ควาย ขายง่ายกว่าที่ดิน เพราะคนซื้อไปเลี้ยงกันมากขึ้น ตัวเป็นล้านก็มี

ควาย ขายง่ายกว่าที่ดิน เพราะคนซื้อไปเลี้ยงกันมากขึ้น ตัวเป็นล้านก็มี 

วันที่ผมไปที่ ตลาดนัดโคกระบือ ที่อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี นั้น ตรงกับวันพุธซึ่งมีแต่กระบือ หรืออีกชื่อก็คือ ควาย วัวไม่มี

ผมจึงได้เห็นควาย รวมแล้วน่าจะกว่าร้อยตัว แต่จะเป็นจำนวนจริงเท่าไรผมไม่รู้ เพราะไม่ได้เดินนับควาย

ควายทุกตัวเดินทางมาที่ตลาดแห่งนี้ด้วยการยืนมาบนรถบรรทุกสี่ล้อก็มี หกล้อก็มี

เท่าที่ผมสังเกต ควายแต่ละตัวเนื้อตัวสะอาด สุขภาพดี รูปร่างงดงามกันทุกตัว ผมมารู้ตอนหลังจากนางประจำ ต้นทุน ซึ่งเป็นคนที่มีอาชีพซื้อขายควายว่า ที่ควายทุกตัวมีหน้าตาหล่อและสวยก็เพราะผู้นำควายมาขายจะต้องเลือกควายตัวที่แข็งแรง สมบูรณ์ที่สุดมาขาย

ถูกแล้ว ถ้าเอาควายผอมโซมาขายคงไม่มีใครซื้อ

นางประจำ ซึ่งมีอาชีพซื้อขายควาย ให้ความรู้แก่ผมอีกว่า ตลาดนัดโคกระบือแห่งนี้ มีการซื้อขายควายกันทุกวันพุธ มีเงินหมุนเวียนเป็นล้านๆ บาท คนที่นำควายมาขาย มาจากแทบทุกจังหวัดทั้งที่อยู่ใกล้เคียงและจังหวัดไกลๆ แต่ที่มีควายมากที่สุดก็ที่จังหวัดอุทัยธานีนี้แหละ

สำหรับการซื้อขายควายสมัยนี้ ให้ควายขึ้นรถไม่ต้องจูงควายไปขายเหมือนอดีต นางประจำเอง นอกจากไปซื้อควายจากชาวนาโดยตรงแล้ว ยังได้ไปซื้อถึงโคราช (นครราชสีมา) และอีกหลายจังหวัดที่มีตลาดนัดโคกระบือ

ซื้อมาแล้ว ถ้าได้ควายที่อ้วนท้วนแข็งแรง สุขภาพดีก็จะนำมาขายต่อที่ตลาดโคกระบือแห่งนี้

ควายตัวหนึ่งราคาสูงสุดเป็นหลักแสน เป็นล้านก็มี แต่ต้องเป็นควายตัวใหญ่และมีลักษณะดีพิเศษ ไม่เป็นโรค

ควายตัวใหญ่มีน้ำหนักตัวละประมาณ 1,200 กิโลกรัมทีเดียว

ลูกค้าที่มาซื้อควายที่ตลาดนัด ส่วนใหญ่จะซื้อไปเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์ตั้งเป็นฟาร์มควายอย่างเป็นล่ำเป็นสัน คนขายควาย ถ้าควายมีลูกติดก็จะนำลูกมาขายด้วย ถือเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง เพื่อไม่ให้แม่กับลูกแยกจากกัน

สมัยก่อนๆ คนเลี้ยงควายจะมีฐานะยากจน ทว่าสมัยนี้ เลี้ยงควายรวยได้ เพราะควายมีการออกลูกออกหลาน

ถึงแม้ควายตัวเมียสามารถออกลูกได้ปีละตัวก็จริง แต่ยิ่งเลี้ยงก็ยิ่งมีลูกหลานควายมากขึ้นเรื่อยๆ เพิ่มรายได้ให้ทุกปี

สมัยก่อน ชาวนาทำนาไม่สามารถซื้อควายมาเป็นเจ้าของได้ ทว่าในระยะหลังๆ มานี้ คนเลี้ยงควายสามารถมีเงินซื้อที่นาได้

นางบอกว่า ควายขายง่ายกว่าขายที่ดิน โดยเฉพาะมาขายที่ตลาดนัด เพราะจะมีคนมาซื้อไปเลี้ยงกันมากขึ้น

นางประจำยังบอกต่ออีกว่า นางเองไม่ได้เพียงรับซื้อขายควายเท่านั้น ยังเลี้ยงควายด้วย นางสามารถเลี้ยงควายได้เป็นร้อยๆ ตัวโดยไม่ต้องเลี้ยงเองทั้งหมด นางเลี้ยงควายไว้เองเพียงไม่กี่ตัว นอกนั้นใช้วิธีซื้อควายไปให้ชาวนาเลี้ยง พอเลี้ยงจนนำมาขายได้ก็แบ่งรายได้ให้กันตามสัดส่วนที่ตกลงไว้

ชาวนาบางคนรับเลี้ยงควายให้เธออย่างเดียว มีรายได้เป็นหลักหมื่นต่อเดือนเลยทีเดียว

เมื่อคิดถึงรายได้แล้ว ปัจจุบันมีรายได้จากการเลี้ยงควายมากกว่าปลูกข้าว ชาวนาบางคนจึงใช้เนื้อที่นามาเลี้ยงควายแทน

นางประจำเผยชีวิตส่วนตัวให้ผมทราบว่า

เดิมที นางเป็นลูกชาวนาที่ยากจนคนหนึ่ง ก่อนมามีอาชีพซื้อขายควาย นางเก็บผักบุ้งขาย ทำให้มีรายได้น้อยมาก นางเริ่มเข้ามามีอาชีพซื้อขายควายเมื่ออายุสิบสี่ปี ตอนนี้อายุห้าสิบแปดปี มีอาชีพนี้มากว่าสี่สิบปีเข้าไปแล้ว และคงทำต่อไปจนตาย

ก็เพราะเลี้ยงควายและซื้อขายควายมีรายได้ดี นางจึงพาญาติพี่น้องมาช่วยกันทำ

พอเขียนถึงตรงนี้ ผมก็อดคิดถึงขี้ควายไม่ได้ เพราะกำลังเป็นที่นิยมของคนปลูกต้นไม้นำขี้ควายไปเป็นปุ๋ย

นางบอกว่า ถึงแม้นางมีควายอยู่ที่บ้านกว่าสิบตัว แต่ไม่เคยมีรายได้จากการขายขี้ควาย แม้จะมีคนมาขอซื้อขี้ควายถึงบ้าน นางเห็นว่ามีรายได้ในการซื้อขายควายก็พอเพียงแล้ว นางจึงให้ขี้ควายฟรีๆ กับทุกคนที่มาขอ

“ดีเหมือนกัน ที่ทำให้คอกสะอาด เพราะคนที่มาเอาขี้ควายก็จะเอาจอบมาโกยเอง” นางว่า

ทุกวันพุธ นางจะอยู่ที่ตลาดนัดโคกระบือทัพทัน แต่ถ้าเป็นวันธรรมดานางจะนั่งขายควายอยู่บ้าน

ฉะนั้น ผู้ใดอยากจะซื้อควายไปเลี้ยงถ้าไม่มาที่นี่ ก็ให้ไปซื้อได้ที่บ้านเลขที่ 22/1 หมู่ 3 ตำบลหนองสรวง อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี โทรศัพท์ 081-727-9726

 

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2563