น้ำเต้าหู้ ร้านเล็กๆ ในตลาด ใช้เวลา 20 ปี เติบโตเป็น แฟรนไชส์หลักล้าน

น้ำเต้าหู้ ร้านเล็กๆ ในตลาด ใช้เวลา 20 ปี เติบโตเป็น แฟรนไชส์หลักล้าน
น้ำเต้าหู้ ร้านเล็กๆ ในตลาด ใช้เวลา 20 ปี เติบโตเป็น แฟรนไชส์หลักล้าน

น้ำเต้าหู้ ร้านเล็กๆ ในตลาด ใช้เวลา 20 ปี เติบโตเป็น แฟรนไชส์หลักล้าน

เริ่มต้นมีแค่ น้ำเต้าหู้ กับ ปาท่องโก๋ เปิดเตาตั้งขายอยู่หน้าบ้านไม้หลังเล็กๆ ในตลาดอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ละวันมีทั้งกลุ่มคนทาน และพ่อค้าแม่ค้ามารับไปขายต่อบ้าง เป็นกิจการที่ทำกำไรไม่มากไม่น้อยให้กับครอบครัวอยู่นับสิบปี กระทั่งหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ได้ทายาทเจน 2 มาช่วยพัฒนาจริงจัง และเมื่อเวลาดำเนินมาถึงวันนี้ ต้องยอมรับว่ามีการเติบโตน่าชื่นชม

คุณกวาง-สินาถ ภู่สุดแสวง วัยสามสิบกว่า เจ้าของกิจการ “โต้ว” น้ำเต้าหู้ เปิดร้านสาขาถนนเพชรอุทัย เขตห้วยขวาง ให้สัมภาษณ์ “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ด้วยอัธยาศัยเป็นกันเอง เริ่มต้นย้อนที่มาให้ฟัง หลังจบปริญญาตรีออกไปทำงานประจำได้ 1 ปี ก็กลับมารับช่วงต่อกิจการ โดยตั้งใจจะเพิ่มทางเลือกให้คนทานมากขึ้น จึงมีการเพิ่มเครื่อง เพิ่มธัญพืช เพิ่มเมนู อย่าง เต้าฮวยน้ำขิง ซุปงาดำ สังขยา เฉาก๊วย ฯลฯ

“สมัยแรกยังไม่มีชื่อร้าน คนแถวนั้นเรียก ร้านเจ๊ป้อม พอทำสักพัก เริ่มมีโซเชียล เราก็สร้างเพจ แล้วเป็นจังหวะเขากำลังเริ่มฮิตปั่นจักรยาน ตอนเช้าจะมีก๊วนปั่นมาจากที่อื่นผ่านร้านเราที่อยู่ในตลาด เขาจะผ่านก็แวะเข้ามากิน เลยตั้งชื่อร้านให้เป็นเรื่องเป็นราว ใช้ชื่อว่า โต้ว ที่แปลว่า ถั่ว เป็นธัญพืช เพราะเครื่องน้ำเต้าหู้ของเรามีธัญพืชหลายอย่าง” คุณกวาง เล่าเหตุการณ์เมื่อราว 5 ปีที่แล้ว

โต้ว บางปะอิน

ก่อนเล่าต่อ พอเริ่มมีเพจร้าน ทำให้คนรู้จักมากขึ้น จากเมื่อก่อนขายแค่ตอนเช้าอย่างเดียว ตั้งแต่เที่ยงคืนถึงประมาณ 8 โมงเช้าก็ปิด พอมีลูกค้าจากที่อื่น ถ้า 8 โมงปิด กว่าเขาจะเข้ามาทานก็ยาก เลยตัดสินใจเมื่อประมาณปลายปี 2563 เปิดขายตอนเย็นด้วย ทำให้เริ่มมีสื่อโซเชียล เข้ามาถ่ายรูปเขียนคอนเทนต์ ร้านเล็กๆ จึงเป็นที่รู้จักมากขึ้น

จนเมื่อราวต้นปี 2565 คุณเจย์-ณัฐพงศ์ สพโชคชัย ซึ่งเป็นเพื่อนของสามี เข้ามาเยี่ยมที่ร้านและชักชวนให้ขยายกิจการในรูปแบบของแฟรนไชส์

“ถามว่าอยากเปิดแฟรนไชส์ไหม ถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ยอมรับว่าเคยคิดอยากทำแฟรนไชส์ แต่เท่าที่ศึกษาเรียนรู้มาหลายแบรนด์ เห็นเขาทำกันแล้วไปต่อไม่ได้  ขณะที่ตัวเราเอง ไม่ได้มีความรู้อะไรเลยด้านแฟรนไชส์ แต่คุณเจย์  ยืนยันว่ามีคนเก่งมาช่วยผลักดัน กระทั่งได้มาเจอกับ อาจารย์อมร และมีโอกาสพัฒนาธุรกิจร่วมกันจนถึงวันนี้” คุณกวาง เล่าอย่างนั้น

ก่อนบอกด้วยว่า หลักการขยายธุรกิจในรูปแบบของแฟรนไชส์นั้น ตั้งอยู่บนฐานความคิด ไม่ได้นึกถึงตัวเองอย่างเดียว แต่ต้องมีความรับผิดชอบคนละครึ่งคือ ไม่ใช่ขายแล้วเสร็จจบ เราสบาย เปล่า มันเหมือนเอาอีกคนเข้ามาให้ต้องรับผิดชอบด้วย ถ้าเขาเอาไปแล้วขายไม่ได้ จะเป็นยังไง ต้องคำนึงถึงด้วย

คุณอมร-คุณกวาง-คุณเจย์ 3 หุ้นส่วน

“คนที่ซื้อแฟรนไชส์  เขามาด้วยความหวังว่าจะเอาสิ่งนี้ไปเพื่อเพิ่มรายได้ เพิ่มความเป็นอยู่ที่ดี ชีวิตที่ดี แต่พอเขามาแล้วมันไม่เวิร์ก เราไม่อยากรู้สึกแบบนั้น แต่พอมาเจอกับอาจารย์อมรแล้ว ท่านทำธุรกิจให้เป็นแบบ เราอยู่ได้ เขาอยู่ได้ แบ่งปันกัน ไม่ได้เอาเฉพาะเรา จ้องจะขาย แล้วไปได้อยู่ฝ่ายเดียว” คุณกวาง บอกจริงจัง

ด้าน คุณอมร อำไพรุ่งเรือง กูรูแฟรนไชส์ตัวจริงเสียงจริง ในฐานะหุ้นส่วนธุรกิจ “โต้ว น้ำเต้าหู้” ให้ข้อมูลเสริมกับ “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ว่า ร้านดั้งเดิมที่คุณกวางดูแลอยู่ มีเสน่ห์และมีพัฒนาการต่อเนื่องมากว่า 20 ปี จากน้ำเต้าหู้ชาวบ้านๆ จนมามีแบรนด์ เหมือนกับ สาวอยุธยา หน้าตาสวยนะ ใส่ผ้าถุง ถ้าเอามาแต่งตัวแต่งหน้านิดหน่อย ใส่กางเกงยีนส์ ใส่เสื้อยืด สามารถ “เข้ากรุง” ได้สบายๆ

สำหรับแฟรนไชส์ “โต้ว” น้ำเต้าหู้ นั้น ปัจจุบันมี 2 รูปแบบ รูปแบบแรกคือ  Hub ซึ่ง Hub ต้องทำหน้าที่ผลิตด้วย ล่าสุดมี 3 สาขา และแฟรนไชส์ อีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า Satellite ที่แปลว่า ดาวเทียม คือพอมี Hub ปุ๊บเป็นเหมือนดวงอาทิตย์ ก็จะมี Satellite มีโลก มีดาวอังคาร อยู่ล้อมรอบ ตอนนี้ Satellite รวมกับ Hub แล้วเกือบ 30 ที่

เมื่อถามถึงอุปสรรคปัญหาในการทำธุรกิจนี้ คุณอมร บอกว่า มีข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ต้องยอมรับ แฟรนไชซอร์ ไม่ว่าจะแบรนด์ใหญ่แบรนด์เล็ก ไม่สามารถไปทำให้แฟรนไชซีทุกราย มีความสุขได้หรือทำให้ธุรกิจสำเร็จได้ทั้งหมด ใน 10 รายต้องมี 1 ราย ที่มีปัญหา แต่ถ้าถามว่า โต้ว ไปได้ดีไหม ถ้าเทียบกับเมื่ออดีต หรือประสบการณ์ของเรา ก็ตอบว่าไปได้ดี ใน 30 จุดที่เปิด จะมีจุดที่ไม่ดี 1-3 จุดเท่านั้น

สาขา Satellite

“การขยายธุรกิจแฟรนไชส์ ปัญหาเกิดขึ้นได้ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก อย่าง ทำเล ซึ่งบ้างครั้งเราดูดีแล้ว อย่างเป็นตึกสำนักงาน เคยขายดีอยู่ จู่ๆ มีพนักงานออกจากตึก 2 ชั้น ร่วมพันคนอย่างนี้ การค้าขายมันหายไปทันที” คุณอมร บอกอย่างนั้น

เกี่ยวกับคุณสมบัติแฟรนไชซี สำหรับนักลงทุนที่อยากร่วมธุรกิจ “โต้ว” คุณอมร บอกว่า คุณสมบัติส่วนตัว อันดับแรกคือ ต้องรัก แบรนด์ โต้ว ก่อน ต้องรักธุรกิจน้ำเต้าหู้ ถ้าแพ้น้ำเต้าหู้ แล้วมาทำน้ำเต้าหู้ คงไม่ได้ และอันดับต่อมาคือ ต้องมีความตั้งใจทำอย่างจริงจัง

ส่วนคุณสมบัติด้านการเงิน ก็สำคัญ คือต้องมีเงินทุนเพียงพอ ไม่อยากให้มีเงิน 2 ล้าน จะทำ Hub 3 ล้าน ต้องไปกู้มาอีก 1 ล้าน อย่างนี้ไม่ได้ เพราะจะกดดันตัวเอง

น่ารับประทาน

“เราขายแฟรนไชส์ เมื่อเดือนสิบเอ็ด ปีที่แล้ว ตั้งเป้าไว้ 30 ที่ ซึ่งน่าจะถึงแล้ว เป้าต่อไปก็อีก 2 ปี ให้ได้ 100 สาขา อันนั้นจะเป็น Milestone ที่ 2 ส่วน Milestone ที่ 3 ไม่ค่อยกล้าพูดเท่าไหร่ ใจจริงเราก็อยากเข้าตลาดหลักทรัพย์ ถ้าขายน้ำเต้าหู้ หรือขายเต้าฮวย แล้วเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ คงฮาน่าดูนะ ”คุณอมร บอกก่อนหัวเราะร่วน

และฝากทิ้งท้าย ใครสนใจแฟรนไชส์ ขอให้ไปชิมน้ำเต้าหู้ โต้ว กันก่อน ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 30 สาขา ใครอยากเจอ สารตั้งต้นให้ไปที่ บางปะอิน แต่ถ้าอยากได้แบบโคลนนิ่งในกรุงเทพฯ เรามีสาขาเยอะแล้ว

รูปแบบการลงทุนเปิดร้านแฟรนไชส์ “โต้ว” แบ่งออกเป็น

ร้านรูปแบบ Hub ทำหน้าที่ผลิต ขายหน้าร้าน ดีลิเวอรี และผลิตส่งให้ร้าน Satellite โดย Hub ลงทุน 2 ล้านบาท ค่าแฟรนไชส์แรกเข้า 5 แสนบาท ลงทุนรวม 2.5 ล้านบาท ใช้พื้นที่ 60-80 ตารางเมตร ระยะเวลาคืนทุน 3-4 ปี และร้านรูปแบบ Satellite ทำหน้าที่ขายอย่างเดียว ใช้เงินลงทุน 7 แสนบาท ค่าแฟรนไชส์แรกเข้า 1 แสนบาท ลงทุนรวม 8 แสนบาท ใช้พื้นที่ประมาณ 15 ตารางเมตร ระยะเวลาคืนทุน 1-2 ปี

โดยผู้ซื้อแฟรนไชส์ จะได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ทั้งการวางระบบแฟรนไชส์ การตกแต่งร้าน รวมถึงบริการการจัดส่งสินค้าวัตถุดิบต่างๆ โดยการทำใหม่สดทุกวัน ถ้าเป็นร้านรูปแบบ Hub จะบริการจัดส่งร้าน Satellite วันต่อวัน โดยร้านรูปแบบ Hub 1 ร้าน จะมีร้าน Satellite อยู่รอบๆ ประมาณ 10 สาขา ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่วิ่งส่งสินค้าไม่เกิน 5 กิโลเมตร

สนใจติดต่อ โทร. 089-113-0110, 095-565-4661

ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก เพจ โต้ว

 

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 10 ตุลาคม 2023