ผู้เขียน | ไมตรี ลิมปิชาติ |
---|---|
เผยแพร่ |
ไม่อยากให้ชาวสวนถูกเอาเปรียบ หนุ่มวิทย์-มหิดล คิดเทคนิคส่งออก ทุเรียนแกะเนื้อ
ผมไปติดต่อกับร้าน บอททอมส์ อัพ ซึ่งเป็นร้านกินดื่มชื่อดัง ที่ซอยทองหล่อ เพื่อนำงานศิลปะไปแสดง บังเอิญได้พบกับชายหนุ่มคนหนึ่งนำทุเรียนแกะเนื้อมาฝากขาย ผมทราบชื่อภายหลังว่า ชื่อ คเชนท์ ทาหุ่น
ทุเรียนแกะเนื้อ ที่นำมาส่งหรือจะเรียกว่าฝากขายก็ได้ เป็น ทุเรียน ที่บรรจุอยู่ในกล่องพลาสติกสีขาวใสสวย มองทะลุลงไปเห็นเนื้อทุเรียน น่ากินมาก
ผมจึงถือโอกาสอุดหนุน เพื่อนำมากินกับกาแฟร้อน เพราะเข้ากันดี
ผมเห็นว่าชายหนุ่มคนนี้ประกอบอาชีพที่น่าสนใจ เพราะปกติผมเคยเห็นแต่คนส่งทุเรียนขายเป็นลูกๆ
ผู้ขายส่งทุเรียนเป็นลูกๆ ถ้าไม่ส่งเองก็จะมีพ่อค้าคนไทยส่ง ต่อมามีพ่อค้าคนจีนมารับซื้อถึงสวน แล้วนำขึ้นรถส่งไปขายที่เมืองจีน หรือที่เรียกว่า ล้ง นั้นแหละ
จะส่งทุเรียนไปขายต่างชาติวิธีไหนก็ได้ประโยชน์กับเมืองไทยทั้งนั้น เท่าที่ผมได้สอบถามกูเกิ้ล จึงได้รู้ตัวเลขว่า ไทยส่งทุเรียนไปขายที่เมืองจีนได้มากที่สุด ถ้ารวมการส่งทุเรียนไปต่างประเทศทั่วโลกเมื่อปีที่แล้วทั้งปี ส่งขายได้เป็นเงินเกือบแสนล้านบาททีเดียว
ปีนี้ทั้งๆ ที่มีวิกฤตโควิด แต่ทุเรียนไทยก็ยังขายได้ดี ตอนแรก พอพูดถึงทุเรียน ผมเคยนึกภูมิใจว่า

ทุเรียนของไทยมีคุณภาพดีที่สุด แล้วยังมีผลผลิตมากที่สุดในโลกด้วย ทว่าเพิ่งรู้จากคเชนทราว่า ประเทศที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดในโลกคือ อินโดนีเซีย อีกทั้งอินโดนีเซียยังมีทุเรียนพันธุ์ใหม่ที่มีชื่อว่า มูซังคิง นั้นมีคุณภาพดีกว่าหมอนทองของไทย
ทุเรียนมูซังคิง รสใกล้เคียงเหมือนหมอนทอง แต่มีดีตรงที่ ตูดแตกเนื้อก็ยังไม่เละ จึงเหมาะสำหรับส่งต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ อินโดนีเซีย จึงส่งทุเรียนออกนอกได้ปีละมากกว่าไทย ก็ไม่เป็นไร เพราะยังไงๆ ไทยขายทุเรียนให้จีนชาติเดียวก็ส่งแทบไม่หวาดไม่ไหวอยู่แล้ว
ขอวกกลับมาพูดคุยถึง คเชนทรา ชายหนุ่มผู้กำลังทำอาชีพใหม่ ส่งทุเรียนแกะเนื้อส่งขายต่างประเทศ กันต่อดีกว่า
เดิมที คเชนทรา ทำงานอยู่บริษัทมาได้ 6 ปี ก็ตั้งแต่เรียนจบที่ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ เนื่องจากคเชนทรา เป็นคนจันทบุรี ได้คลุกคลีและรู้จักทุเรียนและชีวิตของชาวสวนทุเรียนมาตั้งแต่เด็ก
ทำให้คเชนทรา ได้รู้เรื่องทุเรียนเป็นอย่างดี เห็นทุเรียนเพียงภายนอก สามารถบอกได้ว่าเป็นพันธุ์อะไร อีกทั้งยังเลือกทุเรียนเป็นด้วย

ความที่คเชนทรา เป็นเด็กหนุ่มรุ่นใหม่ จึงมองเห็นว่า ทุเรียนเป็นผลไม้ชั้นเยี่ยม จนได้ชื่อว่าเป็นราชาผลไม้ของไทยก็จริง แต่ชาวสวนยังถูกเอาเปรียบ เอาเปรียบในแง่ที่ ชาวสวนควรจะได้เงินจากการขายทุเรียนมากกว่าที่เคยได้
คเชนทรา จึงหาวิธีที่จะช่วยชาวสวน วิธีหนึ่งที่เขาอยากจะทำก็คือ การส่งทุเรียนไปขายที่ประเทศอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่เฉพาะที่จีนแห่งเดียว
ทั้งนี้ก็เพราะมีคนจีนที่เป็นชาติที่ชอบกินทุเรียนไปตั้งรกรากอยู่ทั่วโลก ในสหรัฐอเมริกา ก็มีคนจีนอยู่มาก ในยุโรปนั้นมีคนจีนอาศัยอยู่ทุกประเทศ
ถ้าส่งทุเรียนไปขายยังประเทศต่างๆ เหล่านี้ ก็จะทำให้ได้ราคาดีอย่างแน่นอน เพราะค่าของเงินสูงกว่าเมืองไทยหลายเท่า แต่เนื่องจากทุเรียนแต่ละลูกมีน้ำหนักมาก หนักอยู่ที่เปลือก จึงทำให้ค่าขนส่งแพง
ฉะนั้น เมื่อคิดจะส่งทุเรียนขายต่างประเทศ คเชนทรา จึงใช้วิธีส่งไปแต่เนื้อทุเรียน โดยเอาเปลือกทิ้งไป หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ทุเรียนแกะเนื้อ นั่นแหละ
การปอกทุเรียนเอาแต่เนื้อใส่ในกล่องพลาสติก ต้องใช้เทคนิคการเก็บอาหารตามหลักวิทยาศาสตร์ ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อให้เนื้อทุเรียนมีคุณภาพเหมือนที่แกะออกจากลูกสดๆ
สำหรับเรื่องนี้ คเชนทรา ได้ตั้งสโลแกนว่า “คุณค่าจากสวน…ถึงมือคุณ”

คเชนทรา มีหลักในการทำธุรกิจของเขา โดยมุ่งเน้นที่คุณภาพของสินค้า วิถีชีวิตของชาวสวน จนถึงโรงงานบรรจุทุเรียนเพื่อส่งออก
คเชนทรา บอกให้ผมรู้ต่อว่า เขาใช้วัตถุดิบ คือ ทุเรียนจากจันทบุรีเป็นหลักในการเริ่มต้น แต่เพื่อให้ขายส่งได้ทั้งปี เขาจะนำทุเรียนจากจังหวัดอื่นๆ ทั้งทุเรียนภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาเป็นวัตถุดิบด้วย
พูดง่ายๆ ก็คือ ที่ไหนมีทุเรียน คเชนทรา ก็จะไปซื้อมาแกะเนื้อส่งต่างประเทศ เพียงแต่ต้องเป็นทุเรียนที่มีรสอร่อยได้มาตรฐานที่เขาตั้งไว้
ถึงแม้สินค้าทุเรียนของคเชนทรา เป็นแบรนด์ใหม่ แต่ก็ขายได้ดีพอสมควร โดยเฉพาะตลาดในสหรัฐอเมริกา
ถึงแม้สหรัฐอเมริกา ยังมีปัญหาเกี่ยวกับโรคโควิด แต่ก็ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการกินทุเรียน
นอกจากคเชนทรา ส่งทุเรียนแกะเนื้อขายเมืองนอกแล้ว ในประเทศไทยก็ส่งขายเช่นกัน ปกติ คนที่ชอบกินทุเรียนจะไปซื้อทุเรียนที่เป็นลูกๆ โดยให้ผู้ขายแกะเนื้อออกมาให้ ทว่า ทุเรียนของคเชนทรานั้นเพียงแกะกล่องก็กินได้เลย โดยไม่ต้องปอกเปลือก
เกือบลืมบอกไปว่าทุเรียนของคเชนทรามีชื่อว่า ทุเรียนนารี่ ผู้ใดสนใจอยากจะซื้อทุเรียนแกะเนื้อไปรับประทาน หรือไปจำหน่าย ติดต่อกับเขาได้ที่ โทร. (083) 035-1667
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2563