ผู้เขียน | สดุจตา |
---|---|
เผยแพร่ |
หมอนรองกระดูกทับเส้น
เป็นที่มาของอาชีพนวด
ขณะกำลังก้มหน้าก้มตาทำสวน ป้าปุ้ม หรือ คุณอาภา ปรีชากูลย์ หารู้ไม่ว่า งูพิษกำลังมุ่งตรงเข้ามาทำร้าย และจังหวะที่ป้าปุ้มเหลือบเห็นงูตัวนั้น อารามตกใจจึงผลุนผลันลุกขึ้น ทำให้เซล้มลง และนั่นจึงเป็นสาเหตุให้ป้าปุ้ม แม่ค้าขายส้มตำ ต้องเข้ารับการรักษาตัว แต่ทว่าไม่ใช่เพราะถูกพิษงู แต่เพราะอาการหมอนรองกระดูกทับเส้น
หลังจากเข้ารับการผ่าตัด อาการก็ยังไม่ดีขึ้นนัก และระหว่างอยู่ในช่วงหัดเดิน ป้าปุ้มมองหาทางเลือกเสริมในการสร้างสุขภาพตนเองให้กลับมาแข็งแรง โดยผันตัวเองสู่การเป็นนักเรียนแพทย์แผนไทย โดยศึกษาเรียนรู้หลากหลายหลักสูตร กับกระทรวงสาธารณสุข และยังได้เรียนรู้การนวดแบบแก้อาการ จัดกระดูก กับหมอชาวจีน รวมถึงหลักสูตรนวดแบบผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
“ก่อนหน้านี้ ป้าเปิดร้านขายส้มตำ พอมาประสบอุบัติเหตุก็ทำให้อาชีพนั้นสะดุดไปด้วย เพราะมุ่งรักษาตัว จนกระทั่งไปผ่าตัด และก็มาคิดว่าจะทำอย่างไรให้อาการดีขึ้น จึงไปเรียนนวดแผนไทย และเมื่อเราได้รับการดูแลโดยการนวดด้วย อาการก็ดีขึ้น จึงเริ่มศึกษาเพิ่มเติม เห็นว่าเป็นหนทางที่ดีแล้ว กระทั่งไปเรียนนวดแก้อาการกับหมอจีนท่านหนึ่ง ซึ่งเมื่อสมัย 10 กว่าปีก่อน ค่าเรียนวันละ 1,000 บาท ถือว่าสูงมาก แต่ว่าป้ายอมจ่าย เก็บความรู้ให้ได้มากที่สุด”
กับการคิดค้น ศึกษาทั้งในศาสตร์การนวด รวมไปถึงสมุนไพร เป็นสิ่งที่ป้าปุ้มให้ความสนใจมาก นำมาซึ่งไอเดียและท่วงท่าการนวด รวมไปถึงการใช้อุปกรณ์ที่ประยุกต์ทดลองกับตัวเอง
ต่อยอด น้ำมันนวด
สองพันขวด ต่อเดือน
“เวลานอน อาการปวดก็มีกำเริบ จะรบกวนพ่อบ้านเขาก็ไม่ได้ ตอนนั้นลูกสาวไปเรียนการทำเบเกอรี่มา เราก็ว่า ลองเอาไม้นวดแป้งของลูกสาวมานวดในจุดที่ไม่สามารถเอื้อมมือถึง คลึงไปคลึงมา เราก็รู้เลยว่ามันโดนจุดตรงไหนบ้างในตัวเรา เพราะเรามีความรู้ด้านเส้นที่อยู่ในร่างกาย ตอนนั้นก็จดจำ ทำความเข้าใจกับร่างกาย เรียกว่าคิดท่าได้ในมุ้งเลย (หัวเราะ) จนเกิดเป็น หมอในมุ้งไม้ป้าปุ้ม โดยทำจากไม้สัก ไม้กระท้อน ไม้มะค่า ไม้มะขาม จนคว้ารางวัลโอท็อป ระดับ 3 ดาว นอกจากนั้นยังได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภาคการแข่งขันอยู่ไฟหลังคลอด 3 ปีซ้อน (พ.ศ. 2547-2549) ในงานแพทย์แผนไทยทางเลือก”
ไม่เพียงการนวดเท่านั้นที่ป้าปุ้มสนใจศึกษา แต่ผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยเฉพาะที่สามารถส่งเสริมต่อยอดจากการนวด ป้าปุ้มก็ศึกษาเรียนรู้ และคิดค้นขึ้น อย่างที่กำลังได้รับความนิยมสูง คือ “น้ำมันนวดสมุนไพรป้าปุ้ม” ที่มีลักษณะเป็นน้ำสีเหลืองเข้ม หอมกลิ่นสมุนไพร
กับยานวดสมุนไพร ถือว่าเป็นสินค่าสร้างยอดขายได้ดี ตกเดือนละกว่า 2,000 ขวด ในราคาขวดละ 100 บาท และยังมีผู้สนใจรับไปจำหน่ายต่อ โดยป้าปุ้มกำหนดราคาขายส่ง ขวดละ 70 บาท กับยอดสั่งซื้อต่อครั้ง 50 ขวดขึ้นไป
นอกจากนั้น ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกหลากหลายรายการ อาทิ น้ำมันนวดสปา น้ำมันนวดสมุนไพร โลชั่นบำรุงผิว เจลบำรุงผิวหน้า สบู่สมุนไพร แชมพูสมุนไพร ในราคาขายที่ทุกกลุ่มเป้าหมายสามารถจับต้องได้
ด้วยเพราะจุดมุ่งหมายของป้าปุ้ม ไม่ได้ต้องการยืนหยัดและมีอาชีพทำกินเพียงลำพัง แต่มองไปถึงกลุ่มชุมชนซึ่งตนอยู่อาศัย จึงนำมาซึ่งการจัดตั้ง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอาภา นวดแผนไทย” ในปี 2547 โดยมีสมาชิก 12 คน และไม่เพียงเท่านั้น การจัดตั้งกลุ่มสามารถช่วยชาวชุมชน ทั้งในการส่งเสริมปลูกสมุนไพรนำมาจัดส่ง
“บนพื้นที่ของป้าปุ้มราว 4 ไร่ เราปลูกสมุนไพร และมีการส่งเสริมให้คนอื่นๆ ได้มีอาชีพเลี้ยงตัวเองด้วย และตอนนี้เรามีสมาชิกที่ศึกษาด้านการนวดแผนไทยจนจบนำมาประกอบอาชีพอยู่ในกลุ่มของเราหลายคนแล้ว”
ฝีมือดี สินค้าเด่น ไม่พอ
ต้องสาธิต เจรจา ท่าทาง
ป้าปุ้มยังกล่าวถึงการตลาดในยุคนี้ ไม่เพียงแค่ฝีมือดี หรือผลิตภัณฑ์เด่นเท่านั้น แต่ทว่าการพรีเซ้นต์เป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้น ในการเดินทางไปออกงาน หรือแม้กระทั่งมีผู้มาเยือนถึงถิ่นที่ ป้าปุ้มจะทำหน้าที่เป็นวิทยากร สาธิตวิธีการนำเสนอของตน ด้วยท่วงท่ากระฉับกระเฉง แม้จะอยู่ในวัย 68 ปีแล้ว อีกทั้งลีลาการพูดก็เรียกได้ว่ากินขาด
ความเติบโตที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ป้าปุ้ม ว่าถึงเวลาขยายกิจการ จึงยื่นความจำนงขอสินเชื่อกับ SMEs Bank วงเงิน 500,000 บาท โดยได้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ค้ำประกันสินเชื่อเต็มวงเงิน ซึ่งนอกจากจะได้รับการค้ำประกันแล้ว ยังได้โอกาสทั้งด้านการตลาด และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ รวมถึงองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสานต่อกิจการอีกด้วย
หากใครสนใจต้องการนำร่างกายไปให้ป้าปุ้มสัมผัส ค่าบริการนวดกำหนดไว้เพียง 100-300 บาท หรือติดต่อสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ เดินทางไปได้ที่ตั้งกลุ่ม แต่ทว่าหากต้องการสร้างอาชีพเฉกเช่นป้าปุ้ม การอบรมความรู้มีจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข สำหรับค่าเรียนก็เริ่มต้นที่ 7,000-10,000 บาท
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอาภา นวดแผนไทย เลขที่ 4/1 ตำบลบางเจ้าฉ่า อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง
โทรศัพท์ (086) 052-1237, (091) 565-7039, (092) 280-8129