พ่อไก่อารมณ์ดี ผลิตไข่อินทรีย์ ปีละกว่า 200,000 ฟอง แต่ยังแทบไม่พอขาย

พ่อไก่อารมณ์ดี ผลิตไข่อินทรีย์ ปีละกว่า 200,000 ฟอง แต่ยังแทบไม่พอขาย

จบจากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนเข้าทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชนต่างประเทศสายฟาร์ม ซึ่งมีการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง และฮอร์โมนสารพัด เมื่อต้องสัมผัสมากและนานเกินไป ทำให้เกิดปัญหาเรื่องสุขภาพ กลายเป็นโรคภูมิแพ้ เลยอยากปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ปลอดจากสารพิษ มีความปลอดภัย ทั้งตัวผู้ผลิตและผู้บริโภค

คุณจี๊ป-ศุภกร ชินบุตร

นั่นคือต้นเรื่องของ คุณจี๊ป-ศุภกร ชินบุตร เกษตรกรอินทรีย์รุ่นใหม่ เจ้าของ บ้านสวนสุข ฟาร์มไก่ไข่อินทรีย์ ตั้งอยู่ที่ ต.อ่างหิน อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี

“เริ่มเลี้ยงไก่ไข่เมื่อปี 2558 จากเลี้ยงไว้เก็บไข่กินเองเพียงไม่กี่ตัว ต่อมาขยายมาเป็นฟาร์มใหญ่ ทุกวันนี้มี 3 เล้า สูงสุดเลี้ยงได้ 1,200 ตัว ให้ไข่เฉลี่ยปีละ 220,000 ฟอง ราคาขายเฉลี่ยฟองละ 6 บาท ส่งขายให้กับ โรงเรียนทางเลือก โรงงานแปรรูปส่งออก ร้านผักปลอดสารป้าลำพึง มหิดลศาลายา แปรรูปเป็นเส้นบะหมี่ไข่-เต้าหู้ไข่ และขายตรงให้กับผู้บริโภค ที่ตลาดวิถีธรรมชาติ ราชบุรี และ ตลาดสุขใจ นครปฐม” คุณจี๊ป เล่าก่อนยิ้มกว้าง

และว่า ปัจจุบันเขาสามารถนำความรู้และประสบการณ์จากสายงานประมง มาปรับประยุกต์กับศาสตร์การเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ พัฒนาจนได้รับมาตรฐาน USDA และ EU เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค จนผลิตแทบไม่ทันตามความต้องการของตลาด

อาหารอินทรีย์

“การเลี้ยงไก่ไข่ในระบบอินทรีย์ ต้องดูแลเอาใจใส่ โดยเฉพาะเรื่องอาหารไก่ วัตถุดิบที่นำมาผสมอาหาร ต้องผ่านการผลิตในระบบอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน เช่น รำ ปลายข้าว ถือเป็นอาหารหลัก ส่วนผัก ผลไม้สุก เป็นอาหารเสริม และเพื่อลดต้นทุนในส่วนนี้ จึงเลือกทำเกษตรผสมผสานระบบอินทรีย์ ผลิตอาหารสัตว์ควบคู่ไปด้วย เพื่อลดต้นทุน เช่น ทำนา ปลูกข้าว ปลูกพืชผักต่างๆ โดยมีการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน มาใช้ในฟาร์ม ต้องการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และเกิดประโยชน์มากที่สุด” คุณจี๊ป อธิบาย

ก่อนบอกต่อ แต่ละปีมีมูลไก่ซึ่งเป็นของเสียที่เกิดจากระบบการผลิต ประมาณ 48 ตัน เขาจึงนำมาใช้ประโยชน์ โดยมาทำปุ๋ยหมักใช้ในฟาร์ม ใส่นาข้าว ใส่พืชผัก ที่เหลือขายและแลกเปลี่ยนกับสมาชิกในกลุ่ม  ส่วนข้าวที่ผลิตได้เก็บไว้กิน ที่เหลือแบ่งขาย ปลายข้าวและรำ นำมาผสมเป็นอาหารไก่ ส่วนแกลบนำไปรองพื้นในเล้าไก่ ฟางข้าวนำไปรองรัง และคลุมแปลงปลูกผัก ส่วนผักที่ผลิตได้ เกรดดีเก็บไว้กิน ตกเกรดให้เป็นอาหารไก่ เห็นได้ว่าทุกส่วนภายในฟาร์มเชื่อมโยงกันเป็นวงจร ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยลดต้นทุนการผลิต สู่การพึ่งพาตนเอง

ต้อนรับคณะศึกษาดูงาน ที่บ้านสวนสุข ฟาร์มไก่ไข่อินทรีย์ ต.อ่างหิน อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี

“เมื่อกลับมาทำเกษตรอินทรีย์ ทำให้ใจเย็นลง มองทุกอย่างรอบตัวให้เป็นธรรมชาติ ที่ทั้งบวก-ลบ-มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเป็นเกษตรกรคนหนึ่ง ก็ถือเป็นผู้บริโภคคนหนึ่ง สมมติทำไก่ไข่ ก็สามารถบริโภคพืชผักจากเพื่อนเกษตรกรร่วมด้วยได้ พวกเราเป็นเกษตรอินทรีย์ ที่ต้องใช้ความตั้งใจ และอดทนสูงมาก จึงอยากให้ความตั้งใจนี้ส่งต่อไปให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัย กินผลผลิตต่างๆ ได้อย่างสบายใจ” คุณจี๊ป บอกอย่างนั้น