ที่มา | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
ผู้เขียน | พิชญาดา เจริญจิต |
เผยแพร่ |
รู้หรือไม่! ขมิ้นชันที่ปลูกในภาคใต้ถือเป็นขมิ้นชันที่ดีที่สุดในโลก และข้อจำกัดของการกินขมิ้นชันที่อันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์อ่อนๆ กินขมิ้นชันอาจจะแท้งได้
“ขมิ้นชัน” เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยกันดีในทุกภาค มีการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยนิยมนำมาปรุงช่วยเพิ่มสีสันแต่งกลิ่นและรสชาติของอาหาร มีตำรับอาหารและตำรับยามากมายเป็นทั้งยาภายนอกและยาภายใน สำหรับยาภายในใช้เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ เป็นต้น ส่วนยาภายนอก เชื่อว่าขมิ้นชันช่วยรักษาและสมานแผล ทำให้แผลไม่เป็นหนอง
และขมิ้นชันยังเป็นสมุนไพรเครื่องสำอางได้ดีอีกด้วย “ขมิ้นชัน” เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่ใช้กันมายาวนานของคนไทย กล่าวได้ว่าคนในตระกูลไตที่กระจายกันอยู่แถบเอเซีย ทั้งในรัฐอัสสัม พม่า ไทย จีน ลาว ต่างรู้จักในชื่อเดียวกันทั้งสิ้น
“ขมิ้นชัน” ไม่ใช่ยารักษาโรคแต่ขมิ้นชันเป็นสมุนไพรเครื่องเทศ ที่ใส่ในอาหารในชีวิตประจำวัน โดยนำมาปรุงแต่งและใช้ประกอบอาหารซึ่งพบมากทางภาคใต้ จะเห็นได้ว่าอาหารปักษ์ใต้มักมีสีออกเหลืองแทบทุกอย่าง สำหรับคนใต้ขมิ้นชันเป็นเครื่องเทศที่แทบจะขาดไม่ได้เลย เพราะนอกจากช่วยในการดับกลิ่นคาวได้ดีแล้ว ยังเป็นสมุนไพรปรุงรส และช่วยสมานแผลได้อีกด้วย
คนใต้ส่วนใหญ่จะใช้เหง้าใต้ดินของขมิ้น (หัวขมิ้น) มาผสมในเครื่องแกงต่างๆ รวมทั้งใช้ปรุงอาหารใต้เกือบทุกเมนู ส่วนใบของขมิ้นจะนำมาเป็นผักเหนาะและส่วนผสมของข้าวยำปักษ์ใต้ที่ขึ้นชื่ออีกด้วย นับว่าเป็นความชาญฉลาดของคนใต้ ที่คิดหาวิธีกินขมิ้นโดยประยุกต์เข้ากับอาหารได้เป็นอย่างดีซึ่งนับว่าเป็นภูมิปัญญาทางด้านโภชนาการ และเวชการของคนใต้ที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
ขมิ้น มีด้วยกัน 7 สายพันธุ์ แต่เมืองไทยพบ 4 สายพันธุ์ คือ
- ขมิ้นอ้อย คนโบราณใช้ช่วยขับลม แก้ท้องร่วง มีสารรสฝาดทำให้แผลหายเร็ว แก้ฟกบวม เป็นสายพันธุ์เดียวที่พบในญี่ปุ่น ซึ่งคนญี่ปุ่นนิยมใช้บำรุงตับ
- ขมิ้นขาว (หัวม่วง = คนใต้) นิยมกินกับน้ำพริก
- ขมิ้นดำ คนโบราณนิยมนำมาทำน้ำมันหอมระเหย
- ขมิ้นชัน มีสรรพคุณโดดเด่น ได้รับความสนใจจากวงการแพทย์ มีหลายหน่วยงานศึกษา “ขมิ้นชัน” ในเชิงการแพทย์ จนขมิ้นชันได้รับการขึ้นบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย
“ขมิ้นชัน” มีชื่อเรียกแตกต่างออกไปตามท้องถิ่น เช่น ขมิ้น (ทั่วไป) ขมิ้นป่า ขมิ้นทอง ขมิ้นดี ขมิ้นแกง ขมิ้นหัว (เชียงใหม่) ขี้หมิ้น หมิ้น (ใต้) ตายอ (กะเหรียง- กำแพงเพชร) สะยอ (กะเหรี่ยง- แม่ฮ่องสอน) ชื่อสามัญ : Turmeric, Curcuma ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma Longa L.
“ขมิ้นชัน” เป็นไม้ล้มลุกหลายปี มีเหง้าใต้ดิน เนื้อในเหง้าสีเหลืองส้ม มีกลิ่นเฉพาะตัว ในขมิ้นชันมีสารสำคัญ 2 ชนิด คือ กลุ่มที่เป็นสารให้สี คือ เคอร์คูมินอยด์ (curcuminoid) พบประมาณร้อยละ 5 ของน้ำหนักแห้ง ซึ่งร้อยละ 50-60 ของเคอร์คูมินอยด์ที่พบ เป็นเคอร์คิวมิน (curcumin) โมโนเดสเมท็อกซีเคอร์คูมิน (monodes methoxy curcumin) และบิสเดลเมท็อกซเคอร์คูมิน (bis- desmethoxy curcumin) ส่วนสารสำคัญอีกกลุ่ม คือ น้ำมันหอมระเหย ที่ประกอบด้วย โมโนเทอร์พีนอยด์ (monoterpenoin) และเซสควิเทอร์พีนอยด์ (sesquiterpenoids)
“ขมิ้นชัน” มีชื่อเสียงทางสรรพคุณยามากขึ้นเรื่อยๆ โดยสารสีเหลืองส้มในขมิ้นนั้น พบว่ามีคุณค่าต่อสุขภาพมนุษย์ สำหรับขมิ้นชันที่ปลูกในภาคใต้ถือว่าดีที่สุดในโลก เพราะมีสารเคอร์คิวมินและน้ำมันขมิ้นสูงกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีการปลูกขมิ้นทั้งหมด สารเคอร์คิวมินที่พบในขมิ้นชันนั้นเชื่อว่ามีฤทธิ์แอนติออกซิเดชั่นอย่างแรง และสามารถจับอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในร่างกายซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงของเซลล์ต่างๆ ได้
วิธีการกินขมิ้นชัน การกินขมิ้นชัน ควรเลือกที่ได้คุณภาพ คือ ต้องมีอายุอย่างน้อย 9-12 เดือน จึงสามารถขุดเหง้ามาทำยาได้และ ต้องไม่เก็บไว้นานเกินไปจนน้ำมันหอมระเหยหายหมด และต้องเก็บให้พ้นแสง เพราะแสงจะมีปฏิกิริยากับสารสำคัญอย่างเคอร์คิวมิน หากจะกินขมิ้นเป็นประจำก็ควรปลูกและดูแลเองโดยนำแง่งขมิ้นชันมาปลูกรดน้ำพอชุ่ม วันละ 1-2 ครั้ง ก็สามารถปลูกขมิ้นไว้กินได้แล้ว และยังสามารถควบคุมคุณภาพได้ แถมประหยัดเงินในกระเป๋าอีกด้วย แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ควรเลือกแหล่งซื้อที่ไว้ใจได้
ปัจจุบันขมิ้นชันแคปซูล เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติและเป็นยาในงานสาธารณสุขมูลฐาน สามารถที่จะเบิกค่ายาจากระบบสุขภาพต่างๆ ได้ อีกทั้งปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอนุญาตให้ขมิ้นชันสามารถขึ้นทะเบียนเป็นยาสามัญประจำบ้านได้แล้ว ดังนั้นจึงสามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป
ประโยชน์และสรรพคุณขมิ้นชัน
“ขมิ้นชัน” มีวิตามิน เอ, ซี, อี ที่เข้าสู่ร่างกายแล้วจะทำงานพร้อมกันทั้ง 3 ตัว และยังเชื่อว่าน้ำมันหอมระเหยในขมิ้นมีสรรพคุณต้านโรคร้ายที่เกิดจากอนุมูลอิสระอย่างมะเร็งได้ และการรับประทานขมิ้นพร้อมกับอาหารจะช่วยป้องกันมะเร็งในลำไส้ ช่วยกำจัดเชื้อราที่ปนเปื้อนในอาหารที่รับประทานเข้าไปและสะสมในร่างกายเตรียมก่อตัวเป็นเซลล์มะเร็งได้ “ขมิ้นชัน” ไม่มีพิษเฉียบพลันจึงมีความปลอดภัยสูง การกินอาหารที่ใส่ขมิ้นจึงเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายมนุษย์
“ขมิ้นชัน” เป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด รักษาโรคทางเดินหายใจ บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ ช่วยรักษาโรคไขข้ออักเสบ แก้อาการปวดตามข้อ- เข่า และยังมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อรา แต่ ก็มีข้อระวังเช่นกัน คือ ไม่ควรรับประทานมากหรือติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอาการกระวนกระวาย อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด สตรีมีครรภ์อ่อนๆไม่ควรกินขมิ้นชันในปริมาณมาก อาจจะทำให้แท้งได้ หากกินขมิ้นชันแล้วเกิดอาการแพ้ เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดหัว ควรหยุดรับประทานทันที
ปัจจุบัน มีการศึกษาเพื่อพิสูจน์สรรพคุณของขมิ้นตามการใช้แบบโบราณ ก็พบว่ามีสรรพคุณมากมายตามที่เคยใช้กันมา เช่น ขมิ้นชันมีสรรพคุณทำให้แผลหายเร็วขึ้น มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ลดปฏิกิริยาภูมิแพ้ เพิ่มภูมิคุ้นกันให้แก่ร่างกาย มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง มีฤทธิ์ขับน้ำดี ช่วยในการย่อยและป้องกันไม่ให้เป็นนิ่วในถุงน้ำดี มีฤทธิ์ขับลม รวมทั้งมีการศึกษาการใช้ขมิ้นชันรักษาโรคกระเพาะ ข้อจำกัดของการกินขมิ้นชัน ผลงานวิจัยพบว่า การกินขมิ้นชัน ช่วยลดการจุกเสียดและปวดชะงักมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ยาลดกรดอะลั่มมิลด์ พบว่าขมิ้นชันมีอัตราการแก้ปวดท้องได้ดีกว่า
การนำ “ขมิ้นชัน” มาใช้ในตำรับยา และตำรับอาหาร เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ได้บ่มเพาะมาแต่อดีต ถ้าเราศึกษาภูมิปัญญาของไทยตามความเชื่อเข้าใจเรื่องอาหาร และยาสมุนไพรโอกาสที่จะเกิดโรคนั้นมีน้อย เพราะในอาหารก็คือยา ยาก็คืออาหาร การเข้าใจเรื่องประโยชน์ของอาหารและยาสมุนไพร โดยเฉพาะเรื่องสรรพคุณ เราก็จะได้ประโยชน์จากอาหารนั้น
“ขมิ้นชัน” เป็นสมุนไพรที่คนไทยกินเป็นประจำอยู่แล้ว ถ้าเราตระหนักถึงคุณค่าของขมิ้นชันในมิติที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ควรส่งเสริมการกินขมิ้นชันเพื่อสุขภาพให้มากขึ้น หากขมิ้นชันเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มีทุกบ้าน จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมหาศาล โดยเกษตรกรทั่วประเทศ จะมีรายได้จากการปลูก การขาย การผลิตเป็นยา การจำหน่ายขมิ้นชัน เป็นการสร้างงานอีกจำนวนมาก สมุนไพรไทยนับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม หรือภูมิปัญญาไทย ถ้าเรานิยมวัฒนธรรมต่างชาติมากเท่าไร เราก็ยิ่งพึ่งตนเองได้น้อย และสูญเสียทางเศรษฐกิจมากขึ้น