กัญชา-กัญชง ต่างกันยังไง พร้อมวิธีปลูก บอกหมดตั้งแต่เตรียมดิน จนเก็บเกี่ยว

กัญชา-กัญชง ต่างกันยังไง พร้อมวิธีปลูก บอกหมดตั้งแต่เตรียมดิน จนเก็บเกี่ยว
กัญชา-กัญชง ต่างกันยังไง พร้อมวิธีปลูก บอกหมดตั้งแต่เตรียมดิน จนเก็บเกี่ยว

เหมือนที่ไม่เหมือน! กัญชา-กัญชง ต่างกันยังไง พร้อมวิธีปลูก บอกหมดตั้งแต่เตรียมดิน จนเก็บเกี่ยว

ดีเดย์ปลดล็อกจากสารเสพติดให้โทษกันเป็นทางการแล้ว สำหรับ กัญชา พืชสายเขียว ที่ประชาชนหลายๆ คน รวมถึงเหล่าผู้ประกอบการนักธุรกิจ ที่มองหาลู่ทางในการทำเงินจากพืชชนิดนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ก็มีพืชฝาแฝดอย่าง กัญชง ที่ทางการอนุญาตให้นำมาแปรรูปกันได้

ซึ่ง กัญชา กับ กัญชง หากให้มองผ่านๆ หน้าตาของพืชทั้ง 2 ชนิดนี้ มีความคล้ายกันจนแทบแยกไม่ออก แล้วคนที่เพิ่งเข้าวงการสายเขียวมือใหม่ จะแยกพืชทั้ง 2 ชนิดนี้อย่างไร? แล้วอยากปลูกบ้าง ต้องปลูกอย่างไร? มาหาคำตอบไปพร้อมกัน ดังนี้

1. พืชตระกูลเดียวกัน แต่คนละสายพันธุ์ 

กัญชา (Marijuana) และกัญชง (Hemp) พืชทั้ง 2 ชนิดเป็นพืชล้มลุกที่มีถิ่นกำเนิดเดียวกันในวงศ์
Cannabaceae ที่อยู่ในตระกูล Cannabis เหมือนกัน ต่างกันที่สายพันธุ์ย่อยจึงทำให้กัญชงและกัญชามี
ลักษณะที่คล้ายกัน โดยจะแตกต่างกันในด้านลักษณะทางกายภาพ และปริมาณสารสำคัญ เป็นต้น

2. กัญชงและกัญชา เป็นหรือไม่เป็นสารเสพติด?

กัญชง ถูกจัดให้เป็นพืชที่อยู่ในบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เนื่องจาก กัญชงเป็นพืชสายพันธุ์ย่อยของกัญชา ที่มีสารเสพติดออกฤทธิ์สำคัญที่ชื่อว่า THC (Tetrahydrocannabinol)

แต่ในปัจจุบันกัญชาและกัญชงถูกปลดล็อกจากกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ออกประกาศกฎกระทรวงเรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563 ให้บางส่วนของต้นกัญชงและบางส่วนของต้นกัญชา สารสกัดที่มี CBD (Cannabidiol) เป็นส่วนประกอบและต้องมีสาร THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก ไม่จัดว่าเป็นยาเสพติด ยกเว้นช่อดอกกัญชง ช่อดอกกัญชา และเมล็ดกัญชาที่ยังคงจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อยู่

3. ลักษณะที่แตกต่างกันของกัญชาและกัญชง

กัญชา (Marijuana) : ชื่อวิทยาศาสตร์ Cannabis sativa L.subsp. indica มีลักษณะ ลำต้นเตี้ยเป็นพุ่มสูงไม่เกิน 2 เมตร, แตกกิ่งก้านมาก, ใบหนากว้าง สีเขียวเข้ม เรียงตัวชิดกัน มีแฉกประมาณ 5-7 แฉก, เส้นใยคุณภาพต่ำกว่ากัญชง, มีขนาดเล็กกว่ากัญชง ผิวมีลักษณะมันวาว, มีปริมาณสาร *THC (Tetrahydrocannabinol) เกิน 1%, มีปริมาณสาร CBD (Cannabidiol) ไม่เกิน 2%, ส่วนใหญ่ นิยมนำมาสกัดเป็นยารักษาโรคและใช้ในทางการแพทย์

กัญชง (Hemp) : ชื่อวิทยาศาสตร์ Cannabis sativa L.subsp. sativa มีลักษณะ ลำต้นสูงเรียวมากกว่า 2 เมตร, แตกกิ่งก้านน้อย, ใบเรียวสีเขียวอ่อน เรียงตัวห่างกว่าใบกัญชา มีแฉกประมาณ 7-11 แฉก, เส้นใยให้ปริมาณมากกว่ากัญชาและมีคุณภาพสูง, มีขนาดใหญ่ ผิวเมล็ดเรียบ มีลายบ้าง, ปริมาณสาร THC (Tetrahydrocannabinol) ไม่เกิน 1%, มีปริมาณสาร CBD (Cannabidiol) เกิน 2%, สามารถนำไปแปรรูปในงานสิ่งทอ/ทำกระดาษ/เมล็ดสกัดสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอางได้

* สาร THC (Tetrahydrocannabinol) : มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ส่งผลต่ออารมณ์ ความจำ ความรู้สึก ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เคลิบเคลิ้ม อยากอาหาร และลดอาการคลื่นไส้

** สาร CBD (Cannabidiol) : ไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท มีฤทธิ์ระงับอาการปวด ลดการอักเสบ ลดอาการชักเกร็ง และลดความกังวล

4. วิธีปลูก 

กัญชา : มีสายพันธุ์หลักๆ มีอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ 1. ซาติวา  (Sativa) ที่อยู่บริเวณประเทศเรา จะมีลักษณะใบเรียวยาวบาง สีเขียวอ่อน ต้นมีความสูงมาก โปร่ง กิ่งและก้านยาว เพราะว่าภูมิอากาศบ้านเราร้อนต้องพยายามปรับตัวให้อยู่ในอากาศที่ร้อนให้ได้ เพื่อจะได้ผลิตผลผลิตออกมา ส่วนใหญ่สารที่มีในสายพันธุ์นี้คือ THC

2. อินดิกา (Indica) มีลักษณะใบที่หนา ต้นมีความเตี้ยและป้อม เกิดในพื้นที่ที่สูงกว่าประเทศไทยขึ้นไปเล็กน้อย อากาศที่เย็นขึ้นมานิดหน่อย สารในสายพันธุ์นี้คือ THC, CBD และ 3. รูเดอราลิส (Ruderalis) สายพันธุ์นี้เป็นกัญชาป่า

โดยทั่วไปแล้ว ในประเทศไทย จะสามารถปลูกกัญชาให้ได้ผลปีละ 1 ครั้ง ซึ่งจะ เริ่มจากการเพาะเบี้ย หรือ การเพาะเมล็ดกัญชา สามารถทำได้ 2 วิธี คือ การเพาะในแปลงเพาะบนดิน หรือเพาะในกระบะใส่ดิน และการเพาะบนแปลง ซึ่งยกหน้าร้านขึ้นเหมือนเรือนเพาะชำ

ซึ่งการเพาะทั้ง 2 วิธีนั้น ผู้ปลูกจะต้องแช่เมล็ดกัญชาไว้ในน้ำประมาณ 3 วัน จากนั้นจึงนำมาลงแปลงเพาะประมาณ 20 วัน จนต้นมีความสูงประมาณ 10 ซม. จึงย้ายต้นอ่อนไปปลูกในหลุมที่เตรียมมาไว้ต่อไปได้

การเตรียมดินปลูกต้นอ่อน ผู้ปลูกจะเลือกทำเลปลูกที่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศ เช่น ฝนตกชุกให้เลือกที่สูง ฝนน้อยต้องปลูกใกล้แหล่งน้ำ เมื่อเลือกที่ปลูกได้แล้ว ให้ขุดหลุมกว้างประมาณ 40-50 ซม. ลึก 40-50 ซม. มีระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 1 เมตร และนำดินคลุกกับปุ๋ยคอก (หากใช้ปุ๋ยขี้ไก่ กัญชาจะออกช่องาม) ใส่รองก้นหลุม

จากนั้นนำต้นอ่อนกัญชาที่เพาะไว้มาปลูกในหลุม หลุมละประมาณ 5-7 ต้น เพื่อที่จะทำให้ได้ต้นกัญชาตัวเมีย (หากได้ต้นตัวผู้ต้องถอนทิ้งเพราะไม่นิยมนำมาใช้) ต้องบำรุงดูแลรักษาด้วยการใส่ปุ๋ยและรดน้ำทุกวัน ทั้งกัญชายังต้องอาศัยแสงแดดในการเจริญเติบโตและต้องหมั่นกำจัดวัชพืชและแมลงที่เป็นศัตรูพืชอยู่เสมอ หากพบว่ามีการทำลายของโรคและแมลง ให้หมั่นพรวนดินพร้อมใส่มูลไก่มูลกระบือลงไปรอบๆ โคนต้นด้วย

เมื่อต้นโตจนใกล้ออกดอก ต้องหมั่นพรวนดินตัดรากรอบๆ ต้น เพื่อให้ต้นเตี้ย แตกพุ่ม ไม่ให้สูงชะลูด จะทำให้ต้นออกช่อดอกแน่น เป็นกระจุกดี ไม่มีใบมาก จากนั้นจึงคัดต้น โดยเมื่อปลูกในแปลงได้ประมาณ 45 วัน หรือต้นมีความสูงประมาณ 50-60 ซม. ก็จะทราบได้แล้วว่า ต้นไหนคือต้นตัวผู้-ตัวเมีย (ต้นตัวผู้จะมีข้อถี่กว่า ใบเล็กและยาวกว่าต้นตัวเมีย โคนกิ่งหรือมีตาหรือดอกบาน)

การเก็บเกี่ยว จะสามารถทำได้ในช่วงที่ต้นกัญชาอายุประมาณ 5-6 เดือน เพราะช่อดอกสมบูรณ์แล้ว โดยช่อดอกจะเป็นสีเหลือง ให้ตัดกิ่งที่เป็นช่อมัดรวมกันไว้ แล้วนำไปตากแดดโดยแขวนไว้กับราว (เก็บในตอนกลางคืนเพื่อกันน้ำค้าง) โดยจะใช้เวลาตากให้แห้งประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่อแห้งดีแล้ว จะเคาะเอาเมล็ดออกไว้ใช้ทำพันธุ์ต่อ กัญชาที่ได้จะมีความเหนียวและสามารถเก็บไว้ได้นาน ไม่ขึ้นรา จากนั้นจะเอาช่อดอกที่แห้งแล้วไปจำหน่ายต่อไป

กัญชง : วิธีเพาะปลูกส่วนใหญ่จะเป็นการหว่าน และการเพาะปลูกแบบเป็นหลุม โดยมีระยะระหว่างต้น 8 ซม. ระหว่างแถว 8 ซม. (1 ไร่ สามารถปลูกได้ประมาณ 160,000 ต้น) โดยเริ่มจากการเตรียมดิน แล้วนำเมล็ดกัญชงที่เตรียมไว้แล้วมาหว่านลงไปในดิน

จากนั้นจะใช้คราดเกลี่ยดินให้ทั่ว ในบางพื้นที่หากน้ำไม่พอเพียง ก็สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี กัญชงเป็นพืชที่ปลูกง่าย โตเร็ว อายุประมาณ 3-4 เดือน และมักไม่ค่อยมีการใช้ยาป้องกันกำจัดศัตรูพืช เหมือนกัญชา

ขอบคุณข้อมูลจาก

กัญชง VS กัญชา ความเหมือนบนความต่าง

https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_177311

https://www.oncb.go.th/ncsmi/hemp7/%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%B2-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%87.pdf

 

เผยแพร่เมื่อ วันพฤหัสที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2565