ธุรกิจหลัง “โควิด-19” ถึงกลับมาได้ใหม่ แต่ไม่มีทาง…เหมือนเดิม

ธุรกิจหลัง “โควิด-19” ถึงกลับมาได้ใหม่ แต่ไม่มีทาง...เหมือนเดิม
ธุรกิจหลัง “โควิด-19” ถึงกลับมาได้ใหม่ แต่ไม่มีทาง...เหมือนเดิม

ธุรกิจหลัง “โควิด-19” ถึงกลับมาได้ใหม่ แต่ไม่มีทาง…เหมือนเดิม

“โควิด-19” ได้สร้าง “ความปกติรูปแบบใหม่” (New Normal) ให้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ แม้หลายสิ่งจะกลับมาใหม่ แต่ก็จะไม่มีทางเหมือนเดิม

ร้านอาหารเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ต้องปรับตัวอย่างมากหลังยุคโควิด ลูกค้าจำนวนไม่น้อยยังอยากสังสรรค์ แต่ก็อยากเว้นระยะห่างไปอีกสักพัก จะทำอย่างไรเพื่อตอบโจทย์ความต้องการแบบคู่ขนานนี้

“มีเดียเมติก อีเทน” ร้านอาหารในกรุงอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ผุดไอเดีย “กินข้าวในห้องกระจก” เอาใจลูกค้าที่อยากสังสรรค์กลุ่มเล็กๆ และอยากมีพื้นที่ส่วนตัว ไม่ปะปนกับคนอื่นๆ

ห้องกระจกของทางร้านรองรับลูกค้าได้ 2-3 คน พร้อมเสิร์ฟเมนูมังสวิรัติ 4 คอร์ส ท่ามกลางวิวแม่น้ำ

พนักงานของร้านจะสวมถุงมือและเฟซชีลด์แบบใส และใช้ถาดที่มีด้ามยาวในการเสิร์ฟอาหาร จะได้เลี่ยงการสัมผัสกับลูกค้า

บริการห้องกระจกส่วนตัวนี้ยังอยู่ในขั้นทดลองกับครอบครัวและเพื่อนของพนักงาน แต่ก็มีลูกค้าจองคิวผ่านเว็บไซต์จนเต็มไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนแล้ว สะท้อนความสนใจของลูกค้าที่มีต่อโมเดลร้านอาหารแบบใหม่

ร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่น เป็นอีกธุรกิจที่เริ่มปรับตัวแล้ว โดย “เซเว่นอีเลฟเว่น” ในเมืองอิจูอิน จังหวัดคาโกชิมา เริ่มนำร่องติดตั้งแผ่นพลาสติกใสที่บริเวณแคชเชียร์ เพื่อป้องกันละอองฝอยที่อาจมีเชื้อโรคจากการไอหรือจาม

นอกจากนี้ พนักงานยังสวมหน้ากากตลอดเวลาที่ทำงาน และตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายเป็นระยะ หากใครอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ให้หยุดอยู่บ้าน

พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่ง “ริวอิชิ อิซากะ” ประธานบริษัทเซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิ้งส์ กล่าวกับเจแปน ไทม์ส ว่า การระบาดของไวรัสจะส่งผลต่อพฤติกรรมการช็อปปิ้งของผู้คนอย่างรุนแรงและถาวร

ทุกวันนี้ กล้วยและน้ำดื่มบรรจุขวดกลายเป็นสินค้าขายดี ขณะที่ข้าวปั้นและแซนด์วิชพร้อมรับประทานกลายเป็นสินค้าที่ผู้คนไม่ค่อยซื้อ ทั้งที่เคยขายดีก่อนหน้ายุคโควิดระบาด

ชุดอาหารพร้อมปรุง เป็นอีกสินค้าที่ได้รับความนิยม เพราะผู้คนหันมาทำอาหารกินเองที่บ้านมากขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่า เทรนด์นี้น่าจะยังคงอยู่ต่อไปหลังพ้นการระบาดของไวรัส

เช่นเดียวกับเทรนด์ช็อปปิ้งออนไลน์ และทำงานจากบ้าน ที่จะยังคงอยู่หลังจากนี้ ก็เป็นโอกาสสำหรับตลาดออนไลน์และดีลิเวอรี่

เมื่อเดือนมีนาคม เซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิ้งส์ ติดตั้งล็อกเกอร์ที่มีเครื่องทำความเย็นไว้ที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น 2 สาขาในกรุงโตเกียว เพื่อให้ลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าจากร้านออนไลน์สามารถไปรับของได้จากตู้ล็อกเกอร์ดังกล่าว แทนที่จะต้องรอดีลิเวอรี่ไปที่บ้าน

ส่วน “ลอว์สัน” ที่ให้บริการร้านสะดวกซื้อ 14,425 สาขาในญี่ปุ่น ก็มีแผนจะจับมือกับ “อูเบอร์ อีตส์” ขยายบริการดีลิเวอรี่อาหารจาก 18 เป็น 500 สาขา ในภูมิภาคคันโตและคันไซ ภายในเดือนพฤษภาคม

โดยเฉพาะเครื่องดื่ม เช่น น้ำ ชา ซอฟต์ดริ๊งก์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีสัดส่วน 8 ใน 10 ของสินค้าขายดี

ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างที่สะท้อนการปรับเปลี่ยน เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดหลังยุคโควิด

…………….

ที่มาภาพ

เครดิตภาพจาก Mediamatic

เครดิตภาพจาก https://www.timeout.com/tokyo/news/japanese-convenience-stores-are-using-plastic-sheets-to-protect-staff-and-customers-from-coronavirus-041520

เครดิตภาพจาก https://ipc.digital/lawson-e-uber-eats-anunciam-parceria-e-realizarao-experimento-com-entrega-de-produtos-em-domicilio/