“จ่ายร้อยเดียว นำพลอยกลับบ้านได้” ที่บ่อพลอยเหล็กเพชร แหล่งท่องเที่ยวแนวใหม่ จันทบุรี

จันทบุรี เป็นหนึ่งในเมืองรองที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ มีแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจอย่าง “ล่าขุมทรัพย์บ่อพลอย” ที่ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนและอนุรักษ์การหาพลอยแบบโบราณ บ่อพลอยเหล็กเพชร

บ่อพลอยแห่งนี้ ไม่ใช่แหล่งจำลองหรือศูนย์สาธิตการขุดพลอย แต่เป็นสถานที่ที่ใช้ทำอาชีพขุดพลอยกันจริงๆ เป็นบ่อพลอยเพียงไม่กี่แห่งในจันทบุรีที่ยังคงใช้วิธีขุดชั้นดินลงไปหา คล้ายการทำเหมืองพลอยแบบสมัยก่อน นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้และสัมผัสวิธีการหาพลอยจากชาวเหมืองตัวจริง ที่จะมาช่วยสอนและดูแลอย่างใกล้ชิด โดยมีเจ้าของบ่อ อย่าง คุณกุ๊ก-สราวุธ พึ่งตระกูล คอยยืนบรรยายให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวไปด้วย

“ที่นี่เพิ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเยี่ยมชมเมื่อต้นปี 2561 ตอนนี้ก็ร่วมครึ่งปีได้ วันหนึ่งมีนักท่องเที่ยวมาที่นี่ประมาณเกือบ 20 คนได้ โดยนักท่องเที่ยวที่เข้ามาลองขุดก็จะเจอพลอยจริงๆ แบบที่เราขุดเอาไปขายกันนี่แหละ ในอดีตบ้านทุกหลังคาเรือนในละแวกนี้ทำอาชีพขุดพลอยแบบโบราณกันหมด แต่พอถึงยุคที่เหมืองเขาหรือความต้องการพลอยมันเยอะ การขุดแบบโบราณมันช้า มันไม่ทันกิน ก็เลยต้องมีอุตสาหกรรมการทำเหมืองเข้ามา ก็คือใช้รถแบ๊กโฮและเครื่องจักรในการขุดหาพลอย ดังนั้น พื้นที่ที่เปิดเหมืองไปแล้วจึงไม่สามารถขุดหาพลอยได้อีก ก็เลยเลิกทำอาชีพขุดพลอยกันไปเยอะ”

คุณกุ๊ก เล่าต่อว่า พื้นที่ที่ยังเหลือพลอยอยู่ในท้องถิ่น อยู่พื้นที่บริเวณติดกับตัวบ้านและพื้นที่สวน ทำให้ในปัจจุบัน ที่ที่ยังมีการขุดพลอยแบบโบราณในท้องถิ่น เหลืออยู่ 2-3 ที่ ซึ่ง บ่อพลอยเหล็กเพชร ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย

“พลอยที่นักท่องเที่ยวขุดพบกัน เป็นพลอยนิลหรือบุษราคัม พลอยสตาร์ พลอยเขียวส่อง และพลอยไพลิน เมื่อก่อนพื้นที่ในการหาพลอยรุ่นคุณทวดมีเยอะมาก แต่พอมารุ่นคุณตาซึ่งท่านมีลูกเยอะก็ต้องจัดสรรปันที่กัน เลยทำให้พอมารุ่นคุณแม่ผม มีพื้นที่เหลือให้ขุดอยู่ไม่เยอะ ปัจจุบันรุ่นผมที่ขุดพลอย รวมกับสวนผลไม้แล้ว ก็มีที่เหลืออยู่ 15 ไร่ ก็เลยทำให้พลอยมันเหลือค่อนข้างน้อยลงไปด้วย”

เริ่มแรกในการขุดหาพลอย ชาวเหมืองก็จะให้เปลี่ยนเป็นชุดสำหรับขุดพลอยก่อน โดยบ่อที่จะลงไปได้ทำการขุดเอาไว้อยู่แล้ว เป็นบ่อลึกประมาณ 4 เมตร ความกว้างประมาณเมตรครึ่ง เรียกได้ว่า ให้ลงไปขุดกันจนเกือบถึงชั้นแร่พลอยเลยทีเดียว

เมื่อพร้อมจะขุดแล้ว ชาวเหมืองก็จะให้นักท่องเที่ยวลงไปในหลุม ด้วยการ พาดบันไดยาวที่ทำจากไม้ไผ่หนาลงไปจนถึงพื้นหลุมก่อน จากนั้นจึงปีนลงหลุมโดยให้หน้าหันเข้าหาบันไดและเอาหลังออก

พอลงไปยืนข้างล่างบ่อได้แล้ว ก็จะเห็นแต่ชั้นหินดินกรวด สีน้ำตาลปนเหลือง อีกทั้งมีการขุดเจาะออกไปด้านข้าง จึงทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ในอุโมงใต้ดิน ซึ่ง คุณกุ๊ก เจ้าของเหมือง บอกว่า ชั้นดานนี้สามารถรับน้ำหนักชั้นหน้าดินได้ จึงทำให้สามารถขุดด้านข้างของบ่อได้ด้วย

เมื่อสำรวจพื้นที่ด้วยตาเปล่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ชาวเหมืองก็ได้สอนวิธีการขุดเหมืองให้ โดยมีเสียมจอบเป็นอุปกรณ์ช่วย ขุดไปได้สักพัก ก็เจอเข้ากับสายแร่อัญมณีชิ้นเล็กที่ปะปนอยู่ในก้อนกรวด สีดำบ้าง เขียวเข้มบาง หากไม่ใช่คนที่ทำงานอยู่กับเพลอยทุกวัน ย่อมไม่มีทางแยกออกแน่ว่าก้อนกรวดสีดำๆ นั้น ก็คือพลอยที่กำลังขุดกันอยู่นั่นเอง

เมื่อขุดได้ในปริมาณที่พอสมควร เจ้าหน้าที่เหมืองอีกคนที่อยู่ข้างบนก็จะหย่อนกระป๋องใบกลางๆ ลงมาให้ เพื่อโกยดินที่ขุดขึ้นไปรอดำเนินการขั้นตอนต่อไป นั่นก็คือ การร่อนพลอย หรือฉีด เพื่อคัดแยกพลอยออกจากก้อนกรวดในดิน

เมื่อปีนกลับขึ้นมาข้างบน เจ้าหน้าที่ก็เอากระป๋องดินพลอยที่ขุดไปเทในกระบะคัดแยก ซึ่งเป็นกระบะใหญ่ๆ ด้านล่างเป็นตะแกรงความถี่เล็กๆ สำหรับกรองพลอยไม่ให้ตกลงไปที่พื้น ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนแบบใหม่ที่พัฒนาเล็กน้อยมาจากการร่อนพลอยในสมัยก่อนคือ ใช้สายยางฉีดน้ำไปที่กองดินเพื่อเซาะดินให้หลุดออกจากตัวพลอย

ซึ่งขั้นตอนนี้ต่างจากการร่อนพลอยแบบโบราณตรงที่ การร่อนนั้น ต้องตักกองดินไปใส่ในกระด้งแล้วไปยืนร่อนในบ่อน้ำแล้วใช้มือขยี้กองดินกับกระด้งเพื่อล้างกรวดหรือพลอยนั่นเอง เมื่อทำการร่อนพลอยหรือฉีดล้างเสร็จ ถ้านักท่องเที่ยวขุดเจอพลอย ทางคุณกุ๊กก็จะมอบให้เป็นของที่ระลึกกลับบ้านไป ท่านละ 1 เม็ด

นอกจากที่นี่จะมีกิจกรรมให้ลองขุดพลอยแบบโบราณแล้ว หากไปเยี่ยมชมในฤดูผลไม้ ทางบ่อพลอยเหล็กเพชรก็เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปเดินเล่นพร้อมชิมผลไม้ในสวนมังคุดลองกองไปด้วย

โดยผู้ที่สนใจจะมาเยี่ยมชมที่บ่อพลอยเหล็กเพชร จะเสียค่าเข้าคนละ 100 บาท ยกเว้น เด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี จะเข้าฟรี แต่ต้องโทรศัพท์ไปจองรอบขุดพลอยกันก่อน สามารถโทรหาคุณกุ๊กได้โดยตรง ที่เบอร์ 087-822-9138 หรือ คุณติ๊ว 086-157-6665

ช่องทางการติดต่ออื่นๆ www.facebook.com/indystonejeweley ไลน์ไอดี @indystone อินสตาแกรม baoploy lekphet และยูทูบช่อง อินดี้สโตนจิวเวลรี่