เปิดเคล็ดลับความสำเร็จ แบล็คแคนยอน เจอสารพัดวิกฤต อะไรคือเทคนิคให้ผ่านมาได้ 

ภาพจาก เพจ Black Canyon
ภาพจาก เพจ Black Canyon

เปิดเคล็ดลับความสำเร็จ แบล็คแคนยอน เจอสารพัดวิกฤต อะไรคือเทคนิคให้ผ่านมาได้ 

หากเอ่ยถึงร้านอาหารและเครื่องดื่มชื่อดังของไทย คงไม่มีใครไม่รู้จัก แบล็คแคนยอน ที่โลดแล่นมาอย่างยาวนานกว่า 27 ปี ผ่านวิกฤตมาหลายครั้ง แต่ยังยืนหนึ่งในใจลูกค้ามาตลอด ปัจจุบันมีสาขาในไทยกว่า 300 สาขา และ 47 สาขาในอาเซียน

โดย คุณประวิทย์ จิตนราพงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด เผยในรายการ HOW TO THINK (ฮาวทูทิ้ง) (คลิก ชมรายการ) ว่า ย้อนไปเมื่อปี 2536 ตนยึดอาชีพด้านไอที เปิดบริษัทซอฟต์แวร์เฮ้าส์ และเป็นตัวแทนขายคอมพิวเตอร์ แต่ธุรกิจไอที มีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีค่อนข้างเร็ว จึงมองหาธุรกิจเสริมเล็กๆ ไม่คิดมาก่อนว่าจะต้องมีหลายสาขา

คุณประวิทย์ จิตนราพงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด
คุณประวิทย์ จิตนราพงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด

“เริ่มมองหาแฟรนไชส์ในต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่มีคนทำแล้ว เลยเปลี่ยนมามองธุรกิจร้านกาแฟในไทย จนเจอ แบล็คแคนยอน ตอนนั้นมีประมาณ 4-5 สาขา และธุรกิจไม่ค่อยดี แต่ชิมแล้วมีโอกาสนำมาทำเป็นธุรกิจได้ เลยเข้าไปติดต่อว่าอยากซื้อแฟรนไชส์ คุยไปคุยมา ทำให้รู้ถึงความไม่มีระบบ ความไม่มีมาตรฐาน ไม่มีการบริหารจัดการ ทำแบบลูกทุ่ง ตอนนั้นเงินเรามีไม่เยอะหรอก ใช้วิธีระดมทุน เอารถไปจำนำจำนอง ยืมเพื่อนฝูงจนได้มา”

ภาพจาก เพจ Black Canyon
ภาพจาก เพจ Black Canyon

จากที่คิดว่า ธุรกิจไอทีทำยาก มาทำธุรกิจอาหาร ขายกาแฟคงจะง่ายๆ ที่ไหนได้ ถึงกับปาดเหงื่อ 3 ปีแรก จึงเป็นปีแห่งการเรียนรู้

ข้อแรก ผมไม่มีความรู้เรื่องกาแฟ หรืออาหาร ต้องมาฝึก ส่งพนักงานไอทีที่ไม่มีความรู้เรื่องกาแฟ ไปเรียนบาริสต้า ไปเรียนทำอาหาร ไปดูงานต่างประเทศ สิ่งไหนที่ไม่รู้ก็เข้าไปคุยกับคนที่รู้ ข้อสอง สมัยก่อนทำซอฟต์แวร์ต้องไปคุยกับระดับ CEO แต่ลูกค้าร้านกาแฟ มีทุกระดับ ทั้งประชาชนคนเดินถนน หรือนักธุรกิจ เราต้องเปลี่ยนวิธีการคิด ข้อสาม เปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการบุคลากร คนทำไอทีมักมีความรู้ ได้รับการอบรมมา แต่บุคลากรที่จ้างมาทำร้านกาแฟ อาจจะจบ ม.ต้น หรือ อาชีวะ วิธีการคิดของเขาจะต่างกันไป เราจึงต้องพยายามหล่อหลอม และให้ความรู้พวกเขา” คุณประวิทย์ เล่า ถึงสิ่งที่เขาต้องเรียนรู้

รู้จักเลือกทำเล 

สำคัญสุด ต้องเลือกสถานที่ที่คนเดินผ่าน และมองเห็นง่าย “มองดูแล้ว อีกไม่นานคนจะเดินทางมากขึ้น ทำยังไงเราจะไปดักคนเหล่านี้ได้ หนีไม่พ้น คือ สถานีบริการน้ำมัน และคนที่เป็นผู้นำในตลาดนี้ คือ ปตท. ซึ่งมีแบรนด์กาแฟอยู่แล้ว งั้น แบล็คแคนยอน จะไม่เน้นกาแฟ แต่จะขายอาหารร่วมด้วย”

“อีกสถานที่ คือ โรงพยาบาล คนตรวจสุขภาพกันมากขึ้น เราเริ่มไปคุยกับโรงพยาบาล โดยยืนยันว่า อาหารปรุงสุกทุกจาน มีสุขอนามัยที่ดี ซึ่งผ่านการตรวจสอบเข้มงวดจากโรงพยาบาลทุกแห่ง ซึ่งเปิดแล้วมากกว่า 50 สาขา”

ภาพจาก เพจ Black Canyon
ภาพจาก เพจ Black Canyon

“ในเมื่อเราอยากเป็นบริษัทอินเตอร์ สิ่งสำคัญ คือ ทำอย่างไรให้แบรนด์มีพื้นที่ หรือสาขาอยู่ในทำเลที่คนเห็นได้ง่าย ไปคุยกับ ท่าอากาศยาน ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการแข่งขันการประมูล เราประมูลได้ที่สอง ที่หนึ่งคือแบรนด์อินเตอร์ เขาเสนอค่าเช่าเป็นสองเท่าที่เราเสนอ หมดหวังแล้วตอนนั้น ปรากฏว่าผู้บริหารเห็นตัวเลข เปิดไปความเสี่ยงสูง เลยตัดสินใจไม่เปิด ท่านผู้อำนวยการท่านหนึ่งในสมัยนั้น เลยโทรมาหาเรา แบล็คแคนยอน คุณเป็นแบรนด์อันดับสอง คุณเคยโทรมาหาผมแล้วบอกว่าอยากให้แบรนด์อยู่ในท่าอากาศยาน แต่คุณจะต้องจ่ายเท่าแบรนด์แรกที่เสนอมาสองเท่า คิดแล้วคิดอีกก็ปฏิเสธไป ผ่านไป 2 วัน เขาโทรมาใหม่ ไหนว่าอยากโกอินเตอร์ แต่ทำไมไม่กล้าลงทุน เราก็ยอมไปเปิด” คุณประวิทย์ กล่าว

ฝ่าวิกฤตนับครั้งไม่ถ้วน

วิกฤตแรก ต้มยำกุ้ง ปี 2540 คุณประวิทย์ บอกว่า หลายธุรกิจล้ม คนตกงานจำนวนมาก สิ่งที่ทำให้ผ่านพ้นมาได้ ถ้าทำธุรกิจแล้วต้องตั้งใจกับธุรกิจนั้น ไม่ได้เอาเงินไปทำธุรกิจอื่น

ครั้งต่อมา เจอวิกฤตน้ำท่วม ปี 2554 ใครจะคิดว่าปัจจัยภายนอกคือธรรมชาติ จะเข้ามาสู่กรุงเทพฯ อย่างร้ายแรงเป็นเดือน ตัดทุกช่องทางการสื่อสาร ลูกค้า พนักงานออกนอกบ้านไม่ได้ หลายๆ ร้านในปั๊มน้ำมัน น้ำท่วมถึงหน้าอก ข้าวของเสียหายหมด

ครั้งที่สาม ราวๆ ปี 2556-2557 เกิดกีฬาสี ช่วงนั้นธุรกิจที่เปิดในศูนย์การค้ากระทบหมด ร้านโดนเผาไปสองสาขา เคลมประกันไม่ได้ เจ็บตัวไป

ภาพจาก เพจ Black Canyon
ภาพจาก เพจ Black Canyon

“ปีล่าสุด 2563 เจอหนักสุด คือ โควิด-19 ช่วงแรกยังไม่ซีเรียส แต่หนักขึ้นทุกวัน โควิด-19 ร้ายแรงกว่าที่คิด ต่อมามีคำสั่งปิดศูนย์การค้า ห้ามนั่งในร้าน ให้ซื้อกลับบ้าน เจลล้างมือ หน้ากากหาซื้อไม่ได้ หลายบริษัท Work From Home ทุกคนเก็บตัว วัตถุดิบที่ซื้อเก็บไว้ บางตัวนำเข้าเราจะทำยังไง เงินสดถึงจะมีตุนไว้ แต่คงเลี้ยงไม่ได้ตลอด ตอนนั้นคิดว่าตายแน่ พยายามตั้งสติ คนทั้งโลกเจอไม่ใช่เราคนเดียว คงต้องเริ่มเอาโปรเจ็กต์ดีลิเวอรี่เข้ามา เตรียมระบบ 2-3 สัปดาห์ ยอดขายเริ่มกลับมา จากที่ขายได้เดือนละไม่กี่หมื่น เริ่มไต่ขึ้นมาวันละแสน สิ่งที่ตระหนักได้เลย คือ ไม่จำเป็นจะต้องมีพื้นที่ใหญ่ โควิดทำให้เราปรับตัว”

ภาพจาก เพจ Black Canyon
ภาพจาก เพจ Black Canyon

“ในส่วนของพนักงาน คุณประวิทย์บอกพนักงาน ใครยังไม่ได้พักร้อน ให้พัก ใครอยากเยี่ยมบ้าน ให้ไป หรือใครที่เงินเดือนเยอะ มาเปิดอกคุยกัน จ่ายไม่ไหว ขอลดชั่วคราว ซึ่งทีมงานทุกคนเข้าใจ ส่วนผู้บริหารก็ลดเงินเดือนเป็นตัวอย่าง ระดับสูงลดไป 40-50%”

ภาพจาก เพจ Black Canyon
ภาพจาก เพจ Black Canyon

“สิ่งสำคัญ คือ มีเงินสด เงินสดของเราเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาใช้ขยายสาขา เพราะไม่อยากก่อหนี้ วงเงิน เครดิต บางทีไม่ค่อยได้ใช้ในภาวะปกติ ต้องมาดูแล้วไปคุยกับแบงก์ ส่วนรัฐเองมีการช่วยเหลืออยู่แล้ว จ่าย 5,000 บาท 3 เดือน เราก็ช่วยพนักงานสมัครเพื่อรับสิทธิตรงนี้”

“หรืออย่างเจ้าหนี้รายใหญ่ ต้องไปคุยขอผ่อน ช่วยชะลอหรือยืดวงเงินออกไป รวมทั้งคุยกับเจ้าของพื้นที่ ให้ช่วยลดหย่อน ซึ่งส่วนใหญ่ให้ความช่วยเหลือ บางแห่งไม่ต้องจ่าย หรือบางแห่งลดให้ 50% ถือว่าเป็นมิตรภาพที่ดี ส่วนสาขาไหนวางแผนไว้ว่าจะปรับปรุง ก็หยุดไปก่อน สาขาไหนที่ยังพอขายได้ ลดเวลาทำการลงให้เหลือเวลาเท่าที่ลูกค้าจะมาซื้อ พวกค่าแรงต่างๆ วางแผนให้เหมาะสมที่สุด” คุณประวิทย์ เล่า

เผยแพร่ครั้งแรก วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ.2563