รับจ้างพานักท่องเที่ยว ชม หินสามวาฬ ได้วันละสองเที่ยว มีเงินเหลือไว้ส่งงวดรถ

รับจ้างพานักท่องเที่ยว ชม หินสามวาฬ ได้วันละสองเที่ยว มีเงินเหลือไว้ส่งงวดรถ

ปัจจุบัน ถ้าใครไปเที่ยวที่จังหวัดบึงกาฬ ส่วนใหญ่จะถือโอกาสไปที่ หินสามวาฬ ซึ่งเป็นหินขนาดยักษ์อยู่บนภูเขา เนื่องจากหินที่ว่านี้มีรูปร่างเหมือนปลาวาฬ 3 ตัว กำลังว่ายน้ำอยู่กลางทะเลหมอก (ถ้ามีหมอก) จึงมีชื่อว่า หินสามวาฬ

ที่จริงหินสามวาฬ มีมานานแล้ว ตอนแรกก็ไม่มีใครสนใจอยากไปเห็น ที่สำคัญ ไม่รู้ด้วยว่า มีหินสามวาฬอยู่บนยอดเขา

ทว่า พอมีหนังโฆษณาของบริษัทเหล้ายี่ห้อหนึ่งผ่านจอทีวีเท่านั้น ทำให้หินสามวาฬ โด่งดังขึ้นมาทันที เพราะนอกจากหินมีขนาดมหึมาที่มีรูปร่างเหมือนปลาวาฬแล้ว บริเวณใกล้ๆ ยังมีจุดที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะจุดชมวิว

เมื่อเดือนที่แล้ว ผมไปเที่ยวที่บึงกาฬ ก็ได้ไปชมหินสามวาฬ กับเขาด้วยเช่นกัน

หินสามวาฬ อยู่ในการดูแลของกรมป่าไม้ เปิดให้ทุกคนเข้าชมฟรีตั้งแต่ตีห้า ถึงห้าโมงเย็น ที่ต้องเปิดตั้งแต่เช้าตรู่ก็เพราะบางวันของบางเดือนจะมีทะเลหมอกให้คนได้มาชมทั้งหินสวยและหมอกงามบนภูเขาสูงกลางป่า

กรมป่าไม้ เป็นผู้ดูแล ห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวขับรถขึ้นไปชมหินสามวาฬเอง ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัย มากกว่าเหตุผลอื่นๆ ถ้าจะขึ้นไปชมต้องใช้รถกระบะรับจ้างที่จอดรออยู่บริเวณทางเข้า โดยต้องจ่ายค่าเช่ารถรวมทั้งค่านำเที่ยว คันละ 500 บาท ใช้เวลาเดินทางทั้งไปและกลับประมาณ 2 ชั่วโมง

เราโชคดีที่ได้คนขับดี เพราะนอกจาก เขาขับรถดีแล้ว ยังสามารถเล่าประวัติความเป็นมาของสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้ให้เราได้รู้อย่างสนุกและเพลิดเพลินด้วย

ขณะขับรถบุกป่า คนขับแนะนำตัวเองว่าชื่อ วรัญญู บัวแก้ว พร้อมกับเล่าประวัติความเป็นมาของหินสามวาฬอย่างยืดยาว พอสรุปได้ว่า

รถพาขึ้นชม หินสามวาฬ

“ถ้าทุกคนได้ไปเห็นของจริงแล้วจะตื่นเต้น เพราะเป็นหินขนาดมหึมาจำนวนสามก้อน เรียกว่าก้อนก็ไม่น่าจะถูกนัก เพราะมีขนาดใหญ่มากพาดอยู่บนยอดเขาสูง ถ้ามีคนบุกป่าเข้ามาอย่างธรรมดาจะมองไม่เห็น ถ้าจะเห็นหินสามก้อนนี้ต้องนั่งเครื่องบิน”

อีกท่อนหนึ่ง นายวรัญญู เล่าว่า “หินก้อนมหึมาทั้งสามก้อนนี้ เกิดจาการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก หลังจากนั้นก็ถูกกัดกร่อนจากธรรมชาติ ทั้งฝน ทั้งลม โดยใช้เวลาถึง 75 ล้านปี จนทำให้หินเป็นแผ่นนูนและเรียบแปลกตาเหมือนปลาวาฬกำลังเล่นน้ำ”

ผมได้ยินเขาเล่าชัดเจน เพราะผมได้ที่นั่งด้านหน้าคู่กับเขาซึ่งเป็นคนขับนั่นเอง เขาขับรถพาพวกเราบุกเข้าป่าค่อนข้างทึบ โดยมีทางรถเป็นดินลูกรัง

ตอนแรกผมนึกว่า จะได้นั่งรถไปถึงหินสามวาฬเลยทีเดียว แต่พอเอาเข้าจริง ได้แวะชมสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ตามทางที่ผ่านไปด้วย

จุดแรกที่คนขับพาเราไปแวะชมคือ ลานธรรม ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระสิงห์

หลังจากเราลงไปถ่ายรูปและนมัสการหลวงพ่อพระสิงห์กันเป็นที่พอใจแล้ว คนขับได้พาเราต่อไปชมหินช้าง

หินช้าง เป็นหินก้อนมหึมาที่มีรูปร่างเหมือนช้าง ยืนอยู่หน้าผาสูง จุดที่เราได้แวะอีกแห่งคือ ประตูสวรรค์ ตั้งชื่อเสียไพเราะ ที่แท้เป็นเพียงช่องว่างระหว่างภูเขาสองลูก

ถัดไปเป็นจุดชมวิวว่า สร้างร้อยบ่อ ที่มีชื่อแบบนี้ก็เพราะพื้นหินเป็นหลุมๆ เหมือนรางขนมครก ตรงนี้มีจุดให้ชมวิวมองไปได้ไกลด้วย

อีกจุดหนึ่งที่เราได้แวะก็คือ จุดชมวิว ถ้ำฤษี

แล้วก็ถึงจุดสุดท้ายซึ่งเป็นเป้าหมายของพวกเราคือ หินสามวาฬ

คนขับรถซึ่งทำหน้าที่เป็นไกด์มาตั้งแต่เริ่มต้น อธิบายว่า

หินสามวาฬซึ่งมีอยู่สามตัวนั้นมีชื่อสั้นๆ ว่า วาฬพ่อ วาฬแม่ และวาฬลูก วาฬพ่อกับวาฬแม่ เนื้อที่ด้านบนให้ขึ้นไปเดิน ไปชมวิว ไปถ่ายรูปได้ เพราะมีเนื้อที่เพียงพอ แต่อนุญาตให้ขึ้นไปได้เพียงครั้งละไม่เกินห้าสิบคนต่อวาฬหนึ่งตัว

ที่ห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปมากกว่านี้ก็เพราะเกรงอันตรายตกเหวได้ ส่วนวาฬลูกนั้น มีเนื้อที่ให้ขึ้นไปเดินได้น้อย จึงห้ามขึ้นเด็ดขาด

อัศจรรย์ธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม นายวรัญญู บอกว่า ไม่ต้องห่วงว่าจะลื่น เพราะเป็นภูเขาหินทราย ไม่ลื่นตกเหวแน่ เพียงแต่อย่าประมาทเท่านั้น

นายวรัญญู ได้ให้พวกเราขึ้นไปบนหลังของวาฬแม่ก่อน แล้วไปยังหินวาฬพ่อภายหลัง โดยตัวเขาเอง ช่วยถ่ายรูปให้

มาเที่ยวที่นี่ทำให้รู้ได้เลยว่า ถ้ามองจากรูปถ่ายจะน่ากลัวว่าจะตกเหว แต่พอได้ขึ้นไปอยู่บนหลังหินวาฬไม่น่ากลัวอะไรเลย เพราะนอกจากเป็นหินที่มีผิวหยาบไม่ทำให้ลื่นแล้ว ยังมีเส้นประสีเหลืองไว้โดยรอบ เพื่อให้เราได้สังเกตด้วย

นายวรัญญู แนะนำว่า ถ้าต้องการถ่ายรูปให้ดูสวยและเสียว ให้คนที่ทำหน้าที่ถ่ายรูปไปยืนถ่ายอีกวาฬ หมายถึงคนถ่ายรูปและคนถูกถ่ายจะต้องอยู่บนหินวาฬคนละตัว

ยืนอยู่บนหลังหินวาฬสามารถมองเห็นทิวทัศน์ไปไกลมาก เพียงแต่อย่ามองเพลินจนลืมระวังตัวเป็นใช้ได้ ไม่ควรเอาชีวิตมาทิ้งไว้ที่นี่

เราใช้เวลาอยู่บนหลังหินวาฬนานพอสมควร พบว่ามีนักท่องเที่ยวได้ทยอยมากันมากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะนั่งรถกลับ ผมได้พูดคุยกับนายวรัญญูถึงอาชีพที่เขากำลังทำ เขาเล่าว่า เขาเป็นคนนครนายก แต่ภรรยาเป็นคนบึงกาฬ

ทิวทัศน์

เขาโชคดีที่ภรรยามีที่ดินอยู่สิบกว่าไร่ จึงได้ปลูกยางพารา ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมปลูกของคนบึงกาฬ

ตอนยางพาราราคาแพงก็ดีหน่อย แต่ตอนนี้ราคาตกก็พออยู่ได้ เพราะอาชีพชาวสวนก็เป็นอย่างนี้แหละ

ต่อมามีเพื่อนชวนให้ซื้อรถกระบะมารับจ้างพาคนเที่ยวที่นี่ เขาจึงตัดสินใจซื้อรถโดยนำเงินจากการขายยางพาราที่สะสมไว้มาดาวน์รถ ก็ทำให้มีรายได้อีกทางหนึ่ง

ถ้าวันธรรมดาจะมีรถรับจ้างประมาณ 30 คัน แต่ถ้าเป็นวันหยุดจะมีถึง 50 คัน

ค่ารถคันละ 500 บาทนั้น เจ้าหน้าที่จะหักไว้ 100 บาทต่อคัน เพื่อนำเงินที่ได้ไปแบ่งให้รถคันที่มารอบริการแต่ไม่ได้งาน

เป้าหมายของรถแต่ละคัน ขอให้ได้นักท่องเที่ยววันละสองเที่ยวก็พอ มีเงินเหลือไว้ส่งงวดรถได้สบาย หรือวันไหนไม่ได้สักเที่ยวก็ไม่เป็นไร เพราะจะได้ส่วนแบ่งจากคันที่ได้งาน

นับเป็นอาชีพที่ได้รับความยุติธรรมดี ที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้กำหนดกติกาขึ้น จึงทำให้เป็นอาชีพที่เจ้าของรถทุกคันพอใจ