ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ‘ควนกาหลง’ โค่นยางปลูกกล้วยขาย โกยรายได้ตลาดมาเลย์

หลังจบปริญญาตรีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กิตินัน นุ้ยเด็น เด็กหนุ่มจากตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล เลือกใช้ชีวิตเป็นเกษตรกร โดยทำการเกษตรแบบเต็มรูปแบบ ร่วม 3 ปี บนไร่ อ.การเกษตร (สามพี่น้อง) ใช้ความรู้จากการศึกษาค้นหาและลงมือทำ ก่อนตัดสินใจพลิกสวนยางพาราอายุเกิน 25 ปี เป็นสวนมะละกอ สวนกล้วยหอมและกล้วยไข่ มีผลผลิตออกจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้งดงาม เฉลี่ยเดือนละ 30,000-50,000 บาท เป็นสินค้าเกษตรที่ตลาดต้องการ ทั้งในประเทศและเพื่อนบ้าน อาทิ เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ด้วยการบริหารจัดการในระดับแนวหน้าของจังหวัด จนประสบความสำเร็จเป็นเกษตรกรตัวอย่าง เป็นเกษตรยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ หรือเกษตรคนรุ่นใหม่ ตามโครงการของกระทรวงเกษตร

“กิตินัน” เล่าว่า เนื่องจากสวนยางพารามีอายุมาก ต้นแก่มากแล้ว ประกอบกับปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างต่อเนื่อง จึงตัดสินใจโค่นต้นยางทิ้งแล้วหันมาปลูกมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ พันธุ์แขกดำ 400 ต้น และปลูกกล้วยหอม กล้วยไข่ 2,000 ต้น ตั้งเป้าหมายว่าประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ที่เหลือเป็นยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน ปรากฏว่าสวนกล้วยให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากถึงคราวละ 100 กิโลกรัม ส่งไปขายในพื้นที่จังหวัดสตูล และตลาดชายแดนเกาะลังกาวี ในราคากล้วย กิโลกรัมละ 15-20 บาท

“กล้วยให้ผลผลิตเร็ว ออกนานถึง 8 เดือน เก็บครั้งละไม่น้อยกว่า 30-100 กิโลกรัม ตลาดกว้าง อนาคตสดใส ปลูกดูแลง่าย ขณะที่มะละกอ กิโลกรัมละ 20-30 บาท ให้ผลผลิตนาน 12 เดือน เก็บครั้งละไม่น้อยกว่า 50 กิโลกรัม หลักสำคัญในการทำการเกษตรคือ ดิน น้ำ และการจัดการ หากดินดีปลูกอะไรก็งอกงาม หากไม่ขาดน้ำจะยิ่งดี และต้องรู้จักเรียนรู้การบริหารจัดการ ปลูกพืชผักแบบสวนผสม โดยเฉพาะแปลงมะละกอและกล้วยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ อย่างไรก็ตาม กล้วยมีตลาดกว้าง แม้ราคาถูกกว่ามะละกอ แต่อนาคตสดใส ขณะนี้กำลังวางแผนปลูกเพิ่มเติม”

อดินัน นุ้ยเด็น วัย 64 ปี ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของไร่ อ.การเกษตร (สามพี่น้อง) เล่าว่า การเป็นเกษตรกรที่จะประสบความสำเร็จต้องกล้าคิด กล้าตัดสินใจ เมื่อยางพาราหมดอายุต้องตัดสินใจให้ได้ว่าควรปรับเปลี่ยนแปลงเป็นพืชอะไรให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ ดิน และการบริหารจัดการ ทำให้ลูกหลานที่เป็นเกษตรกรไร่ อ.การเกษตร (สามพี่น้อง) ประสบความสำเร็จ เป็นยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ นำผลผลิตขายออกสู่ตลาด รวมทั้งตั้งเรือนเพาะชำพันธุ์ไม้เป็นจุดศูนย์กลางของครอบครัว ผลิตมะละกอฮอลแลนด์ แขกดำ รวมทั้งพันธุ์ และพันธุ์พืชผักสวนครัว ปุ๋ย ยาง ปาล์ม และผลไม้ต่างๆ โดยมีตลาดมารับถึงสวน

ไชยพงศ์ ทะนันชัย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการกล่าวว่า จังหวัดสตูลมีพื้นที่ปลูกกล้วยทั้งหมด 950 ไร่ มีมากที่สุดที่อำเภอควนโดน 420 ไร่ ในปี 2559 มีผลผลิตรวม 319 ตัน สำหรับแปลงของ “กิตินัน” ถือเป็นจุดหนึ่งตัวอย่างที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่สวนยางพารามาเป็นไร่กล้วยและมะละกอ จากเกษตรกรที่ประสบปัญหาราคายางพาราตกต่ำ หลังหันมาปลูกกล้วยให้กิโลกรัมละ 20-30 บาท มีการบริหารจัดการแบบครบวงจร มีตลาดรองรับ และกล้วยเป็นพืชเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้อีก

ซึ่งเกษตรจังหวัดและเกษตรอำเภอพร้อมส่งเสริมเป็นจุดเรียนรู้ให้เกษตรกรรายอื่นๆ พร้อมกันนี้นโยบายส่งเสริมอาชีพ เน้นให้เกษตรกรมีรายได้จากหลายแหล่งโดยทำการเกษตรแบบผสมผสานตามความถนัดของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นประมง ปศุสัตว์ และเกษตร ขอให้เกษตรกรที่สวนยางพาราหมดอายุเกิน 25 ปี ที่สนใจจะปรับเปลี่ยนมาดูแนวทางเลือกได้ หรือมาเรียนรู้ ศึกษาดูงานได้

ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน