ท้าวทองกีบม้า ประวัติสุดทรมานจากห้องเครื่อง ต้นตำรับขนมหวานไทยโบราณ

กระแสยังไม่จางจากฟีดออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มกับปรากฏการณ์ พรหมลิขิต ภาคต่อจาก บุพเพสันนิวาส มียอดผู้ชมทางออนไลน์ในคืนที่ผ่านถึง 1 ล้านคน และมีเรตติ้ง 6.40 ทั่วประเทศ  เรียกได้ว่ากระแสออเจ้า พี่หมื่น ยังคงเหนียวแน่น

อื่นใดในการค้นหาจาก Google ก็ค้นหาเรื่อง ท้าวทองกีบม้า กันจ้าละหวั่น วันนี้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ จะพาทุกคนไปย้อนรอยที่มาว่าเพราะเหตุใดท้าวทองกีบม้าถึงเป็นผู้ดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหวาน พร้อมกับมาดูว่าขนมไทยมีอะไรบ้าง

อะไรที่ทำให้ “ท้าวทองกีบม้า” หันมาทำขนมหวาน?

บันทึกการทำขนมหวานท้าวทองกีบม้ามีความเห็นออกไปในแบบต่างๆ บางบันทึกก็ว่า ชีวิตช่วงหนึ่งของท้าวทองกีบม้าตกอับ จนกระทั่ง พ.ศ. 2233 ได้รับอนุญาตให้มาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกส และถูกบังคับให้ทำอาหารหวานส่งเข้าวังตามอัตราที่กำหนด เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในบันทึกด้วยเนื้อหาที่แตกต่างกันออกไป

ตามหลักฐานของ บาทหลวงโอมองต์ (Fr. Aumont) บันทึกไว้ว่า ท้าวทองกีบม้า หรือ “มาดามฟอลคอน” ได้รับแต่งตั้งให้เป็นชาววิเสทประจำห้องเครื่องในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ

อีกบันทึกของ อเล็กซานเดอร์ แฮมมิลตัน อ้างว่า ได้พบกับมาดามฟอลคอนในปี พ.ศ. 2262 ขณะนั้นได้รับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการห้องเครื่องต้นแผนกหวาน มีผู้คนรักใคร่นับถือ ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกของ มองสิเออร์โซมองต์ อ้างว่า มาดามฟอลคอน เป็นผู้ดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหวาน เป็นหัวหน้าเก็บภูษาและฉลองพระองค์ และยังเป็นผู้เก็บผลไม้เสวยด้วย

ในจดหมายท้าวทองกีบม้าที่เขียนถึงบิชอปฝรั่งเศสในประเทศจีนกล่าวไว้ว่า

“ต้องทำงานถวายตรากตรำด้วยความเหนื่อยยาก และระกำช้ำใจ มืดมนธ์อัธการไปด้วยความทุกข์ยาก ตั้งหน้าแต่จะคอยว่าเมื่อใดพระเจ้าจะโปรดให้ได้รับแสงสว่าง ตอนกลางคืนนางก็ไม่มีที่นอนที่พิเศษอย่างใด คงแอบพักที่มุมห้องเครื่องต้น บนดินที่ชื้น ต้องคอยระวังรักษาเฝ้าห้องเครื่องนั้น”

แม้ประวัติช่วงนี้ของท้าวทองกีบม้าจะไม่ตรงนัก แต่ก็รับได้ว่า ท้าวทองกีบม้าเคยไปทำงานในวังจริง และเป็นคนทำขนมหวานตำรับโปรตุเกส เช่น ทองหยิบ ฝอยทอง จนเป็นสูตรให้คนทำสืบเนื่องต่อมาถึงปัจจุบัน
ขอบคุณข้อมูลจาก ศิลปวัฒนธรรม
ขนมหวานไทย ท้าวทองกีบม้า
อาจคุ้นชินกันพอสมควรกับขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง สังขยา หม้อแกง จะขอชวนทุกคนไปส่อง 9 ขนมไทยโบราณท้าวทองกีบม้ากันว่ามีอะไรบ้าง แต่ก่อนที่จะไปพบกับขนม เรามาทำความเข้าใจสักนิด 

ด้วยความที่ท้าวทองกีบม้ามีเชื้อสายโปรตุเกส เติบโตมาจากวัฒนธรรมนั้น เมื่อย้ายมาอยู่บนแผ่นดินสยามไม่แปลกที่จะต้องวิวัฒนาการมาจากการคิดค้นประดิษฐ์ดัดแปลงมาจากอาหารหวาน ตามเชื้อชาติของบรรพบุรุษ

โดยท้าวทองกีบม้า คือ ชาวโปรตุเกส จะมีส่วนประกอบสำคัญคือ ไข่ แป้ง และน้ำตาลทราย และวัตถุดิบอื่น ๆ ที่มีในแผ่นดินอยุธยา ต่อเมื่อเวลาผ่านไปคนไทยก็ดัดแปลงเพิ่มเติมต่อมาทั้งรูปร่างลักษณะและรสชาติ เพื่อให้ถูกรสนิยมแบบไทย ๆ

มีหลักฐานว่าปัจจุบันลักษณะอาหารโปรตุเกสที่มีส่วนคล้ายคลึงกับขนมหวานที่เชื่อกันว่าท้าวทองกีบม้านำเข้ามาเผยแพร่ในสยาม มีอยู่ 2 อย่าง คือ “ทองหยิบ” ซึ่งเรียกว่า “Biretta” และ “ฝอยทอง” ที่เรียกว่า “Fios do Ovos”

ในส่วนขนมอื่น ๆ เช่น ขนมฝรั่ง ขนมบ้าบิ่น หม้อแกง และสังขยา เข้าใจว่าน่าจะใช้ส่วนประกอบตามแบบขนมหวานโปรตุเกสมาดัดแปลง เช่น “ขนมหม้อแกง” ในปัจจุบัน เชื่อว่ามาจากขนมชื่อ “กุมภมาศ” ซึ่งท้าวทองกีบม้าดัดแปลงมาจากขนมแบบยุโรปเพื่อถวายเป็นของเสวย

ขอบคุณข้อมูลจาก มิวเซียมสยาม