ปลูกส้มโอทองดี ปลูกง่าย รสชาติหวาน รับประทานอร่อย ชาวจีนนิยมซื้อ

ส้มโอพันธุ์ขาวทองดี หรือชาวสวนเรียกกันสั้นๆ ว่า “ส้มโอทองดี” แต่ก่อนมีผู้เรียกส้มโอพันธุ์นี้ว่าส้มสีปูน เนื่องจากลักษณะสีของเปลือกในและเนื้อที่มีสีแดงคล้ายสีปูน ส้มโอทองดี เป็นส้มโอพันธุ์ที่สามารถรักษารสชาติไว้ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะปลูกที่ไหน ในสภาพพื้นที่อย่างไร คุณภาพของรสชาติไม่เปลี่ยน จึงเป็นที่นิยมทั้งภายในและต่างประเทศ ใบจะมีลักษณะค่อนข้างมนหรือกลม สีเขียวเข้ม บริเวณริมใบเป็นจักเล็กๆ และมีจักใหญ่ 1 จัก ตรงส่วนปลายใบ เส้นใบจะหยาบและหนา ผิวผลเรียบสีเขียว

มีลักษณะผลที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจน คือทรงผลกลมแป้น ไม่มีจุก มีจีบเล็กน้อยที่ขั้วผล ขนาดผลปานกลาง ผลมีน้ำหนักประมาณ 950-1,200 กรัม เปลือกผลมีขนอ่อนนุ่มเล็กน้อย เปลือกบางเพียง 1-2 เซนติเมตรเท่านั้น เนื้อหรือกุ้งมีสีชมพูอ่อน เนื้อนิ่มฉ่ำน้ำ รสชาติหวาน มีความหวานสูง ไม่มีรสขม กลิ่นหอม รับประทานอร่อย ชาวจีนนิยมซื้อเพราะสีเนื้อคล้ายสีทับทิมไหว้เจ้า เป็นมงคลนั่นเอง ซึ่งตลาดส้มโอทองดีส่งออกตอนนี้ส่งออกไปที่จีนและฮ่องกงเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากข้อมูลพบว่าส้มโอพันธุ์ทองดีมีตัวเลขส่งออกมากที่สุด

คุณพงษ์พัน เมืองทอง กับผลผลิตส้มโอทองดี ที่เน้นการขายไปต่างประเทศ

คุณพงษ์พัน เมืองทอง เจ้าของสวน “เมืองทอง” อยู่บ้านเลขที่ 133/3 หมู่ที่ 8 ตำบลโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตรศ โทร. (089) 267-9764 ตัวอย่างเกษตรกรที่ปลูกส้มโอพันธุ์ทองดีมานาน และปัจจุบันนั้นเน้นผลผลิตส้มโอทองดีเพื่อส่งออกเกือบทั้งหมด เนื่องจากมีราคารับซื้อที่สูงกว่าราคาซื้อขายส้มโอภายในประเทศ แต่เกษตรกรก็ต้องทำผลผลิตส้มโอออกมาให้มีคุณภาพตามที่ผู้ค้าส่งออกต้องการเช่นกัน
คุณพงษ์พัน เล่าย้อนไปว่า ส้มโอปลูกมานานตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ ที่ปลูกมานานกว่า 30 ปี ถือว่าเป็นสวนส้มโอในยุคแรกๆ ของอำเภอโพธิ์ประทับช้าง ต่อมาเมื่อคุณพ่ออายุมากก็ให้รุ่นลูกปลูกต่อ ซึ่งตนเองก็ปลูกส้มโอ จำนวน 22 ไร่ อายุต้นส้มโอโดยเฉลี่ยก็ประมาณ 15 ปี ซึ่งทำแค่ 2 คน กับภรรยาเท่านั้น ซึ่งการทำสวนส้มโอที่นี่ปัจจุบันเน้นการใช้เครื่องจักร อย่าง เครื่องฉีดพ่นสารเคมี อย่างรถพ่นสารเคมีแบบแอร์บัส ที่มีประสิทธิภาพดีทำให้การใช้แรงงานตัวเองน้อยลงหรือต้องจ้างแรงงานฉีดยาไม่มี

สวนส้มโอ 22 ไร่ ปลูกส้มโอพันธุ์ทองดีทั้งหมด

คุณพงษ์พัน ให้เหตุผลที่เลือกปลูกแต่ส้มโอทองดี เพราะส้มโอทองดี ดูแลง่าย เมื่อแก่ใกล้เก็บเกี่ยวก็ไม่เป็นหัวข้าวสารเร็ว ซึ่งสายพันธุ์อื่นมักจะเป็น เช่น ขาวแตงกวา เมื่อแก่เก็บเกี่ยวได้ก็ต้องเร่งเก็บหรือรีบตัดขาย แต่กับส้มโอทองดีนั้นเมื่อแก่จะไม่ค่อยเป็นหัวข้าวสาร ทำให้สามารถชะลอเวลาการเก็บผลเพื่อรอราคาที่สูงจนกว่าเราพอใจขายได้ อย่างราคาซื้อขายอาจจะถูกกว่าขาวแตงกวา

ส้มโอทองดีเพื่อการส่งออก ต้องดูแลผิวให้สวย

“แต่จริงๆ ก็ถือว่าต่างกันไม่มากนัก ยกตัวอย่างช่วงเวลาแพงที่สุดในปีที่ผ่านมา สำหรับราคาส่งออกไปจีน ส้มโอขาวแตงกวา ราคากิโลกรัมละ 90 บาท ซึ่งราคาส้มโอทองดี ราคากิโลกรัมละ 60-80 บาท ส่วนตัวคิดว่าเรื่องของระยะเวลาที่อยู่บนต้นไม่ต้องมาบีบบังคับเรามากนักที่จะต้องรีบเก็บเกี่ยว แต่การเลือกสายพันธุ์ปลูกนั้นก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละสวนด้วย ซึ่งบางสวนก็เลือกปลูกขาวแตงกวาที่ราคาสูงสุดในบรรดาส้มโอด้วยกัน ผลใหญ่ทำให้น้ำหนักดีกว่า แต่การออกดอกติดผลของขาวแตงกวานั้นยังสู้ทองดีไม่ได้ที่ออกดอกติดผลง่ายกว่า”

ปลูกส้มโอ ต้องเป็นดินไม่แฉะ อุ้มน้ำ

คุณพงษ์พัน ยกตัวอย่างว่าพื้นที่ปลูกบางแปลงที่เคยเป็นที่ทำนามาก่อน สภาพดินเป็นดินเหนียว ซึ่งแน่นอนย่อมอุ้มน้ำได้ดี ต้นส้มโอที่ปลูกบนดินที่อุ้มน้ำหรือดินขังแฉะจะเป็นโรครากเน่าโคนเน่าได้ง่าย ซึ่งต้นส้มโอที่ดีระบบรากจะต้องสมบูรณ์ แข็งแรง จึงจะให้ผลผลิตที่ดีตาม ดินปลูกที่ร่วนซุย ระบายน้ำดีย่อมจะดีที่สุดสำหรับพื้นที่ปลูกส้มโอ พื้นที่ที่น้ำขังแฉะจึงไม่เหมาะสมนักสำหรับการปลูกส้มโอหรือน้ำแฉะช่วงออกดอก หรือผลอ่อนก็จะร่วง เป็นต้น ในบางพื้นที่ก็อาจจะแก้ไขปรับพื้นที่ให้ระบายน้ำดี เช่น การยกร่องแบบลูกฟูก

ส้มโอ เป็นพืชที่ชอบน้ำ แต่ไม่ชอบแฉะ

สวนส้มโอ ต้องมีระบบการให้น้ำที่ดี น้ำจะช่วยให้การเจริญเติบโตที่ดีและสม่ำเสมอในช่วงแรกของการปลูก ต่อมาเมื่อต้นส้มโอโตพอที่จะเริ่มบังคับให้มีผลผลิตอย่างเต็มที่ เช่น อายุ 3-4 ปีขึ้นไป เทคนิคการงดน้ำให้กับต้นส้มโอจนเหมาะสมแล้วเปิดน้ำให้กับต้นส้มโออย่างเต็มที่ เพื่อกระตุ้นการออกดอกก็ต้องอาศัยระบบน้ำที่ดีมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

สวนส้มโอที่ใช้การตัดหญ้าไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า เพื่อไม่ให้กระทบกับระบบรากส้มโอ

ระยะปลูกส้มโอทองดีของสวนเมืองทอง

เนื่องจากต้นส้มโอที่ใช้ปลูกส่วนใหญ่ได้จากกิ่งตอน จึงมีทรงพุ่มไม่กว้างนัก ดังนั้น ถ้าปลูกในสภาพที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ดี ใช้ระยะห่างระหว่างต้นและระหว่างแถว ประมาณ 8×8 เมตร ซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก แต่ถ้าปลูกในสภาพที่ดินไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์นัก หรือมีระดับน้ำใต้ดินสูงก็อาจจะปลูกให้มีระยะระหว่างต้นและแถวประมาณ 6×6 เมตร ฉะนั้น ในพื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกส้มโอได้ประมาณ 25-40 ต้น

คุณพงษ์พัน เล่าว่า ที่สวนตนเองเลือกระยะปลูก 7×7 เมตร ก็ควบคุมทรงพุ่มโดยช่วยตัดแต่งออกบ้างหลังการเก็บเกี่ยว เน้นการตัดแต่งกิ่งที่ไขว้กัน กิ่งที่แน่นทึบ ไม่สามารถตัดแต่งกิ่งหนัก เช่น ไม้ผลอื่น เช่นมะม่วงได้ ต้นส้มโอถ้าตัดแต่งหนักการให้ผลผลิตในปีต่อไปจะไม่ดี หรือไม่ออกดอกติดผลเลย เรื่องระยะปลูกชาวสวนก็จะต้องพิจารณากันเองตามเหตุผลในแต่ละพื้นที่ แต่ทุกวันนี้ที่ดินมีราคาค่อนข้างแพง การปลูกส้มโอก็ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดและเรื่องของการจัดการสวน

วิธีปลูกส้มโอ

หลังจากเตรียมหลุมปลูกเรียบร้อยแล้ว นำกิ่งพันธุ์ส้มโอที่เตรียมไว้วางลงตรงกลางหลุม โดยให้ระดับของดินในถุงต้นกล้าสูงกว่าระดับดินปากหลุมเล็กน้อย หรือถ้าเป็นกิ่งตอนที่ชำแล้วให้ระดับดินที่ชำพอดีกับดินปากหลุม ใช้มีดที่คมกรีดถุงต้นกล้าจากก้นถุงขึ้นมาถึงปากถุงทั้ง 2 ด้าน คือซ้ายและขวา เมื่อกรีดถุงแล้วให้ดึงถุงพลาสติกออก โดยระวังอย่าให้ดินแตก กลบดินที่เหลือลงหลุม กดดินบริเวณโคนต้นให้แน่นแล้วใช้ไม้ปักยึดกับลำต้น โดยปักให้ถึงก้นหลุมเพื่อป้องกันลมโยก หาวัสดุต่างๆ เช่น ฟางข้าว หญ้าแห้ง มาคลุมดินบริเวณโคนต้น รดน้ำให้ชุ่มแล้วหาวัสดุมาทำร่มเงา เช่น ทางมะพร้าวหรือกิ่งไม้ที่มีใบใหญ่มาพรางแสงแดดทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก เพื่อช่วยพรางแสงแดดให้กับส้มโอที่ปลูกใหม่ เมื่อต้นตั้งตัวได้ก็ค่อยเอาที่พรางแสงออก        

กิ่งตอนส้มโอทองดี เลือกตอนกิ่งจากต้นแม่พันธุ์ที่ดี

เทคนิคการอดน้ำหรือกักน้ำ ให้ออกดอกตามต้องการ

คุณพงษ์พัน อธิบายว่า เป็นเทคนิคที่นำมาใช้ในสวนส้มเพื่อช่วยให้ต้นส้มออกดอก ก็เข้าสู่กระบวนการในการทำใบอ่อนให้เสมอทั่วทั้งต้น จากนั้นก็จะใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 8-24-24 พร้อมกับการฉีดพ่นสะสมอาหาร 2-3 รอบ ด้วยปุ๋ย ฮอร์โมน สารป้องกันกำจัดโรคและแมลงเพื่อรักษาใบอ่อนไม่ให้โดนทำลาย โดยสะสมอาหารราวๆ 2 เดือน ตั้งแต่ระยะใบอ่อนจนถึงระยะใบแก่

การกักน้ำ จะงดน้ำราว 20-30 วัน ให้ดินแห้ง เห็นว่าใบแก่มีสีเขียวเข้ม บีบจับขยี้ใบส้มโอแล้วกรอบ แสดงว่าใช้ได้ ก็จะเปิดน้ำให้จนชุ่มฉ่ำ ใส่ปุ๋ยเคมีช่วยกระตุ้นการเปิดตาดอก ด้วยปุ๋ย สูตร 8-24-24 อีกครั้ง แล้วการฉีดพ่นเปิดตาดอกจะฉีดพ่นด้วยปุ๋ยเกล็ด สูตร 0-52-34 อัตรา 2.5-3 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,000ลิตร ผสมกับพวกฮอร์โมน เช่น สาหร่ายสกัด แคลเซียมโบรอนและสารป้องกันกำจัด โดยจะฉีดกระตุ้นให้ออกดอกหรือเรียกว่าการเปิดตาดอก ก่อนการเปิดน้ำสัก 5-7 วัน 1 ครั้ง หลังการเปิดให้น้ำอย่างเต็มที่ก็จะฉีดพ่นเปิดตาดอก ครั้งที่ 2

มีระบบน้ำที่ดีและคลุมฟางรักษาความชื้นในช่วงหน้าแล้ง

หากเห็นว่ามีแนวโน้มของการออกดอกให้เห็นก็ให้เลือกใช้ปุ๋ยสูตรเดิม คือ ปุ๋ยทางใบ สูตร 0-52-34 หรือหากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอากาศค่อนข้างหนาวเย็น ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นปุ๋ยที่มีสูตรปุ๋ยตัวหน้ามาช่วยกระตุ้น เช่น สูตรทางใบ สูตร 13-0-46  ส่วนปุ๋ยทางดินที่จะใส่ให้ช่วงเปิดตาดอกก็ยังคงใช้ปุ๋ยเคมีใส่ทางดิน คือสูตร 8-24-24 แต่หลังจากใส่ปุ๋ยทางดินแล้ว ฉีดเปิดตาดอกทางใบแล้วยังนิ่งไม่ออกดอก ก็อาจจะใส่ปุ๋ยทางดินช่วยกระตุ้นให้อีกครั้ง เช่น ปุ๋ยเคมี สูตร 18-0-46 ใส่ให้เป็นต้นๆ ไป

การออกดอกของส้มโอ

ถ้าปล่อยให้ส้มโอออกช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ (ขึ้นน้ำและเปิดตาดอกเดือนธันวาคม) ก็จะเป็นส้มปีหรือส้มตามฤดูกาล ซึ่งส้มโอทองดีหลังออกดอกนับไปอีกราว 7.5-8 เดือน จึงจะแก่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ถ้าเป็นส้มโอขาวแตงกวา อายุจะสั้นกว่าราว 7 เดือน ก็จะเก็บเกี่ยวได้ แต่ถ้าเป็นส้มโอนอกฤดูกาลก็จะต้องให้ออกดอกมาก่อนหน้านี้ เช่น บังคับให้ออกดอกมาในช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม ก็แล้วแต่เกษตรกรว่าจะวางแผนให้ออกช่วงเดือนไหน ขึ้นอยู่กับการวางแผนของตัวเกษตรกรเอง

การทำส้มโอนอกฤดูกาล นอกจากมีความเข้าใจเบื้องต้นเรื่องของนิสัยธรรมชาติของส้มโอสายพันธุ์ที่ตนเองปลูก เกษตรกรก็ต้องอาศัยดวงจากธรรมชาติอีกด้วย ซึ่งนิสัยส้มโอทุกสายพันธุ์จะออกดอกติดผลปีละ 2 รุ่น โดยรุ่นแรกออกดอกเดือนธันวาคม-มกราคม ผลแก่เก็บเกี่ยวเดือนสิงหาคม-กันยายน (ดกมาก) รุ่นสองออกดอกเดือนสิงหาคม-กันยายน ผลแก่เก็บเกี่ยวเดือนมีนาคม-เมษายน (ดกน้อยกว่ารุ่นแรก) แต่ผลรุ่นสองมีคุณภาพดีกว่ารุ่นแรกเพราะผลแก่ตรงกับช่วงแล้ง ถ้าต้องการทำให้ผลรุ่นแรกดีเหมือนรุ่นสองจะต้องควบคุมปริมาณน้ำ โดยเฉพาะน้ำใต้ดินโคนต้นให้ได้เท่านั้น              

 ระยะออกดอกถึงระยะติดผลอ่อน

ต้องให้น้ำส้มโออย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลาการเลี้ยงผลบนต้น แต่ควรจะเว้นการให้น้ำในวันที่ดอกบานเพื่อลดการร่วงของดอก หมั่นเดินสำรวจการทำลายโรคและแมลง เพราะถือว่าเป็นระยะที่สำคัญ ส้มโอจะค่อนข้างบอบบางต่อการทำลาย ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารป้องกันกำจัดโรคและแมลงช่วงที่ดอกส้มโอบาน แมลงศัตรู เช่น “เพลี้ยไฟ” หากมีการระบาดมากจะทำให้ใบหงิกงอ ดอกอ่อนร่วง หรือผลอ่อนร่วง ผลอ่อนทรงบิดเบี้ยว มีรอยแผลสีเทาเงินที่ผิวผล ทำให้ผลมีการเจริญเติบโตช้าและต้องร่วงหล่นไปก่อนการเก็บเกี่ยว ควรเด็ดผลทำลายทิ้งไป

ช่วงติดผลอ่อน ต้องมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ

การระบาดเกิดได้ทั้งปี แต่การระบาดจะรุนแรงมากช่วงระยะใบอ่อน ระยะดอกและระยะผลอ่อน ช่วงหน้าแล้งที่มีสภาพอากาศแห้งและมีฝนตกน้อย คือราวๆ ช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน และพบว่ายังระบาดมากในช่วงของการผลิตส้มโอทะวายที่จะให้ผลผลิตช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ปัญหาจากเพลี้ยไฟถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ในการทำสวนส้มโอเลยทีเดียว ก็จะฉีดพ่นป้องกันด้วยสารกลุ่มอิมิดาคลอพริด เมโทมิล ฟิโปรนิล คาร์โบซัลแฟน เป็นต้น

ถ้าพบการระบาดของพวก “หนอนชอนใบส้ม” ที่มักระบาดช่วงระยะใบอ่อนและติดผลอ่อน แล้วมักระบาดมากในช่วงหน้าฝน ซึ่งหนอนชอนใบสร้างความเสียหายได้มากพอสมควรสำหรับสวนที่ละเลยการดูแลช่วงที่ส้มโอแตกใบอ่อนถึงระยะใบเพสลาด การทำลายนั้น ผีเสื้อกลางคืนตัวเต็มวัยจะวางไข่ที่ใบอ่อน เมื่อไข่ฟักออกมาเป็นตัวหนอน ตัวหนอนก็จะชอนเข้าไปกัดกินในระหว่างชั้นของผิวใบ และกัดกินเคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆ ทั่วใบ ทำให้เกิดโพรงสีขาวๆ คดเคี้ยวไปมาภายใต้ผิวใบทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทำให้พื้นที่ใบเสียหายการสังเคราะห์แสงลดลง ต้นที่เป็นมากๆ ก็จะชะงักการเจริญเติบโต แต่ข้อที่สำคัญคือแผลที่เกิดจากหนอนชอนใบเหล่านี้ทำลายนั้นจะทำให้เกิดโรคแคงเกอร์ตามมานั้นเอง

ส้มโอทองดี มีน้ำหนักเฉลี่ย 1.2 กิโลกรัม

ดังนั้น การที่ชาวสวนสามารถควบคุมหนอนชอนใบได้ก็สามารถควบคุมการระบาดโรคแคงเกอร์ได้ ก็ฉีดสารป้องกันกำจัด เช่น อะบาเม็กติน อีไทออนหรือจะเลือกใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อบาซิลลัส ทูริงเยนซีส (BT) ที่กำจัดหนอนได้ดี เป็นต้น พวก “หนอนเจาะผลส้ม” ที่มักจะมาเจาะทำลายผลอ่อนส้มโอ ก็ต้องตัดแต่งผลที่ถูกทำลายทิ้ง ถ้าพบการทำลายพอสมควรก็จะฉีดป้องกันด้วยสารกลุ่มไซเปอร์เมทริน+โฟซาโลน เป็นต้น พวก “ไรแดง” ที่จะพบการระบาดมากช่วงอากาศแห้งแล้ง ที่จะทำลายผิวส้มโอเป็นอย่างมาก ฉีดพ่นป้องกันกำจัดด้วยสารกลุ่มอะมิทราซ สไปโรมีซิเฟน ไพริดาเบน เป็นต้น

ส่วนถ้าส้มโอที่ติดผลช่วงหน้าฝนหรือฝนชุก ก็ต้องคอยระวังเรื่องของโรคแคงเกอร์ ที่เป็นอีกหนึ่งปัญหาหลักของส้มโอที่ไม่ควรจะให้เกิดการระบาด จะต้องคอยฉีดพ่นคุมด้วยสารคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ หรือ คอปเปอร์ไฮออกไซด์ ทุกๆ 7-15 วัน ส่วน “โรคแอนแทรคโนส” การฉีดพ่นสารเคมี เน้นเชื้อราเข้าขั้ว แอนแทรคโนส มีสารเคมีตัวไหนดีก็ต้องฉีดช่วงนี้ได้เลย ฉีดช่วงก่อนดอกบาน 1-2 รอบ จะดีที่สุด แต่ถ้าระบาดแล้วจะแก้ไขไม่ได้ เพราะผลส้มโอจะร่วงช่วงผลใกล้แก่ เป็นช่วงที่สำคัญที่ต้องเอาใจใส่
การฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดทั้งหมด ต้องหยุดฉีดพ่นก่อนการเก็บเกี่ยว อย่างน้อย
15-30 วัน เพื่อความปลอดภัยและไม่ให้เกิดสารตกค้าง

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์