แนะอุตสาหกรรมอาหารไทยปรับตัว 360 องศา ใช้ “ดิจิทัล” เพิ่มมูลค่าผลผลิต ก่อนตลาดโลกแทรกแซง

สืบเนื่องมาจากเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ คือ อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งแม้ว่าจะเป็นตลาดที่ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีคู่แข่งมหาศาลในทุกมุมโลก

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) โดยโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู้ดอินโนโพลิส ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงได้จัดกิจกรรม Cutting Edge Technoplogy ขึ้น เพื่ออัพเดทเทรนด์ด้านอุตสาหกรรม ให้เห็นถึงพัฒนาการของการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารเพื่อให้ก้าวทันความต้องการของโลก โดยครั้งนี้จัดในหัวข้อ “SMART Technology for Smart Food Industry” ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเข้ารับฟังเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ผู้จัดได้เชิญกูรูระดับแถวหน้าทั้งด้านการวิจัย ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย ดร.พงศพันธ์ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. นาย ธนารักษ์ โกศัลวิตร จาก บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) .ดร.เดี่ยว กุลพิรักษ์  ดร.ธีรณี อจลากุล และ ดร.ชนิกานต์ ว่องวิริยะวงศ์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ดร.ภูมิ  ภูมิรัตน    ที่ปรึกษา สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และสมาคม FinTech

ในการเสวนาฯวิทยากรทุกคนพูดไปในทางเดียวกันว่า วันนี้ ถ้าผู้ประกอบการด้านอาหาร ไม่ปรับตัว หรือเรียนรู้การเปลี่ยนไปของโลก ในการนำนวัตกรรมมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร อาจจะอยู่ไม่ได้เลยในยุคที่เรียกว่า Big data “บิ๊กดาต้า” และ Blockchain “บล็อกเชน” ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญตลอด value chain ของอุตสาหกรรมอาหาร ตั้งแต่การเพาะปลูก จนถึงผู้บริโภค

หรือพูดง่าย ๆ คือจาก “ฟาร์มสู่จาน” ต้องผ่านกระบวนการที่ตรวจสอบได้ด้วยระบบอัจฉริยะ ที่ไม่สามารถเอาเปรียบผู้บริโภคได้ และหากการตรวจสอบย้อนกลับด้วย “บล็อกเชน” ที่สามารถรู้ได้แม้แต่แหล่งกำเนิดของการเพาะปลูก ต้นทางของเมล็ดพันธุ์พืชนั้นมีสายพันธุ์จากที่ใด ซึ่งหากการตรวจสอบพบความผิดปกติ หรือความไม่ถูกต้องก็อาจจะมีการแทรกแซงทางการค้า โดยการยกเลิกสั่งสินค้าจากประเทศไทยได้ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนจึงไม่เพียงการปรับเล็ก ปรับน้อย แต่ต้องปรับตั้งแต่การเปลี่ยน Mindset ของผู้ประกอบการ เพื่อนำไปสู่การปรับตัวแบบ 360 องศา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสัมมนาครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนา ได้สนใจเทคโนโลยีบล็อคเชน ที่จะเข้ามาบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ตลอดจนความห่วงใย ที่อาจจะนำไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งเปรียบเสมือนดาบสองคม  อย่างไรก็ตาม วิทยากรผู้บรรยาย ได้อธิบายว่า บล็อกเชน เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยนำมาซึ่งความปลอดภัย น่าเชื่อถือโดยไม่ต้องอาศัยคนกลาง และมีความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะในธุรกิจออนไลน์จะมีความสะดวกมากขึ้น สามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ และที่สำคัญทำให้ประหยัดและรวดเร็ว ด้วยระบบการตรวจสอบอัจฉริยะ และ ระบบการจัดเก็บข้อมูลแบบล้ำสมัย ที่ทำให้ข้อมูลของแต่ละคนสามารถแชร์ไปยังทุกๆ คนได้ เป็นเสมือนห่วงโซ่ที่ทำให้บล็อคของข้อมูลลิ้งก์ต่อไปยังทุกๆ คนเป็น โดยที่ทราบว่าใครที่เป็นเจ้าของและมีสิทธิในข้อมูลนั้นจริงๆ

เมื่อบล็อกของข้อมูลได้ถูกบันทึกไว้ในบล็อกเชน มันจะเป็นเรื่องยากมากที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลง เวลาที่มีใครต้องการจะเพิ่มข้อมูล ทุกๆ คนในเครือข่ายซึ่งล้วนแต่มีสำเนาของบล็อกเชน สามารถรันข้อมูลเพื่อตรวจสอบ Transaction โดย Transaction ใหม่นี้จะได้รับอนุญาต ต่อเมื่อในเครือข่ายส่วนใหญ่เห็นด้วยว่ามันถูกต้อง

นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังมีการตั้งคำถามถึงระบบอัจฉริยะตลอดจนแพตลฟอร์มสมัยใหม่ที่รัฐบาลสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก และด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่าง บิ๊กดาต้า บล็อกเชน ตลอดจนเงินสกุลบิทคอยน์ ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในการซื้อขายแลกเปลี่ยนนั้น กฎหมายในประเทศไทย ได้มีการปรับเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้หรือไม่ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ทุกคน รอคอยให้รัฐบาลมาตอบ