงหน้า 1 วัน หรือใส่กันวันแต่งกิ่งเลย เพราะจะแต่งกิ่งลำไยคลุมโคนและคลุมปุ๋ยเลยไม่มีการขนย้ายกิ่งออกจากสวน เพราะต้องการให้ใบและกิ่งคลุมโคนต้นเพื่อรักษาความชื้น ทิ้งไว้ให้ย่อยสลายช่วยปรับโครงสร้างของดิน และช่วยลดการสูญเสียไม่ให้ปุ๋ยหายไปกับน้ำปุ๋ย มันจะติดกับกิ่งและใบลำไยที่เราตัดแต่งคลุมโคนเอาไว้

การตัดแต่งกิ่งที่ดี ส่งผลต่อการออกดอกและติดผลด้วยเช่นกัน

ประโยชน์ของการตัดแต่งกิ่งลำไย นั้นคือ

เร่งให้ลำไยแตกใบอ่อน การตัดแต่งกิ่งเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถเร่งการแตกใบอ่อน มีผลทำให้ต้นลำไยฟื้นตัวได้เร็ว และใบใหม่ที่เกิดขึ้นจะทำหน้าที่ในการสร้างอาหารสะสมไว้สำหรับการออกดอกติดผลในฤดูกาลถัดไป

ช่วยควบคุมความสูงของทรงพุ่ม การตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ทรงพุ่มเตี้ย ทำให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตและสะดวกต่อการดูแลรักษา เช่น การพ่นปุ๋ยทางใบหรือสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายในเรื่องไม้ค้ำยันกิ่ง ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง

ลดการระบาดของโรคและแมลง ต้นลำไยที่มีทรงพุ่มทึบ มักเป็นแหล่งอาศัยของแมลง มีความชื้นสูงและก่อให้เกิดโรค เช่น โรคราดำ โรคจุดสาหร่ายสนิมและไลเคนส์ เป็นต้น การตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ทรงพุ่มโปร่งทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดสามารถส่องทะลุเข้าไปในทรงพุ่มจะช่วยลดการระบาดของโรคและแมลง

ต้นลำไยตอบสนองต่อสารคลอเรต ต้นลำไยที่มีอายุมาก เมื่อให้สารโพแทสเซียมคลอเรต มักจะออกดอกน้อยหรือไม่สม่ำเสมอ การตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง แสงส่องเข้าไปในทรงพุ่มจะช่วยให้ต้นลำไยตอบสนองต่อสารโพแทสเซียมคลอเรตได้ดี ทำให้ลำไยออกดอกมากขึ้น และใช้ปริมาณสารโพแทสเซียมคลอเรตลดลง

ผลผลิตมีคุณภาพดี ต้นลำไยที่มีทรงพุ่มทึบ ถ้าหากออกดอกติดผลดก ส่งผลให้ลำไยมีผลขนาดเล็กผลผลิตคุณภาพต่ำ การตัดแต่งกิ่งบางส่วนจะช่วยลดพื้นที่ออกดอกติดผลลงบ้าง ทำให้ผลมีขนาดใหญ่ขึ้นและคุณภาพผลผลิตโดยรวมดีขึ้น

สนใจกิ่งพันธุ์ ลำไยยักษ์ พันธุ์ “จัมโบ้” สายพันธุ์แท้ ติดต่อได้ที่ “สวนคุณลี” อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โทร. (081) 901-3760, (081) 886-7398 หรือ ID Line LEEFARM2 หรือช่องทางเฟซบุ๊ก “สวนคุณลี”