คณิตฟาร์ม แบบอย่างเศรษฐกิจพอเพียง มีกิน มีใช้ ไม่ขัดสน

“ทุกขั้นตอนการผลิตสามารถทำให้เกิดประโยชน์ได้ ไม่มีการสูญเปล่า ถ้าขายไม่หมดก็นำมาแปรรูป หรือนำไปใช้ประโยชน์หมุนเวียนในครัวเรือนหรือภายในสวน”

หิ้ว…ผลิตสินค้าเพียงพอกับผู้ซื้อ เริ่มทำงานน้อยไปหามาก ผลิตแล้วต้องขายได้ ขายหมด

หาบ…เมื่อขายได้ ขายหมดในชุมชนแล้วค่อยขยายตลาดไปยังแหล่งใกล้เคียงอื่นๆ

หาม…เมื่อมีลูกค้าที่มีอยู่ในมือมากขึ้น จึงขยายการผลิตและการตลาดเพิ่มขึ้น

คณิตฟาร์ม เป็นฟาร์มของ คุณคณิต กันทะตั๋น เกษตรกรสาววัย 48 ปี บ้านเลขที่ 1/3 หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งฝาย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ผู้มุ่งมั่นปฏิบัติงานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านการอบรมการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แบบแปลงใหญ่ไก่พื้นเมือง จากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำปาง กรมปศุสัตว์

เจ้าของฟาร์ม แสดงผลผลิตจากฟาร์ม

ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาไร่นาสวนผสม สำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง กรมส่งเสริมการเกษตร มีความคิดริเริ่มและความพยายามในการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น ลดต้นทุนการผลิต ประกอบอาชีพเชิงผสมผสาน นำเอาตู้เย็นเก่ามาทำเป็นตู้ฟักไข่ นำหญ้าสดมาอัดเป็นหญ้าอัดฟ่อน นำฟางข้าวมาอัดฟ่อนเพื่อลดการเผา ฯลฯ

เป็นเกษตรกรผู้เสียสละถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรทั่วไป เป็นวิทยากรให้แก่กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โครงการฝ่ายรักษาและบำรุงแม่น้ำวังฝั่งขวา ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน จากผลงานด้านการเกษตรด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่”, “ศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)” ประจำตำบลทุ่งฝาย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

ภายในคณิตฟาร์ม พื้นที่ประมาณ 8 ไร่ กิจกรรม ได้แก่

เลี้ยงไก่ในโรงเรือน เป็นการเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อสร้างแหล่งอาหารไว้บริโภคในครัวเรือนและขายเป็นรายได้หลักรายวัน สามารถนำขี้ไก่มาใส่เป็นปุ๋ยกับพืชผักในสวน ตากแห้งขายเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง ที่น่าสนใจอีกกิจกรรมหนึ่ง คือได้นำเอาอุปกรณ์ทันสมัยยุคไอทีผ่านระบบโทรศัพท์มือถือมาใช้ตรวจเช็กจำนวนไข่ไก่ต่อตัวต่อวัน การให้น้ำและอาหารอัตโนมัติ โดยการสนับสนุนคำแนะนำ ติดตั้งอุปกรณ์จากนักวิชาการ ตามโครงการสมาร์ทฟาร์ม สมาร์ทโฟน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่

เลี้ยงหมูแม่พันธุ์แบบยกพื้น เพื่อเป็นการกระจายลูกหมูพันธุ์ดีในชุมชนและตำบลใกล้เคียง เลี้ยงแม่พันธุ์หมูจำนวนให้พอเหมาะกับสมาชิกและสถานการณ์ตลาด การเลี้ยงยกพื้นสูงทำให้การปฏิบัติดูแลรักษาสะดวก ปลอดภัยต่อสัตว์ร้าย รักษาความสะอาดได้ง่าย แม่หมูมีอายุการอุ้มท้อง 114 วัน ระยะให้นม 30 วัน ระยะอนุบาลอีก 15 วัน จึงจับส่งให้สมาชิกนำไปเลี้ยงต่อ จำหน่ายตัวละ 1,500 บาท เป็นการเลี้ยงเสมือนกับกระปุกออมสิน สะสมการให้อาหาร การจัดการ เมื่อขายลูกหมูจึงทำให้มีรายได้เป็นก้อนใหญ่ สร้างบ่อบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงบ่อปลา

หมูรุ่นพร้อมขายให้สมาชิก

ขุดบ่อปลา เป็นบ่อขุดที่มีขนาด 100×100 เมตร เพื่อใช้เก็บกักน้ำไว้ใช้ในยามขาดแคลน ปล่อยปลาลงเลี้ยงตามฤดูกาลและตามความต้องการของตลาด เช่น ปลาหมอเทศ ปละตะเพียน ปลาดุก ขอบบ่อจะปลูกหญ้าแฝกป้องกันการพังทลายของดิน

บ่อเลี้ยงปลาและเก็บกักน้ำ

ปลูกพืชผัก ปลูกพืชผักสวนครัวบริเวณรอบบ่อปลา เลือกปลูกประเภทไม้ยืนต้น เช่น ชะอม มะเขือเปราะ มะเขือพวง พริก ข่า ตะไคร้ เป็นการปลูกครั้งเดียวแต่เก็บผลผลิตได้ตลอดไป ไม่ต้องเตรียมแปลงบ่อยครั้ง การดูแลรักษาง่าย เก็บกินและเก็บขายได้ บริเวณริมรั้วก็สามารถปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น เช่น มะม่วง มะยม พุทรา มะกอก มะละกอ กล้วย มะพร้าวน้ำหอม เพื่อเก็บผลกินได้ตามฤดูกาล ภายในแปลงผักจะใช้ปุ๋ยน้ำหมัก ปุ๋ยอินทรีย์

ปลูกหญ้าแพงโกล่า ใช้พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกหญ้าแพงโกล่าเพื่อขาย โดยร่วมกับวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตอาหารสัตว์ ขายให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงม้า ช้าง วัว ควาย แพะ แกะ เก้ง กวาง เป็นสมาชิกเครือข่ายผู้ปลูกหญ้าภาคเหนือ เพื่อเชื่อมโยงการตลาด การผลิต สร้างความมั่นคงด้านอาชีพ เนื่องจากปลูกเพียงครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวได้หลายปี ตัดขายได้ทุก 45 วัน ได้ผลผลิตหญ้าสด 2,500-3,000 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 2 บาท ส่วนหญ้าแห้งจะได้ 800-1,000 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 6 บาท ต่อไร่ เฉลี่ยแล้วในรอบ 1 ปี ตัดหญ้าแพงโกล่าขายได้ 6 ครั้ง

ไผ่กิมซุ่ง พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกไผ่กิมซุง จำนวน 80 ต้น ไผ่ชนิดนี้ให้ผลผลิตเร็ว หลังจากปลูกได้ 8 เดือน ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี ไม่พักตัวในฤดูหนาว รสชาติหวานกรอบ เนื้อไม่มีเสี้ยน สามารถบังคับให้ออกหน่อนอกฤดูได้ ทำให้ขายได้ราคาดีกว่าฤดูฝน ขายได้ทั้งหน่อไม้และหน่อไม้แปรรูป เป็นรายได้ตลอดทั้งปี

การปลูกข้าว พื้นที่ 2 ไร่กว่า ใช้ปลูกข้าวเพื่อการบริโภค บางส่วนที่เหลือเก็บไว้ในยุ้งฉางเพื่อการจำหน่าย โดยใช้ข้าวหอมมะลิ 105 ได้ผลผลิต 650 กิโลกรัม ต่อไร่

ติดต่อศึกษาดูงานหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณิตฟาร์ม โทรศัพท์ (081) 950-9727

 

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์