แปลงโฉมโสร่งปาเต๊ะ กลายป็นกระเป๋าดีไซน์เก๋ โดนใจสาวออฟฟิซ

ออกตัวเป็นพัลวัน ว่ายังไม่เข้าขั้นเศรษฐี และสินค้าเตะตาน่าสนใจนี้ เพิ่งเริ่มทำได้ไม่นาน ยังอยู่เพียง “ก้าวแรก””เท่านั้น แต่ยินดีสละเวลาให้ข้อมูล…ด้วยความเต็มใจ

คุณปุ๊ก – มณฑิรา เพชรอุไร อายุ 44 ปี เจ้าของผลิตภัณฑ์ กระเป๋าลายผ้าปาเต๊ะ แบรนด์ “ตันหยงปาตานี” เริ่มต้นนะนำตัว ให้รู้จักกันมากขึ้น จบปริญญาตรีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เริ่มทำงานตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ นับหนึ่งจากการสมัครเป็นสต๊าฟบริษัททัวร์ ทำหน้าที่เสิร์ฟน้ำ ยกกระเป๋า ฯลฯ ก่อนจะเติบโตมาตามลำดับ จนได้ใบอนุญาตไกด์ และรับงานสัมมนาใหญ่ๆ มาอย่างต่อเนื่อง

อยู่กรุงเทพฯ  ทำงานในแวดวงการท่องเที่ยวมายาวนานถึง 22 ปีเต็ม จึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิด ที่อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ด้วยเหตุผลบุพการี อายุมากขึ้นจึงต้องกลับไปช่วยน้องชายอีกแรงหนึ่ง ในฐานะพี่สาวคนโต

ช่วงแรก ไม่รู้จะทำอะไร เลยใช้อินเตอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์  เปิดเพจขายของ ประเภทเสื้อชั้นในสตรี ระหว่างนั้นจึงเริ่มศึกษาการค้าขายออนไลน์อย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งราวสองปีก่อนนี้ บรรยากาศคึกคักมาก

กลับไปบ้านได้ปีหนึ่ง จึงเปิดเคาน์เตอร์กาแฟเล็กๆหน้าบ้าน ด้วยความที่ชอบชงกาแฟ แต่คนในพื้นที่ ชอบทานชาชักมากกว่ากาแฟสด ขณะที่ในเพจขายของเงียบเหงามาก เลยคิดว่าต้องทำอะไรเพิ่มเติม

เบื้องต้นกะว่าจะหาของจากปัตตานีไปเสนอในอินเตอร์เน็ต แบบ “จับแพะ-ชนแกะ” เพราะไม่ต้องการลงทุนมาก เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น แต่หลังจากไล่เรียงสำรวจดูพบมีคนทำกันมากแล้ว

กระทั่งเสิร์ชไปไปเจอ “ผ้าปาเต๊ะ” ของดีใกล้ตัว

“ปาเต๊ะ เป็นผ้าพื้นเมืองของชนชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ไม่ใช่แค่ที่ปัตตานีเท่านั้น แรกเริ่ม มาจากอินโดนีเซียบ้าง มาเลเซียบ้าง  ปาเต๊ะ เป็นวิธีการทำลวดลายผ้า เหมือนบาติก แต่เป็นลายบาติกที่ซ้อนกันหลายชั้น  และ ปาเต๊ะ ไม่ได้หมายถึง ผ้าโสร่งของผู้หญิงเท่านั้น เพราะผ้าถุงทั้งของชายและหญิง ทางภาคใต้จะเรียกว่าโสร่งเหมือนกัน และผู้หญิงทางภาคใต้สมัยก่อน มักนิยมนุ่งโสร่งลายปาเต๊ะ-สวมเสื้อลูกไม้ไปวัด  เลยอยากทำของที่บ้านเกิดให้มีความน่าสนใจมากขึ้น” คุณปุ๊ก ย้อนที่มา

จากนั้นเธอ หันมาขายโสร่งลายผ้าปาเต๊ะผ่านทางเฟซบุ๊ค แต่คราวนี้ต้องใช้เงินลงทุนมากหน่อย เพราะถ้าอยากได้ในราคาขายส่ง ต้องซื้อแบบยกแพ็คเลือกสีไม่ได้

คุณปุ๊ก เล่าต่อ ธุรกิจในแบบของเธอ เริ่มต้นด้วยการไปเลือกผ้าจากร้านใหญ่ในจังหวัด ซึ่งมีอยู่ 5-6 ร้าน ก่อนสอบถามจากเจ้าของร้าน สะสมความรู้เรื่องราวเกี่ยวกับผ้าปาเต๊ะในทุกแง่มุม

มาถึงขั้นตอนการนำเสนอ เธอจึงนำโสร่งผ้าปาเต๊ะ มาพันขึ้นหุ่นก่อนถ่ายรูปลงเฟซ หวังให้ลูกค้าเห็นแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ผ้าถุงอาบน้ำ แต่สามารถใส่ไปทำงาน ไปเที่ยวนอกบ้านได้ แบบไม่เคอะเขิน

เจ้าของกิจการ ให้ฟังต่อ  การที่ซื้อโสร่งปาเต๊ะมาลอตใหญ่ในราคาส่ง ซึ่งไม่สามารถเลือกสีได้ ทำให้มีโสร่งจำนวนหนึ่งตกค้างเป็นกลุ่มผ้าที่ลูกค้าไม่ค่อยตอบรับ

กระทั่งได้คำแนะนำจากรุ่นพี่ที่ทำกระเป๋าถือได้ ชักชวนให้นำผ้าโสร่งดังกล่าวมาตัดเป็นกระเป๋าขายเพื่อเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์

เธอจึงตัดสินใจลงทุนเพิ่ม ก่อนเสนอตัวขึ้นทะเบียนเป็นโอทอป เพราะอยากได้ช่องทางการจำหน่ายที่กว้างขวางขึ้น

ส่วนการตั้งชื่อแบรนด์เป็นภาษาอังกฤษว่า Tanyong Patani(ตังหยงปาตานี) เพราะวางแผนจะขายผ่านทาง อี-เบย์ เจาะกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ อย่าง อินโดนีเซย มาเลเซีย และตุรกี

“ก่อนหน้านี้นำผ้าค้างสต๊อกมาทำเป็นกระเป๋า แต่ปัจจุบันกลับกัน ต้องหาผ้าลายสวยเด่น มาทำเป็นกระเป๋าก่อน ถ้าเหลือแล้วค่อยนำไปขายเป็นผืน”คุณปุ๊ก เล่ายิ้มๆ

ก่อนฝากทิ้งท้ายถึงความตั้งใจ

“หวังว่าธุรกิจตัวนี้ คงจะพอมีกำไรเลี้ยงตัว และสามารถช่วยผลักดันผ้าของภาคใต้กลายเป็นที่รู้จัก ความจริงแรงงานฝีมือภาคใต้บางส่วนอาจสู้ภาคเหนือ-อีสาน ไม่ได้ หรืออาจไม่ดังเท่า แต่ก็อยากทำอะไรดีๆให้คนพูดถึงบ้านเราแล้วยิ้มกันบ้าง”

ผลิตภัณฑ์ กระเป๋าลายผ้าปาเต๊ะ แบรนด์ “ตันหยงปาตานี” มีหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้ ราคาเริ่มต้นต่ำกว่าร้อย แพงสุดไม่ถึงหนึ่งพันบาท กำลังเป็นที่ถูกอกถูกใจบรรดาสาวออฟฟิซน้อยใหญ่

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  คุณปุ๊ก – มณฑิรา เพชรอุไร โทรศัพท์ 089-891-8746    Facebook : Tanyong Patani ,www. tanyongpatani.com  และ Line ID :  mo_montira