แนะอาชีพการเลี้ยงไส้เดือน เพื่อทำปุ๋ยไส้เดือน อย่างละเอียด

 

 

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า วิธีการเลี้ยงไส้เดือนที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นการนำเสนอที่ได้มาจากตัวเธอ คุณนิรัชพร ธรรมศิริ หรือ “ต่าย” บ้านเลขที่ 167 ถนนเทศา 2 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร

เธอบอกว่า  “การเลี้ยงไส้เดือนนั้นไม่ได้มีรูปแบบที่กำหนดลงไปชัดเจน เพราะเราจะสามารถหาสิ่งของต่างๆ ที่อยู่ใกล้ตัวเราหรือวัสดุบางชิ้นที่เราคิดว่าน่าจะนำมาประยุกต์นำมาเลี้ยงน้องเดือนเป็นใช้ได้ทั้งสิ้น ขอเพียงมีขั้นตอนและวิธีการเท่านั้นเป็นพอ” เมื่อเป็นเช่นนี้หากท่านใดจะนำไส้เดือนไปเลี้ยงด้วยวิธีอื่นก็ได้ตามสะดวกนะครับ ไม่ผิดกติกาใดๆ ทั้งสิ้น

สำหรับไส้เดือนที่เธอแนะนำให้แฟนๆ เลี้ยงนี้เป็นสายพันธุ์อัฟริกันไนต์ครอเลอร์ (AF) ข้อดีคือ ไส้เดือนสายพันธุ์นี้สามารถกินอาหารเก่งมากโดยเฉพาะอาหารที่มีโปรตีนสูง ขยายพันธุ์ได้เร็ว มีลูกดก แถมตัวโต เป็นสายพันธุ์ที่นิยมนำไปใช้เป็นอาหารโปรตีนสำหรับเลี้ยงกบ นก และปลาได้ ส่วนมูลไส้เดือนนั้นเป็นปุ๋ยที่นำไปใส่ต้นไม้ หรือพืชผักได้อย่างดีอีกด้วย

อาหารของไส้เดือน

1. มูลสัตว์ เช่น มูลวัวทั้งหลาย จะเป็นวัวบ้าน วัวนม โคขุนหรือมูลควาย ได้ทั้งนั้น ต้องนำมาแช่ในวงบ่อหรือถังน้ำ หรือกะละมัง เพื่อให้คลายความร้อนและลดแก๊สที่สะสมให้ลดน้อยลง ใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ตามแต่ว่ามูลที่นำมานั้นจะเป็นมูลเก่าหรือใหม่ ที่นิยมเรียกว่า เบดดิ้ง (Bedding)

2. ขุยมะพร้าว หรือกาบมะพร้าวสับให้ละเอียด ไม่จำเป็นต้องนำไม่แช่น้ำ แต่เมื่อจะนำมาใส่ลงในที่เลี้ยงให้รดน้ำให้ชุ่ม

3. เศษกระดาษทั่วไป ข้อนี้ก็ไร้ปัญหาเพราะหาได้ง่ายมาก ฉีกให้เป็นชิ้นเล็กๆ นำมาแช่น้ำ

4. ดินร่วนที่ใช้ปลูกต้นไม้ หาซื้อเอาตามร้านที่ขายพันธุ์ไม้ทั่วไปที่บรรจุใส่ถุงไว้

สำหรับส่วนผสมที่ใช้เลี้ยงนั้น เบดดิ้ง 2 ส่วน กับ ขุยมะพร้าว เศษกระดาษ และดินร่วน อย่างละ 1 ส่วน จะเป็นอัตราส่วนที่เยี่ยมที่สุด สำหรับอัตราส่วนระหว่างตัวไส้เดือนที่จะใส่ลงไปนั้นให้ดูจากขนาดของวัสดุอุปกรณ์ที่ ต้องการนำมาเลี้ยง หากมีปัญหาปรึกษารายละเอียดกับเธอได้ตลอดเวลา เพราะเรื่องราวเช่นนี้เธอมีประสบการณ์มาแล้ว

หลังจากนำไส้เดือนลงเลี้ยงไปประมาณ 2-3 วัน รอให้ไส้เดือนคุ้นและชินกับบ้านหลังใหม่เสียก่อน หลังจึงค่อยนำเศษผัก ผลไม้ ขอให้มีรสหวานเพราะไส้เดือนจะโปรดปรานเป็นอย่างมาก เช่น ผักกาดขาว กวางตุ้ง ผักบุ้ง แตงโม ขนุน กล้วยน้ำว้า แคนตาลูป ฟักทองสุก กรุณาใส่ทีละน้อยเพราะว่าหากเยอะไปจะทำให้ผักหรือผลไม้นั้นเน่าจะสามารถทำให้ป่วยได้

อุปกรณ์

1. กะละมังพลาสติก จะเป็นกะละมังสีอะไรก็ได้ ขอเพียงแค่ว่าอย่าให้ถึงแตกร้าวจนดูว่าขาดความมั่นใจสำหรับความเป็นอยู่ของชีวิตไส้เดือนเป็นใช้ได้ นำมาเจาะรูด้านล่าง ประมาณ 10 รู สำหรับเพื่อให้สามารถระบายน้ำได้

2. กระถางดินเผา เนื่องจากกระถางดินเผาสามารถเก็บความเย็นและความชื้นได้ดี ส่วนมากกระถางรูปแบบนี้เป็นแบบที่ส่วนใหญ่จะนำมาใช้สำหรับปลูกต้นไม้ มีมากมายหลายขนาด เลือกเอาตามต้องการส่วนมากจะมีรูเจาะไว้ก่อนแล้วด้านล่างเพียงรูเดียว  ต้องหาวัสดุมาอุดไว้ให้พอระบายน้ำได้แต่ต้องพยายามไม่ให้ไส้เดือนหนี

3. กล่องพลาสติก จะมีรูปร่างแบบใดหรือขนาดใด สามารถนำมาเลี้ยงได้ทั้งนั้น เพียงนำมาเจาะรูด้านล่าง ประมาณ 10 รู เพื่อระบายน้ำเช่นเดียวกัน

4. วงบ่อซีเมนต์ จะมีหลายขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลาง 60, 80 และ 100 เซนติเมตร ต้องใช้ฝาปิดมาด้วยแต่นำมาวางไว้ด้านล่าง เจาะรูระบายน้ำตรงกลางเพื่อไว้รับน้ำหมักมูลไส้เดือน

ส่วนรูปแบบที่ 5 คือ กล่องลิ้นชักพลาสติก จะกี่ชั้นก็ตามแต่สะดวกของผู้ต้องการ แต่ต้องนำมาเจาะรูด้านล่างทุกชิ้น ประมาณ 10 รู เพื่อไม่ให้น้ำขังในแต่ละชั้น แต่การเลี้ยงวิธีนี้ชั้นสุดท้ายไม่จำเป็นต้องเจาะรู เพราะว่าเราจะไว้เก็บน้ำหมักมูลไส้เดือนที่เกิดจากเมื่อเวลาเรารดน้ำชั้นบนจะตกลงมารวมกันชั้นสุดท้าย สามารถนำน้ำหมักมูลไส้เดือนที่ได้นั้นไปใช้ได้เลย

การเลี้ยงวิธีนี้ลงทุนมากกว่าแบบอื่นเนื่องจากราคากล่องที่ค่อนข้างมีราคาแพงกว่า แต่คิดว่าน่าจะคุ้มค่าและสะดวก เพราะสามารถนำไปเก็บไว้บริเวณหลังบ้านหรือชิดข้างบ้านในที่ร่ม ใช้เนื้อที่น้อยแถมเลี้ยงแบบนี้จะเก็บความชื้นได้ดีไม่ต้องรดน้ำบ่อย และสามารถป้องกันศัตรูที่จะมาเยี่ยมได้อีกด้วย

เธอได้บอกต่อไปถึงวิธีสุดท้ายหากต้องการแค่ปุ๋ยไส้เดือนเท่านั้น ไม่ต้องการมูลหมักไส้เดือน จะเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกเช่นกันและจะได้ปุ๋ยครั้งละมากอีกด้วย (ดูภาพประกอบ)

1. ใช้อิฐบล็อก จำนวน 10 ก้อน นำมาเรียงกั้นตามแบบ

2. หาวัสดุ เช่น ถุงปุ๋ย เป็นต้น มาลองพื้นจนถึงขอบ

3. ใช้เบดดิ้ง (Bedding) จำนวน 2 ถุง ถุงละประมาณ 20-25 กิโลกรัม ล้วนๆ หรืออาจจะมีการผสมของขุยมะพร้าว กระดาษ หรือดินร่วนลงไปก็ได้ ตามจำนวนที่บอกไว้โดยประมาณ ทั้งหมดนี้จะสามารถนำตัวไส้เดือน จำนวน 1 กิโลกรัม ลงไปเลี้ยงได้อย่างเหมาะสม

4. สุดท้าย หาวัสดุมาปิด เช่น ซาแรนพรางแสง ไว้เพื่อป้องกันแสงแดดเพราะไส้เดือนชอบความมืด ความชุ่มชื่น และศัตรูของไส้เดือน ข้อที่สำคัญอย่างมากคือบริเวณที่เลี้ยงนั้นต้องเป็นในที่ร่ม อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก และไม่ให้โดนแดดโดยตรงหรือโดนฝน คุณเดือนจะโปรดปรานอย่างยิ่ง

หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ หากจะให้พวกเศษผัก ผลไม้ สามารถนำเป็นอาหารเสริมให้คุณเดือนได้เลย และต้องดูด้วยว่าไส้เดือนสดชื่นดีอยู่ไหม หากเห็นว่าไม่สดชื่นต้องบริการน้ำด้วย อีก 45 วัน ก็จะสามารถร่อนเอาปุ๋ยที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงไส้เดือนมาใช้กับสวนของเราได้ทันที

ใครสนใจต้องการเลี้ยงวิธีแบบไหนหรือคิดว่ามีวิธีที่ต้องการเลี้ยงแบบที่ตัวเองคิด หรือหากต้องการรายละเอียดเพิ่มมากกว่านี้ กรุณาติดต่อเธอได้ รับประกันความผิดหวังที่ Facebook. Niratchaporn Thammasiri หรือ ID. Tai_shop99 หรือ (091) 842-4968