เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ตลาดลาออกทำธุรกิจเอง-เจ๊งสองรอบ ไม่ยอมแพ้ หันขาย “เต้าหู้” คราวนี้รุ่ง!

คุณโจ้-วิศรุต สุคนธ์พงเผ่า  ผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจเต้าหู้กรอบ “โยฟุ-YOFU” ขนมขบเคี้ยวจากเต้าหู้ 100% เล่าให้ฟัง จบปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ สาขาการเงินและบริหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อและการตลาด เพื่อหาประสบการณ์ หลังจากทำงานได้ประมาณ 1 ปี ได้รับแรงบันดาลใจจากนักธุรกิจหลายท่าน จึงตัดสินใจลาออกและมาประกอบธุรกิจส่วนตัว

“เรียนจบแล้วทำงานประจำอยู่ 1 ปีลาออกมาเพราะอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ เสี่ยงออกมาทำ ทำธุรกิจเทรดดิ้งไม่ประสบความสำเร็จ เจ๊งไป 2 รอบแต่ไม่ท้อ เคยตั้ง บริษัท ชามิลโก้ จำกัด สร้างแบรนด์ชานมไข่มุก แต่ตลาดมีการแข่งขันสูงจึงต้องปิดตัวลง แต่ยังไม่ยอมแพ้ พยายามเริ่มธุรกิจใหม่ คิดค้นวิธีการผลิตเต้าหู้กรอบ ตั้ง บริษัท โกจิโซ ดิสทริบิวชั่น จำกัด ไปพร้อมกับสร้างแบรนด์ ชื่อ “โยฟุ-YOFU” ขนมขบเคี้ยวจากเต้าหู้ 100%”

คุณโจ้ เล่าต่อว่า การลงทุนทำธุรกิจรอบที่สามในแบบของเขานั้น อยากทำขนมขบเคี้ยวมีประโยชน์ ราคาไม่แพงมาก ให้คนทั่วไปได้ทาน แต่ตอนที่เริ่มทำโยฟุ สิ่งที่เจอ คือ ปัญหาของเต้าหู้ ที่เก็บไว้ได้ไม่นาน เลยหาทางทำให้เก็บได้นาน หาทานเมื่อไหร่ก็ได้ สะดวกขึ้น เป็นการแก้ปัญหา และขนมจากฟองเต้าหู้ ไม่เคยมีมาก่อนเลย ทำให้มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ

“การเริ่มต้นทำธุรกิจ บอกเลย หนึ่ง เตรียมใจก่อน เพราะมีเรื่องให้รับหลายเรื่อง ทั้งความเสียใจและความดีใจ อย่างผมก่อนหน้านี้ทำธุรกิจอย่างหนึ่งก็เจ๊ง  ตอนเริ่มแค่อยากซื้อมาขายไป ธรรมดา ทำแค่นี้ง่าย สบาย ขายได้ห้าหมื่น-แสน เชื่อว่าซื้อเครื่องบินได้ แต่ลืมนึกว่าวันหนึ่งยอดมันจะต้องตก เดือนถัดมาขายไม่ได้ มีค่าใช้จ่าย ถ้าไม่เตรียมใจมันคือจบ ฉะนั้นต้องเตรียมใจให้ชัดเจนว่า มีดี ต้องมีแย่” คุณโจ้ บอกเสียงดังฟังชัด

ก่อนว่า อย่างที่สอง  คิดอะไรได้อยากทำอะไร ทำไปเลย อย่าลังเล ว่าเดี๋ยวจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เพราะถ้ามัวแต่วางแผนอยู่อย่างนั้น ก็ไม่ได้ลงมือทำ และไม่รู้ปัญหาจริงเสียที

ส่วนประสบการณ์ความผิดพลาดของตัวเขานั้น ช่วงแรก หุนหันพลันแล่นเจ๊งมาแล้ว 2 รอบ ครั้งแรก ขายได้แสนนึงคิดว่าซื้อเครื่องบินได้ คิดว่ามีแต่เรื่องดี สุดท้ายไม่รอด พอธุรกิจที่สอง โดนโกง อ่านสัญญาไม่ดีพอ ไม่ให้ทนายความเช็ก สูญเงินไปห้าล้านบาท

แถมธุรกิจล่าสุดก็ยังมีปัญหาแบบเดิม คือ หุนหันพลันแล่น ขยายตัวเร็วเกินไป จากห้องแถวเป็นโรงงานขนาด 1 ไร่ ส่งร้านสะดวกซื้อ 800 สาขา แต่ขายได้แค่ 100 สาขา เพราะลืมคิดไปว่าคนรักสุขภาพไม่ใช่ทุกคน เลยต้องออกสินค้าอีกตัวเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ปัญหาหนี้สินคลี่คลายแล้ว สิ่งที่อยากบอกผู้ประกอบการทั้งหลายคือ ไม่ว่าจะเจอกับความผิดพลาดอะไร ขออย่ายอมแพ้ เจอปัญหาอะไร ค่อยๆ ถอยออกมาดู ค่อยๆ แก้ มีหนี้กับคู่ค้าก็เจรจาไป อย่าเพิ่งท้อแท้ หนี้เยอะไม่ได้หมายความว่าต้องไม่รอดแน่เลย เพราะเราจะจบก็ต่อเมื่อเราหยุด

“สิ่งที่นักธุรกิจต้องมี คือ  การยอมรับตัวเองว่าไม่ดีอะไร ผิดพลาดตรงไหน อย่าโทษคนอื่น ผิดแล้วต้องแก้ไข  ทุกปัญหามีทางแก้ ขึ้นอยู่กับวิธีที่แก้จะลำบากยากเข็ญแค่ไหนเท่านั้นเอง” นักธุรกิจหนุ่มรุ่นใหม่ ฝากไว้อย่างนั้น