โบว์ลิ่งโชว์ ครูสอนเต้น แชมป์ชิงช้าสวรรค์ 5 สมัย เจ้าของร้าน โคตรยำ จากเพิงเล็กๆ สู่ร้านดังเทวาลัยในตำนาน

โบว์ลิ่งโชว์ ครูสอนเต้น แชมป์ชิงช้าสวรรค์ 5 สมัย เจ้าของร้าน โคตรยำ
โบว์ลิ่งโชว์ ครูสอนเต้น แชมป์ชิงช้าสวรรค์ 5 สมัย เจ้าของร้าน โคตรยำ

โบว์ลิ่งโชว์ ครูสอนเต้น แชมป์ชิงช้าสวรรค์ 5 สมัย เจ้าของร้าน โคตรยำ จากเพิงเล็กๆ สู่ร้านดังเทวาลัยในตำนาน

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาในวงการวงดนตรีลูกทุ่ง ไม่มีใครไม่รู้จักเธอในฐานะโคโรกราฟชั้นนำ ไม่ว่าใครก็ต้องการตัวเพื่อให้มาฝึกซ้อมแข่งรายการชิงช้าสวรรค์ เพื่อชัยชนะอันสูงสุดคือถ้วยพระราชทาน 

และเธอคนนั้นคือ คุณโบว์-รมย์ลักษณ์ เนียมเครือ CEO บริษัท โคตรยำ จำกัด หรือที่รู้จักในนาม โบว์ลิ่งโชว์

คุณโบว์ เล่าว่า ก่อนจะมาเป็นโคตรยำ ห้วยขวาง ที่ทุกคนรู้จัก เธอทำงานเป็นโคโรกราฟ ออกแบบโชว์ และอื่นๆ อีกมากมายในสายเพอร์ฟอร์แมนซ์ และชีวิตนี้ทั้งชีวิตไม่เคยคิดว่าจะทำธุรกิจร้านอาหาร อย่างโคตรยำมาก่อน

ใครจะรู้ว่าจากร้านยำในเพิงเล็กๆ ขยับขยายสาขาจนโด่งดัง หน้าร้านเหมือนเทวาลัยและแนวคิดมาจากไหนต้องลองดู 

โบว์ลิ่งโชว์

คุณโบว์ เล่าว่า ชีวิตการเป็นโคโรกราฟ สอนเต้น สอนลีดในงานกีฬาสีที่เริ่มจากการมีชื่อเสียงในจังหวัดบ้านเกิดของตัวเอง พอมีชื่อเสียงก็จับพลัดจับผลูไปสอนวงดนตรีลูกทุ่งโรงเรียนจ่านกร้อง เพื่อแข่งในรายการชิงช้าสวรรค์

“ตอนนั้นเราเด็กมากจนไม่รู้ว่ามาแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานนะ (นิ่งคิด) หูย มันดูยิ่งใหญ่สำหรับเรามากในชีวิต ณ ตอนนั้น บวกกับมาแข่งที่กรุงเทพฯ หูย เราไม่เคยไปกรุงเทพฯ แต่เราก็ตอบตกลงซึ่งเขามีงบให้ 4,800 บาท รวมชุด แต่งหน้า ทำผม สอนเต้น รับโดยไม่คิดอะไรเพราะใจล้วน”

“โบว์เวลาจะทำอะไรไม่ได้คิดเรื่องเงินเป็นเรื่องแรก ต้องบอกว่าคิดเรื่องโอกาสเป็นเรื่องแรกมากกว่า”

“สิ่งที่เราทำมาทำให้คนรู้จักและเรียกเราตั้งแต่ พี่โบว์ ครูโบว์ เจ๊โบว์ และแม่โบว์ มาวันนี้มัน 20 ปีที่ทำโชว์มา”

นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โบว์ลิ่งโชว์ไม่เหมือนเดิมอีกตลอดไป เพราะสิ่งที่ทำได้ผลตอบรับอย่างมหาศาล ได้ทั้งถ้วยพระราชทาน ได้ทั้งงานในสิ่งที่ตัวเองรัก

โคตรยำ จำเลย

ในชีวิตการทำโชว์ที่คว้ารางวัลมาทุกเวทีบวกกับเวทีการประกวดก็เริ่มน้อยลง ทำให้คุณโบว์อยากหาอาชีพเสริมจากสิ่งที่ตัวเองทำ 

ร้านโคตรยำ เริ่มต้นด้วยการเห็นเงินจากการต่อแถวของกระแสยำฟีเวอร์ คุณโบว์ เล่าต่อว่า เธอมักจะไปชิมร้านยำดังๆ ก่อนที่โควิดจะเข้ามา ไปนั่งต่อคิวแล้วมองเห็นช่องทางสร้างรายได้

“ต้องบอกว่าเราขอบคุณร้านดังๆ ร้านนั้นที่เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เรามองเห็นเม็ดเงิน เพราะอย่างน้อยคนที่มายืนต่อแถว 1 คิวเขาต้องให้เงินเรา 500-1,000 บาท แล้วการที่เขามาต่อ 200-300 คิวขึ้นไป นั่นหมายความว่าเราจะได้เงินกี่แสนในแต่ละวัน”

“เลยเกิดความคิดว่ามันไม่น่ายากมั้ง ไม่น่ายากในสิ่งที่เราจะทำ ลองดูสักตั้งหนึ่ง (ตบมือ) ลงมือทำ เลยเป็นร้านโคตรยำ”

“ด้วยการที่เป็นคนที่ทำอะไรทำสุดจะตั้งชื่อร้านว่า ยำแซ่บ ยำนู่นยำนี่คนเปิดไปหมดละ โคตรยำ คำเดียว ทำยังไงให้คนติดหู คิดชื่อยาวไปคำสวยไปคนก็ไม่จำ”

“โคตรยำ จำเลย”

หลายคนมักจะจำผิดคิดว่า สาขาห้วยขวาง คือสาขาแรกของร้านโคตรยำ แต่ไม่ใช่ แต่กลับเป็นร้านเพิงเล็กๆ ในจังหวัดลพบุรี 

“มันเป็นครั้งแรกที่เราเห็นรายได้วันละหลักหมื่น ปกติเราสอนเต้นก็ได้หลักพัน เพราะฉะนั้น พอเห็นเงินหลักหมื่นต่อวันโหตื่นเต้น เหนื่อย สู้ ตื่นเช้าไหวไม่ไหวก็ต้องตื่นเพราะลูกค้ารอ สู้ ไม่สบายกินยายืนยำ ไม่มีใครยำช่วย ทำเองทุกอย่าง”

F A S หลักคิดโคตรยำ

ตั้งแต่วันแรกจนถึงตอนนี้โคตรยำเปลี่ยนไปจากเดิมแน่นอน และสิ่งที่คุณโบว์เสริมต่อคืออยากให้ทุกคนลองหลับตาว่าร้านยำในความคิดนั้นเป็นอย่างไร อาจจะเป็นรถเข็น มีเคาน์เตอร์ยำ แต่เมื่อเดินมาโคตรยำจะไม่เหมือนที่ไหน

“ลองหลับตาแล้วนึกถึงร้านยำ เราจะนึกถึงร้านรถเข็น แต่พอเปิดตามาดูร้านโคตรยำ มันเห็นความเปลี่ยนแปลง ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแค่โคตรยำ แต่เปลี่ยนแปลงร้านยำ ยกระดับยำธรรมดาให้คุณภาพเป็น Restaurant ไปแล้ว เพราะที่นี่ใครจะเชื่อว่าเป็นร้านยำ”

“ในส่วนของรายได้ต่อจานไม่เยอะเลย เราเน้นจำนวนขาย แต่เรากินน้อยกินนาน เพราะเราไปเป็นเน้นในเรื่องของคุณภาพนี่คือสิ่งที่เราอยู่มาถึง 4 ปีแล้วยังมีคนเข้าตลอด”

“กำไรต่อจานของเราไม่ถึง 20% ซึ่งไม่มีใครเขาทำ เพราะปกติกำไรของทุกร้าน 50% ดังนั้น เราจึงอาศัยได้กำไรน้อยแต่เน้นจำนวนเลยได้เป็นเงินที่ค่อนข้างเยอะ”

ไม่เพียงแค่นั้น สิ่งสำคัญของการทำร้านอาหารต้องมีคอนเซ็ปต์หรือที่เรียกว่าความตั้งใจที่อยากมอบให้กับลูกค้า คุณโบว์ เล่าว่า โคตรยำมี F A S

“คอนเซ็ปต์ร้านเรา ณ ปัจจุบันมี F A S”

“F คือ Food คุณภาพอาหาร คุณภาพวัตถุดิบ รสชาติ เมนู ทุกสิ่งทุกอย่างทำมันออกมาให้ดี”

“A คือ Ambient ทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นในร้านต้องเป็นยังไง อย่างที่โบว์บอกหลับตาแล้วเปิดประตูเข้ามา ลืมตาแล้วมองว่านี่คือร้านยำเหรอ นี่คือบรรยากาศที่ชัดเจนมาก เพราะทุกคนที่เข้ามาจะพูดว่านี่ใช่ร้านยำใช่ไหม เข้าร้านผิดหรือเปล่า นี่แหละร้านยำ เราต้องทำให้ทุกคนเห็น” 

“สุดท้าย S คือ Service ทุกสิ่งทุกอย่างที่นับเป็นการบริการ และร้านเราจะมีป้ายสีเหลืองติดอยู่ทุกคนที่ทานสามารถสแกนแล้วบอกเราได้ทุกวันว่า วันนี้รสชาติเป็นยังไง วันนี้การบริการ เพื่อทำให้เราได้รู้ตัวเองเสมอว่าวันนี้มาตรฐานเราเป็นยังไง”

“ร้านอาหารทุกร้านไม่ว่าจะเป็นของใคร จะถูกใจ 100% เป็นไปไม่ได้ และไม่มีใครเชื่อว่าอร่อยทั้งร้อยคน แต่วันนี้โคตรยำถึง 80% มันก็ดีมากแล้ว”

หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 25 ส.ค. 2023