งานวิจัยไม่ขึ้นหิ้ง! “Melmon ระบบควบคุมฟาร์มเมล่อนอัจฉริยะ” ราคา 9,000 บาท/ตร.ม ดูเรียลไทม์ผ่านแอพ

ยุคนี้ เป็นยุคของการสร้างนวัตกรรม และการพยายามก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยนวัตกรรมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาช่วยให้การทำงาน หรือการดำเนินชีวิตของผู้คนง่ายขึ้น เพื่อพร้อมรองรับการเติบโตของธุรกิจสตาร์ตอัพในอนาคตที่จะแข่งขันกันอย่างดุเดือดมากขึ้นในอนาคต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จึงได้ร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยกระดับ “อีโคซิสเต็มนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย” ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสนับสนุนการเติบโตและพัฒนาธุรกิจ Startup กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อร่วมกันส่งเสริมให้ธุรกิจ Startup ของไทย

ในงานครั้งนี้ได้เจอกับนวัตกรรมที่มีชื่อว่า  “Melmon” เป็นระบบควบคุมฟาร์มเมล่อนอัจฉริยะ ผู้พัฒนางานวิจัย นี้คือ รศ.ดร.สุเพชร จิรขจรกุล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผศ.ดร.ธนิท เรืองรุ่งชัยกุล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ รศ.ดร.วรภัทร ลัคนทินวงศ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Smart Melon Farm เป็นชุดอุปกรณ์ที่จะเข้ามาช่วยให้การจัดการฟาร์มเมล่อนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ของต้นทุนการดำเนินการที่ลดลงจากการจ้างแรงงาน สามารถวางแผนการผลิตเพื่อให้ได้ปริมาณผลผลิตที่แน่นอน เนื่องจากลดความเสี่ยงในการเกิดโรคจากเชื้อรา แมลงศัตรู และที่สำคัญยังช่วยลดระยะเวลาในการดำเนิการเมื่อเทียบกับวิธีแบบเดิม โดยสามารถติดตาม และควบคุมกระบวนการบริหารจัดการฟาร์มได้ทุกที่ทุกเวลาแบบ Real-time ผ่าน แอพพลิเคชั่นชื่อว่า Melmon

Melmon คือ สมาร์ทฟาร์มมิ่ง จะช่วยให้การดูแลฟาร์มเมล่อนง่ายดายมากขึ้น ผ่านทางแอพพลิเคชั่น ที่ทำงานร่วมกับ Microcontroller และ Sensor ต่างๆ เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจในการเริ่มต้นปลูกเมล่อน และสนใจเทคโนโลยี โดยสามารถลดระยะเวลาในการเข้าไปดูแลฟาร์ม ลดต้นทุนแรงงาน ควบคุมคุณภาพของผลผลิต

โดย  Melmon ระบบควบคุมฟาร์มเมล่อนอัจฉริยะนี้มีราคาอยู่ที่ 9,000 บาท ต่อตารางเมตร โดยมีต้นทุนอุปกรณ์ต่อ 100 ตารางเมตร เพียง 4,000-5,000 บาท อีกทั้งงานวิศวกรรมที่ได้รับการพัฒนานี้ หลังจากที่เกษตรกรซื้อไปแล้ว จะมีบริการหลังการขายโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หลังการติดตั้ง 6 เดือน

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังได้มีการศึกษาข้อมูลปฐมภูมิและข้อมูลทุติยภูมิเกี่ยวกับการปลูกเมล่อนในโรงเรือน ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรม กําหนดเป้าหมายและแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ วิเคราะห์ผลผลิตทางธุรกิจและเปรียบเทียบกับคู่แข่ง และวิเคราะห์หาแนวทางการต่อยอดทางธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนได้ด้วย ผ่านระบบการประมวลผล ที่เกษตรกรสามารถใช้งานได้ฟรี

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยให้เกษตรกรผู้ผลิตเมล่อนสามารถควบคุมปริมาณน้ำ ระบบแสงสว่าง ซึ่งระบบควบคุมต่างๆ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทำให้ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ต้นทุนน้อยลง ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เสี่ยงต่อผลผลิตติดโรคน้อยลง เพิ่มปริมาณผลผลิต มีมาตรฐานในการที่จะนำเอาผลผลิตไปจำหน่ายด้วย

โดย ผศ.ดร.ธนิท เรืองรุ่งชัยกุล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าระบบนี้ มีระบบไฟฟ้า ที่นำเอาพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ โดยติดตั้งระบบในการติดตามดวงอาทิตย์ เพื่อให้ได้พลังงานที่เพิ่มขึ้นจากแบบเดิมเพิ่มมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังนำเอาโดรน มาใช้ในการตรวจสภาพแวดล้อมบนที่สูง เพื่อการวิเคราะห์สภาพสีของพืชผล จากภาพถ่าย ว่ามีอะไรในฟาร์มที่ผิดปกติหรือไม่ และมีสถานีตรวจวัดสภาพอากาศ ที่สามารถวัดความเร็วลม ความชื้นสัมพัทธ์อุณหภูมิได้ด้วย เพื่อช่วยในการวางแผนของเกษตรกรต่อไป

นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่การทำฟาร์มเมล่อนเท่านั้นที่สามารถนำระบบนี้ไปใช้งานได้ แต่สามารถนำเอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้งานได้กับการทำสวน หรือทำฟาร์มผักชนิดอื่นได้อีกด้วย”