ผู้เขียน | กนกพร หมีทอง |
---|---|
เผยแพร่ |
ในประเทศไทยการเลี้ยงไก่ยังคงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรในต่างจังหวัดก็สร้างอาชีพจากไก่ได้ไม่น้อย
แต่การจะสร้างอาชีพจากไก่ได้นั้น ต้องมีปัจจัยหลายด้าน ทั้งเรื่องพื้นที่การเลี้ยง อาหาร การดูแล การป้องกันโรค แหล่งรับซื้อ และที่สำคัญที่สุดคือพันธุ์ไก่
เมื่อหลายวันก่อนไปศึกษาดูงาน โครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไก่ประดู่หางดำแบบครบวงจร ณ บ้านห้วยห้าง อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย ที่ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยฝ่ายเกษตรจัดขึ้น เพื่อสร้างอาชีพการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำให้กับเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ภาคเหนือ และยกระดับไก่พันธุ์ประดู่หางดำ ผ่านการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าภายใต้ตราสินค้า “กลุ่มเกษตรกรเวียงเชียงรุ้ง”
รศ.ดร.ประภาพร ขอไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร สกว. กล่าวว่า กล่าวถึงที่มาของโครงการวิจัย ว่า ช่วงปี 2545 – 2550 กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ทำการวิจัยพัฒนาพันธุ์ไก่พื้นเมืองแท้ 4 พันธุ์ ได้แก่ ไก่แดงสุราษฎร์ ไก่ชีท่าพระ ไก่เหลืองหางขาวกบินทร์บุรี ไก่ประดู่หางดำเพื่อพัฒนาต่อยอดไก่พื้นเมืองทั้ง 4 สายพันธุ์และขยายผลไปยังเกษตรกรให้ได้รับประโยชน์มากที่สุด และในปี 2556 สกว. ได้เริ่มส่งเสริมการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำแก่เกษตรกร อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างอาชีพการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำให้กับเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ภาคเหนือ
รศ.ดร.ประภาพร กล่าวต่อว่า ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่มีลักษณะเด่น เป็นไก่พื้นเมืองพันธุ์แท้ ทนทานต่อสภาพแวดล้อมและโรคระบาด และสามารถกินอาหารที่เกษตรกรหาได้ในท้องถิ่น มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี และให้ไข่ดกกว่าสายพันธุ์พื้นเมืองอื่นๆ โดยตัวผู้จะมีลักษณะ หลังดำ ปีกดำ แข้งดำ หน้าแดง/ดำ สร้อยคอและสร้อยหลังมีสีน้ำตาลปนดำ หรือสีเม็ดมะขาม ส่วนตัวเมีย มีลักษณะ ปีก/หลังดำ แข้งดำ หน้าแดง/ดำ ไม่มีสร้อยคอและสร้อยหลัง
ด้าน นสพ.สุพล ปานพาน นักวิชาการสัตวบาลชำนาญการ ปศุสัตว์ อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย นักวิจัยและหัวหน้าโครงการ เผยว่า เริ่มรวมกลุ่มเกษตรกรตั้งแต่ปี 2556 เลี้ยงไก่ในระบบปล่อยหากินตามธรรมชาติ จนไก่มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากนั้นได้รวมกลุ่มกันทำโรงฆ่าสัตว์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยได้รับการส่งเสริมจากกรมปศุสัตว์ในการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานจนได้รับใบอนุญาต สามารถผลิตและแปรรูปไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ วางระบบการตลาด และจำหน่ายผลิตภัณฑ์บนห้างสรรพสินค้าภายใต้ตราสินค้า “กลุ่มเกษตรกรเวียงเชียงรุ้ง” ได้
ส่วนการแปรรูปนั้น นสพ.สุพล เผยว่า เกษตรกรเครือข่ายจะนำลูกไก่ที่มีอายุ 1 วัน มาเลี้ยง หลังจาก 1 เดือนไปแล้วจะให้อาหารธรรมชาติ เช่น หยวกกล้วยหมัก มาผสมกับปลายข้าว และลำ เพื่อให้ไก่มีโครงสร้างที่แข็งแรง เมื่อเลี้ยงได้น้ำหนักประมาณ 1 กก.จะนำมาส่งที่โรงฆ่าสัตว์เพื่อผ่านกระบวนการแปรรูป
สำหรับขั้นตอนก่อนการแปรรูป ก่อนเป็นไก่แช่แข็งแบบเต็มตัว และแบบครึ่งตัว, ลูกชิ้นจากเอ็นเท้าไก่ น้ำซุปจากซี่โครงไก่ และเครื่องใน มีขั้นตอนคร่าวๆ ดังนี้
- นำไก่มาพักไว้เพื่อคลายความเครียดและตรวจสุขภาพก่อนฆ่า ในคอกพักสัตว์ 30 นาทีเป็นอย่างน้อย
- จากนั้นนำมาเชือด ต้มในนำร้อนเพื่อฆ่าเชื้อด้วยอุณหภูมิ น้ำร้อนไม่ต่ำกว่า 82 องศาเซลเซียส นำไปปั่นขนแล้วแช่ในนำเย็นเพื่อให้ไก่คงสภาพ
- เสร็จแล้วนำไปล้างซาก เก็บรายละเอียดด้วยการถอนขนออกให้เกลี้ยง
- นำเครื่องในออกจากซาก ล้างให้สะอาดทั้งภายในและภายนอก นำไปสะเด็ดน้ำ ตัดแต่ง และนำไปแปรรูปต่อไป
หากเกษตรกรท่านใด้อยากเลี้ยง นสพ.สุพล แนะว่า พื้นที่ 1 งาน สามารถเลี้ยงได้ถึง 50 – 100 ตัว มีรั้วล้อมรอบให้ไก่สามารถเดินออกกำลังกายได้ มีประตูเข้าออกทางเดียว มีที่จุ่มเท้า และรองเท้าบูธสำหรับใส่เดินในคอก ส่วนโรงเรือนข้างในแนะนำให้ใส่มุ้งกันยุงและแมลงชนิดอื่น ที่สำคัญสะดวกต่อการต้อน และการทำวัคซีน
นอกจากนี้ รศ.ดร.ศิริพร กิรติการกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะผู้ประสานงานโครงการฯ แนะนำว่า ควรมีองค์ประกอบของการสร้างอาชีพ 4 อย่าง คือ 1. มีพันธุ์ที่ดี สร้างแผนการผลิตที่เป็ปฏิทินการผลิตอย่างต่อเนื่อง มีมาตรฐาน 2. ใช้อาหารจากธรรมชาติ ที่หาได้จากพื้นที่ เพื่อลดต้นทุน 3. ระบบการเลี้ยงได้มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคและลดความเสี่ยงการเกิดโรค 4.มีตลาดรองรับและความสามารถในการแปรรูป
ทั้งนี้ องค์ประกอบทั้ง 4 อย่าง นี้ เกษตรกรคนเดียวไม่สามารถทำได้ เพราะฉะนั้นควรมีการรวมกลุ่มขึ้นมาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน นำความรู้มาบูรณาการเพื่อสร้างอาชีพจากไก่ต่อไป รศ.ดร.ศิริพร ทิ้งท้าย