โอกาสร้อนๆ! “ถ้ำหลวงฯ-แหล่งท่องเที่ยวระดับโลก” รับมือยังไง ไม่ให้พังเร็ว

จากกรณีรัฐบาล เตรียมเดินหน้าผลักดัน วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอันดับโลก เนื่องจากเชื่อมั่นว่าในอนาคตอันใกล้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชมกันเป็นจำนวนมากนั้น คุณพลชัย  เพชรปลอด นักการตลาดอาวุโส ให้สัมภาษณ์ “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ในประเด็นดังกล่าว ว่าทุกวิกฤตมักมีโอกาสด้วยเสมอ แต่ในทุกโอกาสก็พร้อมมีวิกฤตด้วยเช่นกัน เหตุการณ์กู้ภัยเด็กๆ ทีมหมูป่าอะคาเดมี่ ในส่วนของการกู้ภัย และฟื้นฟูสภาพร่างกายจบลงไปแล้ว แต่ภาคต่อกำลังเริ่มขึ้น นั่นคือ การจะส่งเสริมให้ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่พร้อมเชื้อเชิญผู้คนทั่วโลกมาเยี่ยมมาเยือน

“ทั้งดีใจและหวาดหวั่นหัวใจในเวลาเดียวกัน ส่วนดีใจ คือ การท่องเที่ยวย่อมส่งผลให้เกิดเม็ดเงินมหาศาลไปสู่ชุมชนท้องถิ่น แบบที่อาชีพดั้งเดิม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคเกษตร ไม่สามารถเทียบเท่าได้ เศรษฐกิจดีขึ้น คุณภาพชีวิตก็มีส่วนดีขึ้นในช่วงแรก แต่ระยะยาว ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของชุมชน ส่วนเสียใจ คือ การท่องเที่ยวที่มาเร็ว มักทำลายเร็วด้วยเช่นกัน คนมาเยอะ แปลว่ามีผลประโยชน์ที่เก็บเกี่ยวได้เยอะ คนนอกชุมชนจะแห่ตามกันไปแสวงหาประโยชน์ นักท่องเที่ยวที่ไร้คุณภาพ เป็นอีกส่วนที่ช่วยกันทำให้ความเป็นอัตลักษณ์ดั้งเดิมของพื้นที่นั้นๆ สูญเสียไป” คุณพลชัย กล่าว

และบอก เชื่อว่าเวลานี้ “กระแสของถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” คงแรงเกินกว่าสิ่งใดจะยับยั้งได้ คะเนว่าคนที่อยากไปสัมผัส มีทั้งคนไทย ที่นั่งเกาะขอบจอทีวี ลุ้นราวกับรอฟังข่าวญาติตัวเอง คงอยากไปเห็นถ้ำของจริงสักครั้ง ขณะที่ข่าวแพร่สะพัดไปทั่วโลก ชาวต่างชาติอีกมากมาย ที่ปรารถนาจะมาเห็นความงาม ความลึกลับ ความน่าพิศวงของถ้ำ และอยากมาสัมผัสคนไทย

“เมื่อโอกาสมาขนาดนี้ จะไม่คว้าไว้ก็ใช่ที่ แต่ถ้าคว้าไม่ดี สิ่งที่ต้องระวัง คือ พังเร็ว  ดังนั้นสิ่งที่ควรดำเนินการ   คือ การเตรียมตัวรับมือกับโอกาสร้อนๆ อันนี้ ซึ่งการเตรียมตัวรับมือ ควรต้องทำทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องทำไปพร้อมกัน กล่าวคือ ภาครัฐ ต้องรีบจัดการสิ่งต่างๆ รองรับ โดยควรคำนึงถึงการสร้างโอกาส และทำให้ชุมชนรอบข้างได้รับประโยชน์ เพราะก่อนหน้า เขาเสียสละมาเยอะ ต้องจัดการเรื่องต่างๆ อาทิ การจัดการพื้นที่ การจัดการปริมาณนักท่องเที่ยว การจัดการอำนวยประโยชน์ให้ชุมชน เรื่องพื้นที่ ควรเริ่มทำโซนนิ่งตั้งแต่ต้น ควรมีการจัดแบ่งพื้นที่ให้ชุมชนสามารถเข้ามาทำประโยชน์ได้ด้วย เช่น พื้นที่ขายสินค้าชุมชน พื้นที่ขายอาหาร สร้างเงื่อนไขเลยว่าต้องให้คนในชุมชนเป็นหลัก อย่าปล่อยให้คนภายนอกเข้ามากอบโกยผลประโยชน์

ส่วนเรื่องปริมาณนักท่องเที่ยว หลายที่สียหายเพราะคนเยอะเกิน ดังนั้นควรจำกัดปริมาณคนให้เหมาะสม อย่าปล่อยให้เข้าออกกันตามใจชอบ เพราะจะยากทั้งดูแลความปลอดภัย และความเสียหายอื่นที่ตามมา ส่วนเรื่องการอำนวยประโยชน์ให้ชุมชน ควรดึงชุมชนเข้ามาเป็นแนวร่วมในการจัดการการท่องเที่ยวร่วมกัน เพราะเขาอยู่รอบๆ ได้ผลกระทบแน่นอน ทำอย่างไรให้เขาได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น การส่งเสริมให้มีมัคคุเทศก์ท้องถิ่น อบรมและให้เขามาทำงานบริการนักท่องเที่ยว หรืออาจจัดเส้นทางท่องเที่ยวร่วมกัน ดูป่าดูถ้ำและดูชุมชน ให้ความรู้ชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยว” คุณพลชัย ระบุ

และว่า ในส่วนของภาคเอกชน ต้องเตรียมรับมือกับโอกาสเช่นกัน  บรราดาผู้ประกอบการรายเล็กรอบพื้นที่   ควรรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เพื่อบริหารจัดการการท่องเที่ยวด้วยกัน อย่าง คนมาท่องเที่ยว มีสิ่งต้องการไม่มาก ได้แก่ เดินทาง กิน นอน ชม และช็อปปิ้ง แน่นอนว่าโอกาสของธุรกิจ ก็ต้องเกี่ยวข้องกับการบริการเดินทางเข้าออกได้สะดวก ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจที่พัก ธุรกิจพาเที่ยวชม และสินค้าของฝาก คือ โอกาสที่รออยู่

ขณะเดียวกัน หน่วยงานปกครองท้องถิ่น ควรเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก เช่น การสร้างพื้นที่ตลาดส่วนกลางสำหรับชุมชน การหาผู้รู้มาสอนมาอบรมให้คนในชุมชนเข้าใจ และพร้อมเป็นเจ้าบ้านที่ดี ซึ่งเขาจะเป็นเจ้าบ้านที่ดี เมื่อมีผลประโยชน์ที่ดีด้วย

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องเตรียมการอีกอย่าง คือ เรื่องของการสื่อสาร คนต่างชาติที่ได้ยินข่าว และสนใจอยากมาเยือนมีเยอะแน่นอน แต่ชาวบ้าน หรือธุรกิจเล็กๆ อาจหันไปพัฒนาด้านภาษาไม่ทัน การหาผู้รู้ มาช่วยแปลภาษาและใช้รูปภาพ ใช้ป้ายสื่อความหมายแทน เอาแบบที่เขาอ่าน เขาดู แล้วเข้าใจ ก็ช่วยแก้ปัญหาได้

“การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนท้องถิ่นของไทย มีหลายแห่งที่ได้รับความสนใจ และเริ่มต้นได้อย่างสวยหรูดูดี แต่เมื่อได้รับความสนใจ นักท่องเที่ยวที่ถาโถมเข้าไป เป็นทั้งโอกาสและความหายนะ เมื่อมีความเติบโต กลุ่มทุนที่เหนือกว่าจากภายนอก จะตามเข้าไปร่วมรับผลประโยชน์ และสนองตอบนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ไม่ได้ต้องการศึกษาวิถีชุมชน กลุ่มทุนและนักท่องเที่ยวเหล่านี้ จะค่อยๆ ทำให้วิถีแห่งชุมชนเดิม ที่เคยมีเสน่ห์ มีอัตลักษณ์ ล่มสลาย” นักการตลาดอาวุโส ระบุ

และว่าไว้ ทิ้งท้าย

“ผมอยากเห็นผู้คนรอบๆ พื้นที่ถ้ำหลวงฯ และคนเชียงรายในเส้นทางสู่ถ้ำหลวงฯ ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวที่กำลังจะเป็นโอกาสอันดี แต่อีกใจก็แอบกลัวกลุ่มทุน ที่แอบแฝงรอจังหวะอยู่อย่างหิวกระหาย”