ยะลา รับไม้ต่อ พช. เดินหน้าแผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวสู้วิกฤตอย่างยั่งยืน

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงหลายเดือนมานี้ ทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบครั้งใหญ่ในเรื่องอาหารและการใช้ชีวิต กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) จึงได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางสร้างพื้นฐานความพอมี พอกิน พอใช้ ให้กับประชาชน จัดทำ “แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว” ขึ้น เมื่อต้นเดือนเมษายน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้คนไทยได้มีอาหารปลอดภัยไว้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และเตรียมความพร้อมให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองในสภาวะวิกฤตได้ ซึ่งปัจจุบันดำเนินการมาถึงครึ่งทางแล้ว โดยได้ส่งมอบเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัวไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศตามกำหนดการที่วางไว้ ไม่เว้นแม้แต่จังหวัดห่างไกลอย่าง “ยะลา” 

จะพัฒนาใครเขา ต้องเริ่มจากเราก่อน 

นายกิติพล เวชกุล พัฒนาการจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า จังหวัดยะลาเริ่มใช้แผนปฏิบัติการ 90 วันฯ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. 2563 ตามแนวทางของ พช. คือ ‘จะพัฒนาใครเขา ต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน’ โดยเริ่มทำการปลูกพืชผักสวนครัวในบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัด บ้านพักข้าราชการ พช. ตลอดจนสถานที่ราชการนอกสังกัด พช. เป็นลำดับแรก อย่างเช่นที่บ้านพักของตนก็ได้ปลูกผักสวนครัวบริเวณรอบรั้วของบ้านด้วยเช่นกัน จนตอนนี้มีผักสวนครัวรวมแล้ว 23 ชนิด สามารถเก็บมากินได้บ้างแล้ว และบางส่วนได้นำไปแบ่งปันให้ผู้อื่น รวมถึงได้พัฒนาแปลงผักให้เป็นสถานที่เรียนรู้ขนาดย่อมแก่ผู้ที่สนใจด้วย เพื่อเป็นการทบทวนองค์ความรู้ของระดับผู้นำและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประชาชน ก่อนทยอยมอบเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ไปยังทุกพื้นที่ของจังหวัด ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี ประชาชนหลายคนหันมาปลูกผักสวนครัวกันมากขึ้น 

แผนปฏิบัติการ 90 วัน เป็นโอกาสอันดีที่ประชาชนจะเริ่มต้นเตรียมความพร้อมพึ่งพาตนเองในสภาวะวิกฤต เพราะนอกจากจะทำให้มีผักปลอดสารพิษกินแล้ว ยังช่วยคลายเครียด และพลิกความทุกข์ให้กลายเป็นความสุขได้ อีกทั้งยังช่วยสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้อื่นได้อีกด้วย เห็นได้จากการโพสต์รูปแปลงผักของแต่ละคนบนกลุ่มเฟซบุ๊กของ พช. อย่าง ปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกรัก กับพช. ที่มีประชาชนจำนวนมากผลัดเปลี่ยนเข้ามาแบ่งปันรูปภาพ และแบ่งปันประสบการณ์การปลูกผักกันทุกวัน จนกลายเป็นสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่

 ส่งเสริม ‘ปลูกผักสู้วิกฤต’ ทั่วถึงทุกพื้นที่

 เจ้าหน้าที่ พช.ยะลา จะติดตามผลอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ขั้นตอนการรับมอบเมล็ดพันธุ์ผัก ตลอดจนช่วงที่ลงแปลงไปแล้ว และช่วงที่ผลผลิตเริ่มเติบโต ด้วยการทำรายงานส่งให้ พช. ทุกสัปดาห์ รวมถึงจะเข้าไปสนับสนุน เยี่ยมชม และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการปลูกพืชกับประชาชนอยู่เสมอ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ สนับสนุนให้ประชาชนได้ลงมือทำจริง นอกจากนั้นยังได้มีการส่งเสริมการปลูกผักให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ด้วย ไม่เว้นแม้แต่สถานที่สำคัญทางศาสนา เพราะสถานการณ์ช่วงนี้ทำให้พระสงฆ์ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากประชาชนทั่วไป พช. จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเครื่องอุปโภคบริโภคไปถวายแด่วัด จำนวน 66 แห่งในจังหวัด และสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัวจำนวนหนึ่งให้วัดและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ได้ร่วมกันปลูกผักในแปลงผักของวัด โดยเร็วๆ นี้มีแผนจะขยายการสนับสนุนนี้ออกไปสู่มัสยิดและสุเหร่าในพื้นที่ด้วย

ขยายผลสู่ “ครอบครัวต้นแบบ”

 ขั้นตอนสุดท้ายของแผนปฏิบัติการ คือ ขยายผลสู่การคัดเลือกครอบครัวต้นแบบที่ร่วมปลูกผักสวนครัวกับโครงการ และสามารถแก้ไขภาวะวิกฤตของครอบครัวได้จริง เช่น ครอบครัวของนางสาปินะห์ สะตี ในพื้นที่ ต.หน้าถ้ำ จ.ยะลา ที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้ เพราะอยากประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เขาได้นำเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับจาก พช. ไปปลูกในแปลงผักหลังบ้านคละกันหลายชนิด เช่น ตะไคร้ กระเจี๊ยบ ขิง ข่า กวางตุ้ง เป็นต้น โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจาก พช. ในด้านการให้คำแนะนำเรื่องเพาะปลูกและการทำบัญชีครัวเรือน ปัจจุบันผลผลิตบางส่วนเก็บมากินได้แล้ว และบางส่วนที่ทานไม่หมดได้นำไปแจกจ่ายให้เพื่อนบ้าน รวมถึงนำไปจัดจำหน่ายในชุมชนด้วย 

จากผลลัพธ์อันเป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นกับชาวยะลาในครั้งนี้ กล่าวได้ว่า “แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว” ของ พช. เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหาร ที่สามารถทำได้จริงและมีความยั่งยืน เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับทุกสภาวะวิกฤต เพื่อพาประชาชนและประเทศชาติก้าวผ่านความยากลำบากไปได้ด้วยดี