ประเทศไทย-จะติดไปไหน “จราจรทางการเงิน” ก็ไม่เว้น!

แม้ช่วงเดือนผ่านมา การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอพพลิเคชั่นของหลายแบงก์ในประเทศไทย จะเกิดการติดขัดอยู่บ้าง จนทำให้ใครต่อใครต่างไม่ค่อยมั่นใจว่าจะหันมาใช้การบริการทางการเงินผ่านโลกออนไลน์ดีหรือไม่

แต่ที่สุด ปัญหาทุกอย่างค่อยๆ คลี่คลายไปในทางที่ดี เพราะหลังจากฝ่ายช่างเทคนิคออกมาดำเนินการแก้ไข จนทำให้กลับมาบริการได้ดังเดิม

แต่กระนั้น ก็ใช่ว่าจะสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะทุกคนยังกังวล หลายเสียงในโลกโซเชียลต่างกระหน่ำซ้ำเติมว่า…เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะระบบเราไม่ดีพอ

ไม่มีความสมบูรณ์ จนทำให้หลายเสียงในโลกโซเชียลต่างพูดไปในทำนองเดียวกันว่า…ยังไงก็สู้เงินสดไม่ได้

ผมไม่เถียงและไม่ปฏิเสธ

แต่กระนั้น ต้องยอมรับความจริงว่าการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอพพลิเคชั่นของแบงก์ต่างๆ มีความสะดวกสบายกว่าแต่ก่อนมาก เพียงแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นต้องยอมรับกันจริงๆ ว่า…เราแก้ปัญหาการจราจรทางการเงินไม่ดีพอ

โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนหรือต้นเดือน

เพราะเมื่อลูกค้าแห่ใช้บริการกันมากๆ ในช่วงเวลาและนาทีเดียวกัน เสถียรภาพของการจราจรไม่ได้รองรับการติดขัดขนาดนั้น ที่สุดจึงเกิดอาการโกลาหลอย่างที่เห็น

ถามว่า มีความเป็นไปได้อีกไหม?

ผมว่าสักวันหนึ่งคงต้องเกิดขึ้นอีก แต่กระนั้น ถ้าเราจะหันมาโอน ฝาก ถอน ผ่านเคาน์เตอร์ของธนาคารและร้านคอนวีเนี่ยนสโตร์แบบเดิมๆ ผมก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น

เพราะนอกจากเราจะต้องเสียเวลามากมาย เรายังต้องเสียค่าธรรมเนียมในการใช้บริการอีก ทั้งๆ ที่โลกสมัยนี้ก้าวไปไกลกว่านี้มาก ที่จะทำให้เราๆ ท่านๆ ประหยัดต้นทุนทั้งหมดของตัวเอง

โดยเฉพาะกับคนที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์

จำได้ไหมครับว่า เมื่อไม่กี่ฉบับผ่านมา ผมเคยเล่าเรื่องการซื้อของผ่านคิวอาร์โค้ดของประเทศจีนให้ฟัง ตอนนั้นผมแค่ไปเมืองเฉิงตูกับซีอานเท่านั้น ซึ่งถือเป็นเมืองที่ยังไม่เจริญทางเทคโนโลยีเท่าไหร่นัก แต่ผมยังค่อนข้างตกใจอย่างมากว่าประชากรในประเทศของเขาล้ำสมัยมาก

ร้านค้าทุกร้านต่างมีคิวอาร์โค้ดเป็นของตัวเอง นั่นหมายความว่าไม่เพียงเจ้าของร้านทุกร้านที่ขายสินค้าทุกชนิดจะต้องมีบัญชีผูกไว้กับธนาคารต่างๆ ของประเทศจีน

โดยลูกค้าแค่ทำหน้าที่แค่ซื้อสินค้าเท่านั้น เขาก็จะสแกนคิวอาร์โค้ดตามราคาต่างๆ จากนั้นราคาเหล่านั้นจะถูกส่งต่อออกไปยังสมาร์ตโฟนของพ่อค้าแม่ค้าทันทีว่าเขาได้รับเงินเรียบร้อยแล้ว

ถามว่าบ้านเรามีไหม?

มี และหลายแบงก์ด้วย

แต่อย่างที่บอก ก่อนที่เขาจะนำเรื่องเหล่านี้มาใช้กับผู้บริโภค เขาทดสอบกันมาอย่างยาวนาน ยาวนาน จนมั่นใจว่าหากผู้บริโภคหรือลูกค้าต่างนำมาใช้ในเวลาและนาที ไล่เลี่ยกันจะเกิดการจราจรทางการเงินติดขัดหรือไม่

เขาทดลองจนมั่นใจ

ที่สุดจึงไม่เกิดปัญหาการจราจรทางการเงินติดขัดแต่ประการใด

ตรงข้าม กลับนำมาซึ่งความสะดวกสบายมากมายทั้งต่อตัวคนซื้อและคนขาย สำคัญไปกว่านั้น เขาไม่ได้ทำการค้าแต่เฉพาะเขากับลูกค้าภายในประเทศเท่านั้น

หากในหลายๆ ประเทศที่เขาทำการค้าขายออนไลน์ ล้วนต่างนำแอพพลิเคชั่นของแต่ละแบงก์เข้ามาทำธุรกรรมทางการเงินทั้งสิ้น

แต่ไม่นานผ่านมา ผมไปประเทศจีนอีกครั้ง คราวนี้ไปเมืองหางโจว เมืองที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองไร้เงินสด หมายความว่าประชากรของเมืองเมืองนี้ต่างใช้แอพพลิเคชั่นอาลีเพย์ในการจับจ่ายใช้สอยกันทั้งเมือง

และไม่แต่เฉพาะคนหนุ่มสาว

หากอาอี๊ อาอึ่ม อาม่า อากงก็ล้วนแต่ใช้อาลีเพย์ทั้งสิ้น

ถามว่าทำไมเป็นเช่นนั้น?

เพราะเมืองเมืองนี้เป็นเมืองของอาลีบาบา กรุ๊ป ซึ่งมี “แจ๊ก หม่า” เป็นผู้ก่อตั้ง และเป็นผู้บริหารระดับสูงของที่นี่ ดังนั้น กระแสของอาลีเพย์จึงแพร่กระจายเข้าไปในทุกชุมชน

ทุกซอก ทุกมุม

จนทำให้มีผู้กล่าวกันว่านครหางโจวคือเมืองไร้เงินสด

ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง เพราะอาลีเพย์ผูกมิตรกับธนาคารต่างๆ ทั่วประเทศจีนกว่า 100 ธนาคาร ทั้งยังมีแนวโน้มขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ตราบเท่าที่มีธนาคารแห่งใหม่เข้ามาเปิดสาขา

สำคัญไปกว่านั้น การออกแบบในเรื่องของการให้บริการทางการจราจรทางการเงินของที่นี่ค่อนข้างสมบูรณ์ เพราะสามารถรองรับทุกแพลตฟอร์มของการจับจ่ายซื้อของ

ที่ไม่เฉพาะแต่ใช้แอพพลิเคชั่นอาลีเพย์อย่างเดียว

หากยังพัฒนาไปถึงการจดจำใบหน้าของผู้ให้บริการแล้ว เพราะแค่เพียงคุณสแกนผ่านบัตรอาลีเพย์ เครื่องบันทึกการจดจำใบหน้าจะทำงานทันที

ดังนั้น เมื่อคุณมาจับจ่ายในครั้งต่อไป เครื่องนี้จะจดจำทุกอย่างที่เกี่ยวกับตัวคุณไม่ว่าจะเป็นข้อมูลบันทึกว่าคุณชอบซื้ออะไร

ใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน หรือชอบรับประทานอะไรบ้าง

ไปจนถึงคุณชอบสั่งสินค้าออนไลน์หรือออฟไลน์บ้างหรือไม่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะบันทึกข้อมูลลูกค้าทุกคนลงในดาต้าเบส เพื่อให้ฝ่ายประมวลผลนำไปวิเคราะห์ต่อว่าเราควรจะสั่งสินค้าอะไรเพิ่มหรืออะไรน้อยลง

เพื่อจะได้ไม่ให้เกิดการสต๊อกสินค้า

ตัวอย่างเหล่านี้เห็นชัดเจนใน “เหอหม่า” ซุปเปอร์มาร์เก็ตมหัศจรรย์ภายในห้างสรรพสินค้าทีมอลล์ ซึ่งถือเป็นโชว์รูมสินค้าอีคอมเมิร์ซใหญ่ที่สุดของเมืองหางโจว

ทั้งยังอยู่ใกล้กับสำนักงานใหญ่ของอาลีบาบา กรุ๊ป ด้วย

ผมถึงบอกว่าไม่ว่าเราจะปฏิเสธความเจริญทางเทคโนโลยีในโลกการค้าออนไลน์อย่างไร แต่ในวันนี้ คงต้องยอมรับความจริงว่าทุกๆ อย่างขยับเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้น

ไม่วันนี้ก็วันหน้า

จนเชื่อแน่ว่าเราๆ ท่านๆ คงต้องสนุกสนานไปกับแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ออกมายั่ว “ความอยาก” ของเรา กระทั่งต้องลงมาเล่นสงครามราคาออนไลน์กันอย่างแน่นอน