‘บอย ยัมมี่เฮาส์’ บอกเล่าเรื่องราว จากผู้ชายไม่ดื่ม สู่ฟันเฟืองขับเคลื่อนกระแสคราฟต์เบียร์ไทย

‘บอย ยัมมี่เฮาส์’ บอกเล่าเรื่องราว จากผู้ชายไม่ดื่ม สู่ฟันเฟืองขับเคลื่อนกระแสคราฟต์เบียร์ไทย
‘บอย ยัมมี่เฮาส์’ บอกเล่าเรื่องราว จากผู้ชายไม่ดื่ม สู่ฟันเฟืองขับเคลื่อนกระแสคราฟต์เบียร์ไทย

‘บอย ยัมมี่เฮาส์’ บุกเวที ‘SMEs Hero Fest’ บอกเล่าเรื่องราว จากผู้ชายไม่ดื่ม สู่ฟันเฟืองขับเคลื่อนกระแสคราฟต์เบียร์ไทย     

“ในอนาคตผมมองว่า เราจะมีคราฟต์เบียร์ไทยรสชาติใหม่ๆ ผลิตออกมาเพิ่มขึ้น และมีพื้นที่ให้คนได้ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป รวมถึงสามารถผสมผสานเอกลักษณ์ความเป็นไทยเข้าไปในทุกกระบวนการผลิต จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า คราฟต์เบียร์ฝีมือคนไทย ได้อย่างภาคภูมิใจ” 

นี่คือประโยคหนึ่งที่ เอนก มงคลวุฒิเดช หรือชื่อเรียกขานในแวดวงคนรักคราฟต์เบียร์ไทยว่า ‘บอย ยัมมี่เฮาส์’ ที่มาบอกเล่าในงาน ‘SMEs Hero Fest’ จัดโดย เส้นทางเศรษฐีออนไลน์-เทคโนโลยีชาวบ้าน ในเครือมติชน ระหว่างวันที่ 10-12 ธันวาคม 2565 ที่สามย่านมิตรทาวน์ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ที่ต้องการเข้าสู่วงการคราฟต์เบียร์ และเพื่อเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนให้คราฟต์เบียร์ไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับทั่วโลก 

‘บอย ยัมมี่เฮาส์’ บอกเล่าเรื่องราว จากผู้ชายไม่ดื่ม สู่ฟันเฟืองขับเคลื่อนกระแสคราฟต์เบียร์ไทย
‘บอย ยัมมี่เฮาส์’ บอกเล่าเรื่องราว จากผู้ชายไม่ดื่ม สู่ฟันเฟืองขับเคลื่อนกระแสคราฟต์เบียร์ไทย

จากคนไม่ดื่มเบียร์ แต่ต้องผันตัวเป็นคนขายเบียร์

บอย ยัมมี่เฮาส์ เล่าย้อนไปในอดีตว่า แต่ก่อนเป็นคนปฏิเสธของมึนเมา และกลุ่มเพื่อนรอบตัวก็ไม่มีใครเป็นสายดื่มเลย ต่อมาได้นัดรวมกลุ่มเพื่อนเก่ามาสังสรรค์กัน แต่ปรากฏกลุ่มเพื่อนที่มาไม่มีใครดื่มเบียร์กันเลย อีกทั้งตอนนั้นถึงจุดอิ่มตัวของการเป็นโปรแกรมเมอร์ จึงคิดว่าอยากหาธุรกิจอะไรสักอย่างทำ

“หลังจากออกจากงานโปรแกรมเมอร์ ได้เริ่มทำธุรกิจส่งขนมปังตามร้านกาแฟอยู่ 1-2 ปี แต่รู้สึกว่าไม่เวิร์กเท่าที่ควร ประจวบกับน้องสาวเปิดบริษัทขึ้นมา ชื่อว่า ยัมมี่ เฮาส์ ซึ่งเป็นบริษัทขายวัตถุดิบอาหาร อาทิ ชีส เนื้อ วัตถุดิบเบเกอรี่ต่างๆ และขายแบบนั้นเรื่อยมา

“จนกระทั่งเพื่อนของน้องเขยได้นำเข้าเบียร์จากเบลเยียม ซึ่งเป็นเบียร์ที่คนไทยไม่ค่อยรู้จัก และคนที่นำเข้ามาก็ไม่รู้จักตลาดมากนัก เราจึงเสนอตัวไปช่วยขายเบียร์ จนสนใจเรื่องเบียร์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่เนื่องจากไม่มีความรู้ จึงต้องศึกษา เริ่มหัดชิม และรู้ว่าเบียร์ต่างๆ มีเรื่องเล่ากว่าจะมาเป็นเบียร์แต่ละขวดให้เราได้ดื่ม”

หลังจากที่เริ่มขายเบียร์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศได้สักระยะ บอย ยัมมี่เฮาส์ ก็คิดว่าอยากจะหาเบียร์ตัวอื่นมาจำหน่าย เพราะว่าได้ขอใบอนุญาตจำหน่ายสุราเรียบร้อยแล้ว ก็ประจวบเหมาะกับคนรู้จักเปิดบริษัทนำเข้าเบียร์มาจากต่างประเทศ จึงทำให้ได้ยินคำว่า ‘คราฟต์เบียร์’ บ่อยมากขึ้น

‘บอย ยัมมี่เฮาส์’ บอกเล่าเรื่องราว จากผู้ชายไม่ดื่ม สู่ฟันเฟืองขับเคลื่อนกระแสคราฟต์เบียร์ไทย
‘บอย ยัมมี่เฮาส์’ บอกเล่าเรื่องราว จากผู้ชายไม่ดื่ม สู่ฟันเฟืองขับเคลื่อนกระแสคราฟต์เบียร์ไทย

“ผมขอยกตัวอย่างกระเป๋าแบรนด์เนมยี่ห้อหนึ่ง เวลาที่พูดถึงกระเป๋าแบรนด์เนม เราจะนึกถึงความพิถีพิถัน ผลิตจำนวนน้อย และราคาสูงมาก ซึ่งคราฟต์เบียร์ก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน เนื่องจากคราฟต์เบียร์ก็เหมือนกับงานศิลปะ เพราะผลิตด้วยความพิถีพิถัน มีให้เลือกหลากหลายประเภท และการใส่ส่วนผสมที่มีความโดดเด่น เช่น ใส่ดอกไม้ ใส่ฮอปส์ เพื่อสร้างความขมให้เบียร์ ซึ่งกระบวนการทำแบบนี้ จึงไม่สามารถผลิตได้จำนวนเยอะ”

หากพูดถึงเบียร์ทั่วไป เวลาหมักแต่ละครั้งจะมีกระบวนการหมักมากถึง 1 แสนลิตร และมีแท็งก์บรรจุเบียร์เป็นจำนวนมาก แต่ถ้าเปรียบเทียบกับคราฟต์เบียร์ จะมีการผลิตเพียง 5,000-10,000 ลิตรเท่านั้น ซึ่งเมื่อผลิตได้ไม่เยอะ ราคาของคราฟต์เบียร์แบรนด์ต่างๆ จึงมีราคาสูงกว่าเบียร์ทั่วไปตามท้องตลาด

แต่ข้อดีของการผลิตคราฟต์เบียร์ได้น้อย ก็ทำให้สามารถผลิตได้อย่างหลากหลาย และมีให้ผู้บริโภคได้เลือกมากกว่าเดิม รวมถึงสามารถพัฒนาและออกแบบรสชาติของคราฟต์เบียร์ให้ดียิ่งขึ้น สร้างความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะแบรนด์นั้นๆ ได้อย่างชัดเจน

 

‘เบียร์’ เครื่องดื่มละลายพฤติกรรมของคนขี้อาย

เมื่อทุกคนรู้จักคราฟต์เบียร์กันแล้ว และทุกคนเติบโตมาจากคราฟต์เบียร์ของต่างประเทศ แต่ปัจจุบันเมืองไทยก็มีการผลิตคราฟต์เบียร์ และทุกคนเริ่มรู้จักเบียร์ประเภทนี้อย่างแพร่หลาย แล้วความแตกต่างระหว่างคราฟต์เบียร์ของต่างประเทศกับของไทยต่างกันอย่างไร 

บอย ยัมมี่เฮาส์ เฉลยว่า คราฟต์เบียร์ของต่างชาติกับของไทยมีความแตกต่างกัน เห็นได้จากวัตถุดิบและรสชาติ เช่น ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านอาหารการกินอย่างเด่นชัด จนมีผู้ผลิตเบียร์จากข้าวเหนียวมะม่วง เพียงเปิดฝาขวดขึ้นมา ก็ได้กลิ่นมะม่วงตีขึ้นมาเลย ตามมาด้วยกลิ่นของมะพร้าว เพื่อให้รับรู้ถึงความเป็นกะทิ แล้วเมื่อดื่มเข้าไปแล้วจะรับรู้ได้ถึงความเป็นข้าวเหนียวมะม่วงชัดขึ้นมาทันที

หรือคราฟต์เบียร์บางตัว ก็ได้แรงบันดาลใจจากกะละแม ซึ่งเป็นเบียร์ที่ผลิตออกมาในรูปแบบสเตาต์ (Stout) มีสีเข้ม เนื่องจากใช้เมล็ดข้าวมอลต์ ที่ผ่านการคั่วหรืออบเป็นเวลานาน และเมื่อดื่มเข้าไปแล้วจะมีความหอมกลิ่นไหม้คล้ายกับกลิ่นกาแฟ และปรับรสชาติให้หวานขึ้น ด้วยการเติมมะพร้าวเข้าไป เมื่อทุกอย่างผสมลงตัว จึงทำให้ดื่มแล้วรู้สึกเหมือนได้กินกะละแมนั่นเอง 

ซึ่งคราฟต์เบียร์ทั้ง 2 ตัวที่ยกตัวอย่างมานั้น เป็นคราฟต์เบียร์ไทยที่ ยัมมี่ เฮาส์ จัดจำหน่ายอีกด้วย ถือว่าวงการคราฟต์เบียร์ไทย สามารถดึงเอกลักษณ์และความโดดเด่นของความเป็นไทยออกมาอย่างชัดเจน แถมยังช่วยสร้างมูลค่าและเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยชั้นเยี่ยมเลยทีเดียว 

“เบียร์ถือเป็นเครื่องดื่มที่นิยมดื่มกันทั่วโลก ทั้งยังมีชื่อเล่นที่คนในวงการจะเรียกกันว่า Social Lubricant หรือ สารหล่อลื่นทางสังคม กล่าวคือ บางคนเป็นคนขี้อาย เป็นคนไม่กล้าเข้าสังคม แต่เมื่อได้ลองจิบเบียร์เข้าไป จะมีความไหลลื่น สามารถพูดคุยกับคนอื่นได้เป็นอย่างดี”

 

ความหวัง ความฝัน และอนาคตของคราฟต์เบียร์ไทย 

ในห่วงโซ่ของระบบอุตสาหกรรมคราฟต์เบียร์ แบ่งเป็นหลายภาคส่วน ซึ่งปลายสุดคือ ผู้บริโภค ส่วนต้นทางคือ เจ้าของสูตร และมีกระบวนการต่างๆ มากมาย ให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่สนใจอยากลงทุน สามารถก้าวเข้าไปศึกษา จนสามารถนำไปพัฒนาเป็นสูตรของตนเองได้

“หากเราชื่นชอบการต้มเบียร์ สามารถเข้าไปเรียนรู้การเป็นเจ้าของสูตรได้ เพื่อนำสิ่งที่เรียนรู้ไปต่อยอดจนเกิดผลิตภัณฑ์ของตนเอง เมื่อพัฒนาได้แล้วก็เริ่มสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น สิ่งสำคัญคือ คุณต้องมีแพชชั่น มีความสามารถในการเรียนรู้ และความพร้อมที่จะปรับตัวตลอดเวลา อีกทั้งเมื่อตัดสินใจทำคราฟต์เบียร์เพื่อจำหน่ายแล้ว คุณต้องศึกษากฎหมายให้แจ่มชัด เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายอย่าง ซึ่งหากพลาดข้อใดไปก็มีความเสี่ยงทั้งนั้น”       

คราฟต์เบียร์ไทยในช่วงแรกได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยเรียกว่า โฮมบรูว์ หรือ เบียร์ใต้ดิน ซึ่งต่างประเทศนิยมผลิตเบียร์ดื่มกันเองภายในบ้าน จนกระทั่ง 7-8 ปีที่แล้ว เริ่มมีกลุ่มคนไทยที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ ได้ซื้อชุดโฮมบรูว์ มาทำเบียร์ที่เมืองไทย และเมื่อทำแล้วก็เริ่มให้เพื่อน หรือคนรอบตัวได้ลองชิม จนเป็นการอุดหนุนต่อกันมา

“เมื่อคนรับรู้ว่าเบียร์ทำเองมีความอร่อยและสดกว่าเบียร์ทั่วไป จนอยากทำขายขึ้นมา แต่ก็ไม่สามารถขายได้ เนื่องจากอดีตการผลิตเบียร์ขึ้นมาเองในไทยยังผิดกฎหมายอยู่ หากไม่อยากทำผิดก็ต้องผลิตเบียร์จำหน่ายในร้านอาหารเท่านั้น และต้องผลิตออกมาปีละ 1 แสนลิตรขึ้นไป แถมยังต้องมีทุนจดทะเบียนกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปได้ยากสำหรับผู้ที่อยากผลิตแค่จำนวนเล็กน้อย ทานกันเองภายในบ้าน”  

ยุคต่อมา คนที่เริ่มมีสูตรและต้องการผลิตเบียร์ขึ้นมาเอง จึงเริ่มหาวิธีการให้สามารถทำออกมาขายได้ ซึ่งวิธีการที่ง่ายสุดคือ การเดินทางไปผลิตที่ต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ไต้หวัน และนำเข้ามายังประเทศไทย ขณะที่คนไทยบางกลุ่มก็ใช้วิธีการระดมทุน ไปเปิดโรงเบียร์ที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา

“ยัมมี่ เฮาส์ เริ่มมีการจำหน่ายคราฟต์เบียร์ในยุคที่คนเริ่มเดินทางออกไปผลิตเบียร์ยังต่างประเทศ แล้วนำเข้ามาที่เมืองไทย ซึ่งช่วงแรกขายยากมาก เนื่องจากบางคนยังไม่ค่อยเข้าใจ อีกทั้งกลุ่มคนใหม่ๆ ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมคราฟต์เบียร์ถึงได้มีราคาสูงกว่าเบียร์ทั่วไป แถมรสชาติก็ไม่ได้มีความแตกต่างมากนัก จึงทำให้คราฟต์เบียร์เป็นที่นิยมเฉพาะกลุ่มเท่านั้น”       

ขณะเดียวกัน ยุคถัดมาถือเป็นยุคที่เริ่มขายดีและมีกระแสขึ้นมาในสังคม ร้านค้าต่างๆ ก็เริ่มมีจำหน่ายมากขึ้น และทุกคนก็ได้รู้ว่า คนไทยสามารถผลิตคราฟต์เบียร์เองได้ และทำออกมาได้รสชาติโดดเด่นแตกต่างจากแบรนด์ของต่างชาติ ที่สำคัญ ทุกคนต่างเอาใจช่วยให้คราฟต์เบียร์ไทย

จนมาถึงยุคปัจจุบันที่ทุกคนรับรู้ว่าประเทศไทยมีคราฟต์เบียร์ และทุกคนต่างเฝ้ารอให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย เพื่อให้สามารถผลิตได้ง่ายยิ่งขึ้น

“ในอนาคตผมมองว่า เราจะมีคราฟต์เบียร์ไทยรสชาติใหม่ๆ ผลิตออกมาเพิ่มขึ้น และมีพื้นที่ให้คนได้ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป รวมถึงสามารถผสมผสานเอกลักษณ์ความเป็นไทยเข้าไปในทุกกระบวนการผลิต จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า คราฟต์เบียร์ฝีมือคนไทย ได้อย่างภาคภูมิใจ” 

สำหรับผู้ที่ต้องการหาแรงบันดาลใจและอยากเรียนรู้ประสบการณ์จากผู้นำทางธุรกิจจากแบรนด์ชั้นนำ ต้องไม่พลาดงาน ‘SMEs Hero Fest’ มหกรรมครั้งยิ่งใหญ่ส่งท้ายปี ที่เชื้อเชิญผู้ประกอบการชื่อดังจากหลากหลายแบรนด์ พร้อมถ่ายทอดกลยุทธ์การปั้นแบรนด์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และเสริมทัพด้วยเวิร์กช็อปสร้างอาชีพทางเลือกให้คนยุคใหม่  

งานนี้สายกิน สายช้อป ต้องไม่พลาด เพราะ SMEs Hero Fest จัดเต็มเมนูเด็ด สารพัดสินค้าโดนใจ มัดรวมไว้ในงานนี้ที่เดียว ตั้งแต่วันที่ 10-12 ธันวาคม 2565 เวลา 10.00-20.00 น. ที่ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้า MRT ลงสถานีสามย่าน ใช้ทางออกที่ 2 งานนี้ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้างาน