เลิกเป็นลูกจ้าง กลับบ้านทำนาอินทรีย์ ช่วยลดต้นทุน ขายข้าวได้เดือนละ 2 หมื่น อยู่ได้สบาย

เชื่อว่าคนที่เข้ามาเรียนและมาทำงานในกรุงเทพฯ หลายๆ คนมีความคิดอยากกลับบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองไม่มากก็น้อย หลายคนพื้นเพครอบครัวมีที่ดินทำกินอยู่ที่ต่างจังหวัด ซึ่งอาจทำให้เกิดความคิดอยากกลับไปพัฒนาพื้นที่ดั้งเดิมของตนเป็นพื้นที่ทำกินและสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้

แต่การจะกลับไปทำการเกษตรบนพื้นที่ดั้งเดิมของครอบครัว ก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย ที่จะสามารถเริ่มต้นทำได้เลย เนื่องจากการทำการเกษตรต้องอาศัยองค์ความรู้หลายด้าน ยิ่งในยุคปัจจุบันความรู้ด้านการตลาดก็มีความสำคัญและจำเป็นไม่น้อย เพราะคือช่องทางการสร้างรายได้ และความอยู่รอดของเกษตรกรชาวไทย เกษตรกรรุ่นใหม่ที่หันมาสนใจการทำเกษตรจึงหาจุดเด่นให้กับผลผลิตของตนเอง ไม่ว่าจะด้วยการปลูกพืชผลแบบวิถีอินทรีย์ เพื่อรับกระแสผู้บริโภค หรือการมีแพ็กเกจจิ้งที่ดี และคำนึงถึงคนรับมากขึ้นด้วย

p1090057

เปลี่ยนวิถีคนกรุง

มาเป็นชาวนา

คุณพิภัทร์ ศรีคำ หรือที่รู้จักกันในนาม “บ่าวนึก” วัย 45 ปี เจ้าของนาข้าวทองดี จังหวัดสุพรรณบุรี เล่าว่า “ก่อนจะมาทำนาอยู่บ้านเกิดนี้ อยู่กรุงเทพฯ มาก่อน เพราะเข้ามาเรียน หลังจากเรียนจบก็หางานทำที่กรุงเทพฯ เลย ตอนแรกไม่ได้มีความคิดว่าอยากกลับบ้านไปทำงานหรือเป็นชาวนาอะไร ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองกรุงเกือบ 30 ปี โดยทำงานด้านการออกแบบกราฟิกดีไซน์

แต่จุดเปลี่ยนของชีวิตคือ วันที่พ่อป่วยหนัก เขาป่วยเป็นโรคกรดออกในกระเพาะอาหาร จนกระทั่งเสียชีวิตไป  ตอนนั้นผมตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อไปดูแลพ่อช่วงที่แกป่วยหนัก จากนั้นเป็นต้นมาก็ไม่ได้กลับเข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ อีก

หลังจากที่พ่อเสียไป และตัดสินใจว่าจะไม่ไปทำงานที่กรุงเทพฯ อีกแล้ว ก็ได้คุยกับที่บ้านว่าอยากทำนา เพราะมีที่ดินที่พ่อแบ่งให้ลูกๆ โดยผมเป็นน้องคนสุดท้อง ก็ได้ที่ดินแปลงเล็ก แปลงหนึ่งใกล้กับบริเวณบ้าน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้มาทำนา”

หลังจากที่มีความคิดว่าจะทำนา ก็เริ่มหาข้อมูลเพิ่มเติมจากความรู้เดิมที่เคยมี โดยมีเพื่อนแนะนำมาว่า ให้ลองเข้าไปดูรายละเอียดกับมูลนิธิข้าวขวัญ โดยการไปดูงาน เพราะที่มูลนิธิเขามีสอนวิชาเกี่ยวกับการทำนาด้านต่างๆ ใช้เวลากว่า 2 ปีที่จองคิวไป กว่าจะได้คิวที่ลงตัว ใช้เวลาศึกษาดูงานที่นั้น 5 วัน 4 คืน คุณพิภัทร์ เล่า    p1090162

ทำนาอินทรีย์

ขายข้าวคุณภาพ

ตั้งแต่วันเริ่มต้นที่คิดจะมาเป็นชาวนาจนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 5 ปีแล้ว คุณพิภัทร์ บอกว่า “เริ่มต้นทำนาโดยการทำนาโยน ตอนนั้นถือเป็นวิธีการทำนาที่ใหม่ไม่น้อย การทำก็ง่ายกว่าการดำนามาก ชาวนาไม่ต้องหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดินเหมือนอย่างเคย ผมก็เลยลองเอาวิธีนั้นมาใช้บนที่ดินของตนเอง เริ่มต้นบนพื้นที่ 2 ไร่ ที่ได้รับเป็นมรดกจากพ่อมา แล้วชวนให้ทุกคนในครอบครัวมาลองทำกัน ก็เกิดสนุกสนานกัน และมีความสุขมาก จึงได้คิดว่านี่จะเป็นงานสุดท้ายที่จะทำในชีวิต

หลังจากทำนาไปได้สักพัก ก็เริ่มมีเงินเก็บบ้าง จึงเริ่มหาซื้อที่ดินเพิ่ม ความตั้งใจตั้งแต่ต้นที่เริ่มทำนาคือ จะทำนาแบบอินทรีย์ จาก 2 ไร่ที่ได้มาเป็นทุน ปัจจุบันก็สามารถขยายงานไปได้ 14 ไร่ และทำนาแบบอินทรีย์ทั้งหมด

ที่ต้องทำนาอินทรีย์ เพราะช่วยลดต้นทุนได้ ทำอินทรีย์ลงทุนไม่มาก ทำง่าย แต่ผลผลิตที่ได้ก็จะได้น้อย เพราะไม่ได้ใช้สารเคมีไล่แมลง หรือศัตรูพืชอื่น วิธีแก้หรือปราบแมลงก็ใช้วิธีการให้แมลงด้วยกัน ปราบกันเอง ผลผลิตที่ได้จึงไม่มาก ราคาขายจึงแพง

แต่เมื่อพื้นที่รอบข้างพื้นที่ดำนาของเรา เป็นพื้นที่ที่ทำนาแบบเคมี ก็หลีกเลี่ยงได้ยากที่จะโดนสารเคมี วิธีแก้ไขของผม ก็คือการทำคันนาที่ใหญ่ขึ้น และปลูกหญ้าแฝก เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการโดนสารเคมีจากแปลงนาอื่น”

การทำนา 14 ไร่ของคุณพิภัทร์ ทำแบบบริหารพื้นที่ในการปลูก และเลือกพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับฤดูกาลที่จะปลูก อย่างเช่น ฤดูนาที่ผ่านมานี้ ก็ต้องปลูกข้าวหอมมะลิ เพราะเป็นฤดูของข้าวที่จะออกรวง ให้ผลผลิตได้ ส่วนข้าวสี ชนิดอื่นๆ อย่าง ไรซ์เบอร์รี่ ก็สามารถไปปลูกในฤดูอื่นๆ ได้ โดยเฉลี่ย ผลผลิตที่สามารถเก็บเกี่ยวได้บนพื้นที่ 2 ไร่ จะได้ข้าวเปลือกประมาณ 500-600 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าดีมากแล้ว

ทำนา-สีข้าว-แพ็กเอง

ส่งขาย รายรับ 2 หมื่นต่อเดือน

เมื่อทำสำเร็จ มีผลผลิต เรื่องการขายและตลาดที่จะรับซื้อผลผลิตไปนั้น เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจไม่น้อย ชาวบ้านปลูกอะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่การหาตลาดขายเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ยาก หรือบางทีอาจไม่มีแหล่งตลาดที่จะขาย คุณพิภัทร์ บอกว่า ได้คำแนะนำจากเพื่อน และจากการได้ศึกษาหาข้อมูล ก็ได้พบว่ามีการขายแบบผูกปิ่นโต จึงไปสมัครในฐานะของชาวนาที่ผู้ผลิต โดยมีผู้ขายส่งข้าวตรงถึงผู้บริโภคได้โดยตรง โดยการจัดสรรของคนกลางที่ดูแลการผูกปิ่นโตให้

ซึ่งข้อดีคือ คนกลางที่เขาดูแลเป็นคนหาผู้บริโภคข้าวคนเมืองให้สมาชิก ซึ่งเขาเรียกฝ่ายคนผลิตข้าวว่า เจ้าบ่าว และเรียกผู้บริโภคที่มาซื้อข้าวว่า เจ้าสาว โดยเจ้าบ่าวจะส่งข้าวที่สี สดใหม่ไปให้เจ้าสาว เมื่อมีช่องทางการขายแล้ว ก็สร้างแบรนด์ข้าวใช้ชื่อว่า “ข้าวทองดี” ซึ่งเป็นชื่อของคุณแม่ ก็เป็นการขายข้าวมานับแต่นั้นp1090112

คุณพิภัทร์ เล่าเพิ่มเติมอีกว่า “ก่อนที่จะขายข้าวแบบผูกปิ่นโตนี้ได้ ก็ต้องผ่านการตรวจมาตรฐานหลายด้าน ทั้งคุณภาพของดิน การทำอินทรีย์ การสีข้าว การแพ็กบรรจุสุญญากาศด้วย เพื่อให้ได้คุณภาพที่ผู้บริโภคสามารถทานได้อย่างสบายใจ

ปัจจุบันมีคนมาผูกปิ่นโตกับนาทองดีแบบรายย่อยและองค์กร โดยรายย่อยที่เป็นครอบครัวอยู่ประมาณ 10  ครอบครัว ตกเฉลี่ยต่อเดือน 40-50 กิโลกรัมในการส่งขายให้กับครอบครัว ส่วนองค์กรที่มาผูกปิ่นโตกับผมคือ เคทีซี ตกเฉลี่ยต่อเดือนที่ส่งขายให้กับเคทีซี อยู่ที่ 200-220 กิโลกรัม

กำลังการผลิตจากเครื่องสีข้าวของผมเอง วันหนึ่ง สามารถสีข้าวเปลือกได้ประมาณ 300-500 กิโลกรัม โดยข้าวเปลือก 100 กิโลกรัม จะได้ข้าวสาร 65 กิโลกรัม หลังจากที่สีข้าวแล้วเสร็จ ก็จะนำแพ็กด้วยเครื่องแพ็กสุญญากาศเพื่อคงคุณค่าสารอาหารต่างๆ ของข้าวเอาไว้”p1090042

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งจากคุณพิภัทร์ เขาบอกว่า “อยากแนะนำคนกินข้าวว่า เมื่อเปิดถุงข้าวที่ซื้อมากินแล้ว ก็ควรรีบหุงกินให้หมด เพราะถ้าไม่หมด สารอาหารที่ควรได้ก็จะสลายหายไป จะเหลือแค่แป้ง ก็เท่ากับคนกินข้าวกินแป้งอย่างเดียวโดยที่ไม่ได้สารอาหารเลย หรือหากเปิดถุงแล้วกินไม่หมดเสียที ก็ควรเอาข้าวเข้าตู้เย็นเพื่อชะลอการสลายสารอาหารในข้าวให้ช้าลง”

รายได้จากการส่งข้าวขายของคุณพิภัทร์ ต่อเดือนอยู่ที่ 20,000 บาท พอเลี้ยงตัวเองอยู่ได้สบายๆ ในฐานะของคนที่ไม่ต้องเช่าที่อยู่อาศัยเป็นบ้านของตนเอง อยู่แบบชาวบ้าน มีพื้นที่ทำกิน ปลูกผัก ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ ถือว่าอยู่ได้

สำหรับใครที่อยากหันมาลองทำการเกษตรบนที่ดินของตนเอง อย่างแรกเลยที่คุณพิภัทร แนะนำคือ “ต้องรู้จักการศึกษา หาข้อมูล ในเรื่องที่อยากทำ และดูความพร้อมของตนเองเป็นหลักว่าอยากทำอะไร แบบไหน และต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ ทำให้ครอบคลุม”

หากสนใจการทำนาวิถีอินทรีย์ การซื้อขายข้าวอินทรีย์ หรืออยากยึดอาชีพสุดท้ายเป็นชาวนาแบบคุณพิภัทร์ ศรีคำ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โทรศัพท์ (089) 894-6875 Facebook : Pipat Krab หรือ Facebook : ข้าวทองดี และ LINE ID : Pipat-farmer