ไม่แปลก-ไม่ต่าง-ไม่รอด “บิ๊กเต้ช็อป” โชห่วยพันธุ์ใหม่ ขวัญใจวัยโจ๋!

“บิ๊กเต้ช็อป” เป็นร้านโชห่วยอยู่ย่านรังสิต ซึ่งว่ากันว่าเป็นความหวังใหม่ของวงการร้านค้าปลีก

เป็นโชห่วยรุ่นใหม่ขวัญใจวัยโจ๋ทั้งหลายในละแวกนั้น ด้วยเหตุผลบริหารร้านได้ “เข้ากั๊น เข้ากัน” กับความต้องการของโลกยุคนี้…เสียนี่กระไร

Big Te Shop (บิ๊กเต้ช็อป) มินิมาร์ตรุ่นใหม่ ใส่ใจทุกความต้องการของนักศึกษา  คือ ชื่อและสโลแกนประจำตัว ของร้านโชห่วยที่เกริ่นถึง มี คุณเต้-ศตวัสส์ ฝ่ายรีย์ หนุ่มหน้าใส บุคลิกกันเอง เป็นเจ้าของกิจการ

“เรื่องซื้อแฟรนไชส์มาเปิดไม่อยู่ในหัวเลย  อยากทำเองมากกว่า เพราะเชื่อมั่นในไอเดียว่าทำได้” เจ้าของร้านต้นเรื่อง “บิ๊กเต้ช็อป” เริ่มต้นอย่างนั้น ก่อนย้อนความเป็นมา จบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  เคยผ่านงานด้านโทรทัศน์มาหนึ่งปี ก่อนย้ายมาเป็นพนักงานในสถาบันการศึกษาที่จบเป็นบัณฑิตออกมา

กระทั่งก่อนแต่งงาน ลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัวด้วยการเปิดร้านโชห่วยตามคำแนะนำจากคุณแม่ยาย เนื่องจากมีทำเลน่าลงทุน อยู่ใต้ถุนหอพัก ฝั่งตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

และด้วยความที่มีใจรักด้านการค้าขายมาตั้งแต่เด็กเป็นทุนอยู่แล้ว จึงใส่ใจเต็มที่ในทุกรายละเอียด

เริ่มจากการจัดร้านให้ดูทันสมัยสะอาดสะอ้าน เดินเลือกหาได้สะดวกสบาย ไม่ต่างจากมินิมาร์ตติดแอร์ยุคปัจจุบัน

คุณเต้ เจ้าของกิจการ

จากนั้นจึงเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของลูกค้าหลัก เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นนักศึกษาชาย-หญิง ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งคุณเต้ขอเรียกขานลูกค้าทั้งหมดของเขาว่า “น้องๆ” นั้น เป็นอย่างไร ก่อนจะเข้าไปพูดคุยสอบถามถึงความต้องการซื้อว่ามีอะไรกันบ้าง

แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง การจะไปพูดคุยกับน้องๆ ทุกคนจึงเป็นไปไม่ได้ เลยทำการสื่อสารกันผ่านการ “เขียนป้าย” กระจายแปะไว้ในร้าน เพื่อทำความรู้จักสนิทสนม และสร้างความรู้สึกที่ดีต่อกัน

“สิ่งที่พูดคุยผ่านป้าย เป็นการบอกบุคลิกของผม คือ อยากรู้จักพวกเขา และอยากให้เขารู้จักผมด้วย” คุณเต้ เผยเหตุผล

 คุณเต้ เล่าต่อ จากการสังเกตยังพบน้องๆ ส่วนใหญ่มักใช้เวลาหมดไปกับการท่องโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก จึงอยากขยายช่องทางการสื่อสารด้วยการนำป้ายที่พูดคุยกันไปโปรโมตในเฟซบุ๊กของร้าน อีกทั้งยังเป็นช่องทางเปิดให้น้องๆ เข้ามาฝากข้อความแจ้งเรื่องทิ้งไว้ได้ ถ้าช่วงเวลานั้นเขาไม่อยู่ในร้าน

“เคยมีน้องๆ เรียกร้องอยากทานไอศกรีม ที่ยังอยู่ระหว่างทดลองตลาด ไม่มีขายทั่วไป ผมเลยไปคุยกับเจ้าของ แต่เขาลงตู้แช่ให้ไม่ได้เพราะมีจำนวนจำกัด  สุดท้ายต้องไปซื้อไอศกรีมอันนั้นมาจากร้านที่เขาขายมาใส่ในตู้ร้านเรา” เจ้าของเรื่อง เล่าอารมณ์ดี

อดสงสัยไม่ได้ แค่มี “รีเควสต์” จากไม่กี่รายก็ต้องขวนขวายมาให้เลยเหรอ พี่เต้ของน้องๆ ตอบชัดถ้อยชัดคำ ทำให้คนตั้งคำถามถึงกับออกอาการทึ่งเล็กน้อย

“ใช่ครับ เพราะร้านของผมเป็นร้านเล็กๆ เน้นเรื่องความใส่ใจ  อะไรที่น้องๆ อยากได้ ผมจะไปหามาให้”

หลังจากมีป้ายแนะนำเพื่อให้รู้จักกันมากขึ้นแล้ว คุณเต้ยังใช้ตัวอักษร ให้ทำหน้าที่ “ส่งเสริมการขาย” สินค้าเด่นในร้าน ตามแต่ช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยอยู่บนพื้นฐานความคิด ณ ช่วงเวลานั้นโลกเราเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ยกตัวอย่าง หน้าร้อน น่าจะส่งเสริมน้ำยาดับกลิ่นตัว หรือช่วงปลายเดือน ส่วนใหญ่ไม่น่ามีตังค์ การกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปน่าจะเข้าท่า

“สินค้าที่นำมาพูดถึงนั้น เพื่อให้มีความเคลื่อนไหวภายในร้าน รวมถึงเกิดกระแสเรียกร้องด้วย เหล่านี้เกิดขึ้นจากการปรับตัวและรับข้อมูลข่าวสารตลอด เพราะของหากวางไว้เฉยๆ คงขายยาก จึงควรจะมีวิธีสื่อสารกับน้องๆ อีกทางหนึ่ง” คุณเต้ บอก

วิธีการส่งเสริมการขายในลักษณะดังกล่าวนั้น คุณเต้ บอก สามารถกระตุ้นการซื้อได้จริง เพราะสินค้าหลายตัวที่น้องๆ อาจไม่แน่ใจว่าจะซื้อดีหรือไม่ซื้อดี หรือไม่ตั้งใจมาซื้อ แต่พอเห็นป้ายก็ช่วยกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจได้ดีขึ้น

ส่วนป้ายแปะข้างสินค้าซึ่งส่วนใหญ่มักมี “มุขกระตุกยิ้ม” สอดแทรกอยู่ตลอด

ตัวอย่าง เช่น ช่วงสอบนี้ซัพพลายเออร์แจ้งว่าขนมปังของโดเรมอนขาดตลาดครับ พี่เต้แนะนำให้ทานขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ไปก่อนครับ, เห็นข้อสอบแล้วจะเป็นลม พี่เต้ มียาดมไว้บริการครับ, สินค้าแนะนำช่วงใกล้สิ้นเดือน น้องๆ กำลังมองหาบะหมี่สำเร็จรูปใช่ไหมครับ ขอแนะนำบะหมี่ ซื่อสัตย์ (ของแท้ใช้ ย- ยักษ์ การันต์ครับ) เป็นต้น

เรื่องนี้ คุณเต้ มีคำอธิบาย

“อารมณ์ขัน ช่วยสร้างความคุ้นเคย สนิทสนมที่มีระหว่างกัน  ถ้าคอยบอกว่ามีอันนี้ขาย  คงธรรมดาเกินไป แต่สิ่งที่อยากสร้าง คือ ประสบการณ์และความรู้สึกที่ดีกลับไปด้วยว่าเวลามาใช้บริการที่ร้านเรา

โชห่วยแบบผม ไม่ได้เป็นแค่ร้านขายของ แต่เป็นร้านที่ให้บริการเรื่องในชีวิตประจำวัน  นอกจากจะได้สินค้าดีแล้ว ต้องได้ประสบการณ์และความรู้สึกที่ดีกลับไปด้วย สรุป คือ อยากเพิ่มคุณค่าให้ร้าน และเพิ่มคุณค่าให้สินค้าด้วยวิธีการความรู้สึกที่ดีระหว่างกัน”

 เจ้าของกิจการบิ๊กเต้ช็อป บอกอีกว่า การสร้างเอกลักษณ์ให้มีความต่างไปจากร้านสะดวกซื้อรายใหญ่นับว่ามีความสำคัญ ดังนั้น การเลือกของเข้าร้านจึงต้องแตกต่าง

โดยมี 4 หลักด้วยกัน คือ หนึ่ง ต้องเป็นสินค้าที่ตามใจลูกค้า ข้อนี้ได้มาจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน สอง ต้องเป็นของแปลก ไม่มีขายที่อื่น สาม สินค้าที่ผลิตเอง อย่างกลุ่มอาหารพร้อมกิน พวก แซนด์วิช       เบเกอรี่ และ สี่ สินค้าฝากขายจากน้องๆ ซึ่งผลิตเอง

กล่าวสำหรับการเปิดโอกาสให้น้องๆ นำสินค้ามาฝากขายได้ด้วยนั้น คุณเต้ มองว่า การมีส่วนร่วมกับลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ อีกทั้งเด็กรุ่นใหม่ทุกวันนี้มักมีหัวคิดอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ จึงอยากส่งเสริมและเปิดช่องทางจำหน่ายให้

“สินค้าที่น้องๆ นำมาฝากขาย ต้องผลิตด้วยตัวเองหรือครอบครัวช่วยทำก็ได้ ไม่ใช่รับมาขายต่อ ที่ผ่านมามีมาฝากเป็นระยะ อย่าง ขนมเปี๊ยะ ทุเรียนทอด ป๊อปคอร์น นมสด ฯลฯ แนวคิดส่งเสริมให้น้องๆ รู้จักทำมาหากินนี้ เชื่อว่าจะส่งผลดีในระยะยาว หากพวกเขามีเงินมาจับจ่ายใช้สอยหมุนเวียนในระบบ ก็ทำให้ร้านเราอยู่ได้อย่างยั่งยืน” คุณเต้ ว่ามาอย่างนั้น

ตั้งข้อสังเกต การบริหารจัดการโชห่วย ในแบบของบิ๊กเต้ช็อปนี้ สามารถนำไปปรับใช้ได้กับโชห่วยทั่วไปที่มีลูกค้าหลากหลายกลุ่ม ได้มากน้อยแค่ไหน

เจ้าของกิจการ บอก ก่อนอื่นต้องสำรวจกลุ่มลูกค้าของตนเองก่อนว่าเป็นใคร จากนั้นจึงค่อยปรับสินค้าให้เข้ากับความต้องการ แล้วค่อยๆ ใช้ศิลปะการขายในแบบของตัวเอง หากทำได้แบบนี้ เชื่อมั่นว่าอยู่ได้แน่นอน และไม่จำเป็นต้องไปแข่งขันกับใคร เพราะต่างก็เป็นเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกัน

“ถ้าไม่ใช่คนแรกที่มาทำ หรือเป็นคนดีที่สุด ก็ควรเป็นคนที่แตกต่างออกไป แนวทางนี้น่าจะทำให้อยู่รอดได้” คุณเต้ สรุปจริงจัง

เกี่ยวกับอุปสรรคปัญหา คุณเต้ บอก ช่วงปิดเทอมปีละสองครั้ง แทบไม่มีน้องๆ เหลืออยู่ในหอ   ทำให้ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายสูง ขณะที่รายรับหายไปอย่างเห็นได้ชัด แต่ไม่เคยคิดปิดร้านตาม

ถามถึงแนวโน้มของร้านโชห่วย ที่นับวันดูจะร่อยหรอ คุณเต้ บอก เจ้าของกิจการต้องปรับตัวให้ทันโลก ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้พัฒนาตลอด  เพราะคนเราแต่ละคน ยังมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นอายุหรือความคิด ฉะนั้น ต้องตามโลกให้ทันด้วย

ล่าสุด “บิ๊กเต้ช็อป” โชห่วยขวัญใจเด็กแนว มี 2 สาขา เปิดในทำเลใกล้เคียงกัน ย่านตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี  อยู่ในละแวกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

เปิด 7 โมงเช้า ปิดตี 2 ไม่มีวันหยุด ยกเว้นเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ที่อาจขอพักบ้าง

สนใจอยากไปอุดหนุน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณเต้ โทรศัพท์ 081-254-2113 เว็บไซต์ www.bigteshop.com หรือ www.facebook.com/Big Te Shop