อบขนมขายตั้งแต่มัธยม สู่ร้านเค้กออนไลน์ เล่าความพังจนปังบน TikTok สร้างกำไรเดือนละหลักหมื่น 

อบขนมขายตั้งแต่มัธยม สู่ร้านเค้กออนไลน์ เล่าความพังจนปังบน TikTok สร้างกำไรเดือนละหลักหมื่น 

ในวันเกิด คุณได้อะไรเป็นของขวัญ 

เรื่องราวของ เจนนี่-ภาวิดา พรวนิชเจริญ เธอได้เตาอบเป็นของขวัญวันเกิด และเตาอบตัวนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการทำขนมขายตั้งแต่ชั้นมัธยม สู่ Bonbon Mer ร้านเค้กออนไลน์ที่เป็นไวรัลในติ๊กต็อก จากการทำคอนเทนต์สุดฮา นำเสนอความผิดพลาดของการทำเค้กที่กว่าจะได้เค้กสวยๆ สัก 1 ปอนด์ไม่ใช่เรื่องง่าย ก่อนนำมาสู่การสร้างรายได้ ที่มีกำไรเดือนละหลักหมื่นบาท

เจนนี่-ภาวิดา พรวนิชเจริญ
เจนนี่-ภาวิดา พรวนิชเจริญ

สร้างธุรกิจจากของขวัญวันเกิด

เจนนี่ เล่าให้ฟังว่า ชอบดูรายการทำขนมทุกคืน ตั้งแต่ชั้นประถมถึงมัธยม ครอบครัวจึงคิดว่าคุ้มค่าหากได้ซื้อเตาอบขนาด 100 ลิตร เป็นของขวัญวันเกิดให้ แม้ตอนนั้นจะยังทำขนมไม่เป็น แต่ก็มีสิ่งที่ถนัดอยู่บ้างคือขนมเมอแรงก์

“เมอแรงก์ เป็นขนมที่ถนัดที่สุด ช่วยกันทำกับย่าแล้วเอาไปขายในโรงเรียนกล่องละ 20-30 บาท มันก็บูม เพราะเหมือนในโรงเรียนยังไม่มีขาย และท้าทายมากสำหรับเราเพราะเขาไม่ให้เอาของเข้ามาขาย ตอนนั้นก็ขายได้วันหนึ่งเกือบ 100 แพ็ก ต้องให้เพื่อนช่วยกันขนจนไปเรียนสาย ต้องแบ่งของกันไปว่าแต่ละคนเอาเข้าไปกี่ถุง ได้เงินมาก็เอาให้ย่าแทบจะหมดเลย เพราะไม่รู้จะใช้อะไร ยังไม่มีของที่อยากได้ และไม่ได้ซื้ออุปกรณ์เพิ่ม เพราะทำแค่เมอแรงก์อย่างเดียว” เจนนี่ เล่าให้ฟัง

เมื่อเรียนจบมัธยมเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เจนนี่ไม่ได้ทำเมอแรงก์ขายเหมือนเดิม ขณะเดียวกัน การเรียนก็ทำให้เจอกับเพื่อนที่พอจะทำขนมได้ จึงตกลงทำธุรกิจร่วมกัน ในชื่อ Bonbon Mer และยังคงใช้เตาอบตัวเดิมผลิตขนม

Bonbon Mer
Bonbon Mer

“เราอยากได้เงิน อยากได้รองเท้า Holster ที่ดังๆ ตอนนั้น แล้วเงินไม่พอ เลยหุ้นกันคนละ 2,500 บาท รวมกันเป็น 5,000 บาท ทำทุกอย่างเองหมด ชื่อ Bonbon แปลว่า ขนม ส่วน Mer มาจากเมอแรงก์ที่เคยทำขาย

เริ่มทำเมนูแรกชีสเค้กหน้าไหม้ ทำง่าย ใช้เวลาไม่เยอะ แล้วก็มีเค้กไร้แป้ง บลูเบอร์รีชีสเยิ้ม เราทำขายในกรุงเทพฯ ส่วนเพื่อนที่เป็นหุ้นส่วนทำขายที่ระยอง ขายคนละเมนูกัน แต่อยู่ภายใต้การโปรโมตชื่อร้านเดียวกัน แต่ทำได้ 2 เดือนเพื่อนก็เลิกทำ ส่วนเราไม่หยุด เพราะได้เงินดี ตกเดือนละ 20,000-30,000 บาท เห็นจะได้ กำไรอย่างเดียวนะ ลูกค้าสนใจเราเยอะ แล้วจะหยุดทำไม เราก็ไปต่อ ตอนนั้นอยากได้รถด้วย

ก็ทำขนมจากที่บ้าน แถวๆ ไอคอนสยาม จะได้ประหยัดค่าไฟหอ ทำเสร็จต้องหอบมาที่หอเพื่อเอาไปส่งลูกค้าที่เป็นนักศึกษา แต่กว่าจะถึงหอ ต้องนั่งทั้งวินมอเตอร์ไซค์ ขึ้นบีทีเอส ต่อแอร์พอร์ตลิงก์ ต่อสองแถว ต่อวินอีกจนถึง แบกแขนเขียวเลยนะ เพราะแบกที 20 กล่อง”

Bonbon Mer
Bonbon Mer

เจนนี่ เล่าต่อว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้ขายดี มาจากการทำออนไลน์ จากแฮชแท็กในไอจี รวมถึงการบอกปากต่อปาก เพราะเพื่อนที่เคยเปิดร้านด้วยกันมีคอนเน็กชันมากมาย อีกทั้งขายในราคานักศึกษา และที่เห็นว่าได้กำไรก็มาจากการขายแบบเอาจำนวนอีกด้วย

“หาเงินจากมันได้เยอะมาก เตาอบเครื่องแรกที่ครอบครัวซื้อให้ จนเรียนจบมหาวิทยาลัยก็ยังทำเค้กควบคู่กับงานประจำ ตอนนั้นเป็นเซลส์ ทั้งขับรถ ออกไปหาลูกค้า ไปกินเลี้ยง มันเริ่มไม่ไหว กลับมาต้องทำเค้กอีก กลายเป็นว่าเริ่มไม่ชอบทำเค้ก เพราะเหนื่อยสะสม เราคงต้องหยุด งานประจำก็ทำให้ครบปีจะได้เก็บเป็นประวัติ แล้วเงินก็ดีมีค่าคอมมิชชัน ก็ทำต่อจนครบปี ถึงลาออกมาเริ่มเปิดร้านเค้กช่วงปลายเดือนสิงหา แต่มีลูกค้าเข้ามาช่วงเดือนกันยา” เจนนี่ เล่าเสริม

Bonbon Mer
Bonbon Mer

Bonbon Mer กลับมาปังกว่าเดิม

เมื่อได้กลับมาเปิดร้าน Bonbon Mer เต็มตัว เจนนี่ บอกว่า ครั้งนี้ปังกว่าเดิม แต่ปังกันคนละเมนู เมนูเดิมอย่างเค้กหน้าไหม้ขายแทบไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่ลูกค้าสั่งเค้กวันเกิด มีมงกุฎ มีดอกไม้ เรียกว่าต้องปรับตัวครั้งใหญ่

“มันยากมาก กดดันมาก ถามตัวเองตลอดว่าคิดดีแล้วใช่ไหมที่ลาออก มือต้องนิ่ง ต้องเป๊ะทุกมุม เลยทำให้เครียดมากในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม จนมาปังที่เค้กโบ เราทำคอนเทนต์ลงติ๊กต็อก เล่าว่าเพื่อนสั่งให้ทำ ต้องตื่นมาทำ 2-3 ทุ่ม แล้วจะเอาเค้กพรุ่งนี้ พากย์เสียงให้ดูตลก จนเป็นไวรัล 2 ล้านวิวได้

ลูกค้าเห็นแล้วชอบก็สั่งเข้ามาเยอะมาก ใจชื้นขึ้นมาเลย ทำให้ยอดขายเดือนกันยายนสูง กำไร 30,000-40,000 บาท ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แล้วมาแผ่วช่วงธันวาคมที่ผ่านมา เหลือกำไร 15,000 บาท แล้วกลับมาปังอีกทีเดือนมกราคม เพราะมีงานอินฟลูฯ เข้ามาด้วย เช่น ทำคอนเทนต์ Tie-in สินค้า”

ส่วนราคาเริ่มต้นเฉลี่ยปอนด์ละ 1,000 บาท เพราะส่วนใหญ่แต่งแนวอลังการ จึงใช้เวลาทำนาน ประกอบกับใช้วัตถุดิบอย่างดี เช่น เนยสด ซึ่งมีต้นทุนสูง จึงทำให้ราคาสูงกว่าร้านอื่น 

Bonbon Mer
Bonbon Mer

คอนเทนต์ นำเสนอความผิดพลาด

ถามต่อถึงจุดเด่นของร้าน เจนนี่ บอกว่า คือการทำคอนเทนต์ เลือกนำเสนอความผิดพลาดของร้าน

“การทำเค้กมีการผิดพลาดอยู่แล้ว แต่ไม่เคยมีใครเสนอด้านนี้ คิดว่าการทำเค้กมันง่ายขนาดนั้นเลย เราก็นำเสนออีกมุมสิ แล้วเราเป็นคนตลกอยู่แล้ว ก็พากย์เสียงให้น่าสนใจ พูดเร็วๆ ให้ตลก สรุปมันก็เป็นผลที่ดี เพราะหนึ่ง ไม่มีคนทำ สอง เป็นตัวของตัวเอง มันก็ไม่ฝืน ก็ทำได้เรื่อยๆ แต่ในทุกข้อผิดพลาดเราก็ต้องทำให้สวยที่สุด เพราะเค้กคือของขวัญในวันสำคัญของลูกค้า แล้วมันก็ไม่ได้ถูกด้วย อย่างบางทีลูกค้ามาสั่ง เขาก็อยากได้คอนเทนต์นะ ทำคอนเทนต์ให้ลูกเขาหน่อยได้ไหม”

ซึ่งกว่าจะได้เค้ก 1 ก้อน ถ้าแบบไหนไม่เคยทำจะใช้เวลา 2 ชั่วโมงขึ้นไปในการตกแต่ง แต่ถ้าแบบไหนที่ถนัด ทำบ่อย ครึ่งชั่วโมงก็สามารถทำเสร็จ

ดอกไม้ประดิษฐ์
ดอกไม้ประดิษฐ์

ปัจจุบัน Bonbon Mer ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นหน้าร้าน ไม่ได้มีอยู่ในติ๊กต็อกเท่านั้น แต่ยังมีทั้งไอจี และเพจเฟซบุ๊ก ที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงร้านได้ ซึ่งในอนาคตก็หวังจะเก็บเงินเพื่อเปิดหน้าร้านให้ลูกค้าเข้ามาเลือกซื้อเค้กได้เช่นกัน 

“ถ้านับเวลาถึงตอนนี้เปิดร้านมา 4 ปีแล้ว สิ่งที่ได้เรียนรู้จากธุรกิจนี้ คือการผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ อย่าไปกลัว เราแค่แก้ไข” เจนนี่ บอกทิ้งท้ายสั้นๆ

อย่างไรก็ตาม ในวัย 23 ปี เจนนี่ไม่ได้มีแค่ร้านเค้กเป็นธุรกิจสร้างรายได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีร้านดอกไม้ประดิษฐ์ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ อีกธุรกิจคือขายไม้สักกับผู้รับเหมา ที่อาศัยคอนเน็กชันจากเมื่อตอนเป็นเซลส์และแฟนที่ทำงานเกี่ยวกับผู้รับเหมา และอาชีพสุดท้ายคือ Tiktoker 

สามารถติดตามช่องติ๊กต็อกของเจนนี่ ได้ที่ bonbon.mer